Arincare (อรินแคร์) ร่วมกับ เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย สมาคมเภสัชกรรมการตลาด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดพื้นที่กิจกรรมเพื่อชาวร้านยา กับการประชุมวิชาการ “Thailand Pharmacy Summit 2019” ภายใต้หัวข้อ “Pharmacy in age of disruption” งานสัมมนาด้านเภสัชกรรมและอุตสาหกรรมยายุคใหม่ที่ทันสมัยที่สุดประจําปี 2562
ภายในงาน Arincare เปิดตัวระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Prescription เพื่อเชื่อมโยงแพทย์ คนไข้ และเภสัชกรชุมชนเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ร่วมผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ Digital Healthcare เต็มรูปแบบ มีเป้าหมายสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการบริการสาธารณสุขให้กับประชาชนคนไทยทุกคน
บริษัท อรินแคร์ จำกัด (ARINCARE) สตาร์ทอัพด้าน Healthcare สัญชาติไทยผู้ให้บริการแพล็ตฟอร์มบริหารจัดการเภสัชกรรมครบวงจร ช่วยเภสัชกรและผู้ประกอบการร้านขายยาในการบริหารคลังยา จ่ายยา เก็บประวัติคนไข้ รวมถึงเชื่อมต่อส่งตัวคนไข้ไปยังสถานพยาบาลเพื่อรักษาต่อ ภายใต้แนวคิด “Digital Pharmacy Solution” จับมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรม Healthcare เปิดตัวระบบใบสั่งยาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Prescription เพื่อยกระดับสาธารณสุขเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข แก้ปัญหาราคายาแพง ปัญหาการใช้ยาแบบผิดประเภท และการจำหน่ายยาแบบผิดกฏหมาย อันเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของคนไทยทุกคน
คุณธีระ กนกกาญจนรัตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อรินแคร์ จำกัด กล่าวถึงการเปิดตัวระบบ e-Prescription ว่า “ในขณะที่อุตสาหกรรมยาของประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท และมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง 7% ต่อปี เรากลับประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นในหลายด้าน”
“วันนี้เราได้เห็นปัญหาในหลายจุด ตั้งแต่สถานพยาบาลในหลายพื้นที่มีไม่เพียงพอในการรองรับจำนวนคนไข้ โดยเฉพาะปัญหาด้านการสต็อกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ตั้งแต่โรงพยาบาล สถานีอนามัย จนถึงคลินิกแพทย์ โรงพยาบาลหลายแห่งขาดทุนจากการเก็บสต็อกยาจำนวนหลายล้านบาทต่อปี คนไข้ที่ไปรับการรักษาก็ไม่พอใจเนื่องจากต้องรอรับยาเป็นเวลานาน บางคนไปเพื่อ refill รับยาเดิมเพิ่มแต่ต้องเสียเวลาทั้งวันในการรอรับยา สำหรับแพทย์ก็ประสบปัญหาการจ่ายยาโดยเฉพาะการดูแลคนไข้ในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ที่ขาดแคลนยาที่จำเป็น”
หลายคนอาจเลือกช่องทางที่สะดวกกว่าคือใช้บริการสถานพยาบาลเอกชน แต่ก็พบกับปัญหายาราคาแพงจนไม่อาจเข้าถึงได้ โดยล่าสุดเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมากรมการค้าภายในได้สำรวจพบว่าราคายาในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งสูงเกินค่าเฉลี่ย ตั้งแต่ 300 – 8,000% บางแห่งบวกเพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 16,000% โดยทางกรมการค้าภายในก็ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานพาณิชย์ในการควบคุมราคายารักษาโรคเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภค
“หนึ่งในวิธีแก้ปัญหานี้ที่ถูกต้องและใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกคือการที่แพทย์ออกใบสั่งยา (prescription) เพื่อให้คนไข้สามารถนำใบสั่งยานี้ไปรับยาจากร้านขายยาและเภสัชกรใกล้บ้าน ซึ่งช่วยลดปัญหาการสต็อกยาของโรงพยาบาล อำนวยความสะดวกคนไข้ไม่ต้องรอรับยาเป็นเวลานาน พบแพทย์แล้วก็กลับได้เลย อีกทั้งยังช่วยให้มีระบบตรวจสอบ check & balance ระหว่างแพทย์ผู้สั่งยาและเภสัชกรผู้มีความเชี่ยวชาญในการจ่ายยา เพื่อให้มั่นใจว่าคนไข้ได้รับยาที่ถูกต้องเหมาะสม
แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาระบบใบสั่งยานี้ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นใบสั่งยาในประเทศไทยเป็นแบบเขียนมือบนกระดาษ ทำให้มีความยากต่อการตรวจสอบ ทำให้เกิดปัญหาการปลอมใบสั่งยา การแอบนำไปใช้ซ้ำ อีกทั้งยังไม่มีระบบการเก็บบันทึกที่ดี โดยเฉพาะเมื่อเป็นการสั่งยาควบคุม ยาอันตราย หรือยาที่สามารถนำไปสกัดทำสารเสพย์ติดได้ ทำให้เกิดการรั่วไหลของยาอันตรายจากการใช้ใบสั่งยาผิดวิธีจนกลายเป็นปัญหาสังคมในที่สุด”
“หลายหน่วยงานได้มีความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นเช่น การส่งยาทางไปรษณีย์ถึงบ้านผู้ป่วย ผู้ประกอบการบางรายได้เปิดบริการรับสั่งยาออนไลน์และส่งพัสดุ แต่ก็เปิดช่องว่างที่ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การเปิดช่องให้สั่งยาแบบผิดกฏหมาย ยาชำรุดเสียหายจากการส่ง รวมถึงคำถามที่ว่าผู้ที่รับยาทางพัสดุนั้นเป็นคนป่วยจริงๆ หรือเปล่า? ซึ่งในความเป็นจริงแล้วระบบที่แก้ปัญหาจุดนี้ได้ดีที่สุดคือการใช้ใบสั่งยาแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Prescription ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศที่มีระบบสาธารณสุขมาตรฐานตั้งแต่ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และยุโรป”
“ทีมงาน ARINCARE ของเรามีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขให้กับคนไทยทุกคน เราได้มองเห็นว่าสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้แบบยั่งยืนคือการนำระบบ e-Prescription เข้ามาใช้ ซึ่งในวันนี้ ARINCARE มีผู้ใช้ระบบมากที่สุดมากกว่า 2,700 ราย กระจายอยู่มากกว่า 1,200 แห่งทั่วทุกพื้นที่ เป็นเครือข่ายร้านขายยาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่พร้อมรองรับและให้บริการประชาชน”
“สำหรับแพทย์ ระบบ e-prescription ช่วยให้การดูแลคนไข้ในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงยาและจ่ายยาได้สะดวกขึ้น ลดปัญหาการบริหารสต็อกยาในสถานพยาบาล ลดปัญหาการใช้ใบสั่งยาที่ผิด ใบสั่งยาปลอม การแอบนำไปใช้ซ้ำ รวมถึงสามารถติดตามตรวจสอบผลการดูแลรักษาคนไข้ ดูประวัติใบสั่งยาที่จ่าย ข้อมูลยาที่คนไข้ได้รับ ใช้งานง่าย และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับแพทย์”
“สำหรับคนไข้ ระบบ e-prescription ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากลำบากในการเข้าถึงยารักษาโรคสำหรับคนไทยทุกคน ลดค่าใช้จ่ายเรื่องยา ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงยารักษาโรคที่จำเป็นได้ในราคาที่ถูกลง ได้รับยาที่ถูกต้อง ปลอดภัย มีคุณภาพ แนะนำและจ่ายโดยเภสัชกรผู้มีความรู้เรื่องยา”
“และสำหรับเภสัชกรและร้านขายยา นอกจาก ARINCARE จะช่วยบริหารสต็อกยาและการขายหน้าร้านแล้ว ระบบ e-prescription ช่วยลดปัญหาการลักลอบสั่งยาออนไลน์ที่ผิดกฏหมาย ลดปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็น มีระบบตรวจสอบ check & balance แบบที่ควรจะเป็น เภสัชกรชุมชนได้เป็นที่พึ่งของคนในชุมชน ให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับร้านขายยาและ SME ท้องถิ่นอีกด้วย”
“ARINCARE ต้้งเป้าหมายว่าจะขยายระบบและช่วยเตรียมความพร้อมให้ร้านขายยาชุมชนเพื่อเป็นจุดรับใบสั่งยามากกว่า 8,000 รายในทุกตำบลในประเทศไทยภายในสิ้นปี 2562 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงยาที่จำเป็นและให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเปิดให้บริการให้ประชาชนคนไทยทั่วประเทศต้นปี 2563″ นายธีระกล่าวเสริม
แพทย์ เภสัชกร ร้านขายยา และประชาชนผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมโครงการ ได้ทาง website: www.arincare.com โทร: 064-226-6888 LINE ID: @arincare Facebook: www.facebook.com/arincarecom