กสศ.เตรียมอนุมัติทุน 130 ทุนพัฒนาทักษะอาชีพและนวัตกรรม เน้นเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง สร้างงานสร้างอาชีพ สู่การผลิตจนถึงการขาย หวังก้าวพ้นปัญหาความเหลื่อมล้ำ มีกลุ่มเป้าหมายได้ประโยชน์กว่า 8,652 คน อาทิแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน คนพิการ ครอบคลุม 52 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค และเล็งถอดบทเรียนเสนอรัฐบาล เดินหน้าพัฒนาประเทศไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขณะที่ ผู้รับทุนเหนือจรดใต้ เปิดใจเล็งใช้สร้างงาน สร้างอาชีพ เน้นภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อการปรับปรุงข้อเสนอโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ และที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาต้องผ่านหลายกระบวนการ ดังนั้นเม็ดเงินที่จะลงไปช่วยเหลือชาวบ้าน จะต้องตกถึงมือชาวบ้านจริงๆ และถึงมือกลุ่มเป้าหมาย อาทิ คนตกงาน คนหรือกลุ่มคนที่เหลื่อมล้ำชัดเจน ไม่กระจุกตัวอยู่ที่คนเฉพาะกลุ่ม
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ปีที่ 1 โดยใช้ชุมชนเป็นฐานยังมีไม่มาก และยังไม่กระจายในวงกว้าง แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ยิ่งมีสถานการณ์โควิด -19 ทำให้คนตกงานและกลับสู่ชุมชนมากขึ้น เกิดการรวมกลุ่มกันของคน 3 รุ่น คือคนตกงาน ชุมชน โรงเรียน เพื่อจัดทำโครงการมาเสนอ ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้วันนี้เราเต็มไปด้วยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์และรอการจัดการทำให้มีคุณค่าและเพิ่มมูลค่า ดังนั้นปีนี้จะกลายเป็นระบบการเรียนรู้การออกแบบ การสร้างหลักสูตรการศึกษาใหม่ๆ ทำให้เห็นชุมชนมีชีวิต จากกระบวนการเรียนรู้และเพิ่มทักษะเพิ่มสมรรถนะ อย่างไรก็ตาม การออกแบบหลักสูตร จะต้องพิจารณาสิ่งที่ชุมชนมีอยู่ และสิ่งที่ชุมชนต้องการแล้ว กสศ.เข้าไปสนับสนุนตรงนั้น อาทิ ระบบการจัดการเศรษฐศาสตร์ในครัวเรือน จะทำให้คนในชุมชนมีความรู้สึกเลยว่าเขามีศักดิ์ศรีไม่ใช่คนยากจนด้อยโอกาสที่จะเอาอะไรก็ได้มายัดเยียดให้
“สิ่งที่กสศ.กำลังจะทำหลังจากเสร็จสิ้นโครงการนี้คือ การถอดออกมาให้ได้ว่าต้นทุนทรัพยากรที่มีอยู่ต่างๆนั้นมีที่มาอย่างไร มีความหมาย มีคุณค่าอย่างไร ขณะเดียวกัน ก็จะต้องทำระบบการตลาดใหม่ ซึ่งคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมตรงนี้ได้อย่างดี ผ่านระบบไอที วิทยาการสมัยใหม่ มีความเป็นสากลมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น สร้างโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น ในส่วนของปีที่ 3 จะต้องทำให้กว้าง และขยายมากขึ้น ส่งต่อความรู้เหล่านี้ให้กับคนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐบาลเพื่อกำหนดนโยบายและการขับเคลื่อนประเทศตามที่บอกว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งถ้าจะทำโครงการที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการที่ใช้ชุมชนเป็นฐานคือคำตอบ โดยมีโมเดลความสำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรม” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ด้าน น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่า หลังเปิดรับสมัครยื่นข้อเสนอโครงการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. – 24 มิ.ย. ฝที่ผ่านมา มีผู้สนใจส่งข้อเสนอโครงการ 783 โครงการ คณะกรรมการซึ่งมาจาก 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคเอกชน วิชาการ สื่อมวลชน และชุมชน และคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการได้ร่วมกันพิจารณาแล้วมีมติมอบทุนฯ ให้กับ 130 โครงการ โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 8,652 คน เป็นกลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ว่างงาน คนพิการ แม่เลี้ยงเดี่ยว กลุ่มแม่วัยรุ่น ผู้ต้องขัง ฯลฯ ส่วนประเภททุนแบ่งเป็น ทุนพัฒนาทักษะอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จำนวน 99 โครงการ และทุนนวัตกรรมเพื่อชุมชน จำนวน 31โครงการ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งหมด 52 จังหวัด ใน 6 ภูมิภาค สำหรับทุนนี้จะมีความหลากหลายที่เพียงแต่สร้างอาชีพแต่มีการสร้างนวัตกรรมทางอาชีพ อาทิ การจัดการตลาดแพลตฟอร์มดิจิทัล การเพิ่มมูลค่าสินค้า นวัตกรรมการดูแลผู้สูงอายุ เรื่องระบบสุขภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรกรรม
“ในการพิจารณานั้นไม่ได้มองเฉพาะเรื่องของการพัฒนาทักษะอาชีพเท่านั้น แต่โครงการที่เสนอเข้ามาต้องตอบโจทย์ห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การผลิต การตลาด การขายด้วย ดังนั้นสิ่งสำคัญของผู้ที่เสนอโครงการเข้ามาต้องมีการวิเคราะห์ทุนและทรัพยากรชุมชน รู้จักศักยภาพและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รู้ว่าจะพัฒนาอะไรอย่างไรเพื่ออะไร ตอบโจทย์หรือไม่ เพื่อให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกลั่นกรองและคัดเลือกข้อเสนอโครงการมีความเชื่อมั่นและเห็นภาพเหล่านี้ โดยทั้งหมด130 โครงการนั้น เราจะมีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์และประเมินผลและจัดทำชุดข้อมูลเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้ขยายวงกว้าง เช่น กระทรวงแรงงาน กศน. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นอกจากนี้โครงการในปีนี้เสนอเข้ามาจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนที่ต้องการความช่วยเหลืออีกมาก สำหรับโครงการที่ไม่ได้รับคัดเลือกครั้งนี้ ขอให้นำหลักคิดของเรากลับไปปรับปรุงและสามารถเสนอเข้ามาอีกครั้งหลังเปิดโครงการในปี 2564” น.ส.ธันว์ธิดา กล่าว
นายโชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองกลางดง ต.ศิลาลอย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการฯ กล่าวว่า การสร้างให้ชุมชนเข้มแข็งนั้น ต้องจัดการระดับหมู่บ้าน หลายๆหมู่บ้าน เริ่มจากผู้นำหมู่บ้าน และอยู่บนหลักคิดว่าไม่มีใครเก่งได้เพียงคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นหากเราต้องการหลุดจากตัวตนต้องมีการรวมตัวของคนเก่งแต่ละเรื่อง อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเข้าไปสนับสนุนชุมชนนั้น ต้องเป็นการพัฒนาฝีมือที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องกลับไปเป็นลูกจ้างโรงงานเพียงอย่างเดียว รวมถึงอาจจะมีการเสริมเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องนวัตกรรมอาหารที่เป็นสิ่งสำคัญ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง และโรคภัยไข้เจ็บ ส่งเสริมในสิ่งที่ประชาชนอยากทำจริงๆ หวังว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
นายพรเทพ เจริญผลจันทร์ ผู้จัดการชุมชนสัมพันธ์ บริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเอกชนจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าจะอยู่กับชุมชนได้อย่างไร เพราะหลังประสบปัญหาการระบาดของโควิดทำให้การทำงานหลายๆ อย่างชะงัก การผลิตหายไป วัตถุดิบหายไป แรงงานหายไป แต่หากเรามีชุมชนที่เข้มแข็งสามารถซับพอร์ตความสามารถในการผลิตของเราได้ ก็จะทำให้ทุกฝ่ายก้าวผ่านวิกฤตได้ ดังนั้นเราต้องหนุนเสริมให้ชุมชนรอบข้างมีความรู้ พัฒนาต่อยอดเป็นอาชีพได้
นายสุกรี อัซอลีฮีย์ จากโครงการวงล้อมอาชีพห่วงโซ่อาหารเพื่อเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส ของมูลนิธิสงเคราะห์เด็กกำพร้าและการกุศล จังหวัดยะลา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่โครงการได้รับการสนับสนุนทุนจาก กสศ.ทั้งนี้ โครงการที่เรานำเสนอเข้าไป จุดเริ่มต้นมาจาก ที่เดิมทีเรามีเด็กด้อยโอกาสต้องดูแล 100 กว่าคน โดยส่งเรียนตามโรงเรียนทั่วไป แต่ตอนหลังเปิดโรงเรียนเอง พอเรียนจบส่วนใหญ่ก็เรียนต่อสายสามัญ บางคนออกไปประกอบอาชีพทั่วไป จึงมีแนวคิดที่อยากช่วยสร้างอาชีพให้เด็กๆ พอรู้ว่า กสศ. มีโครงการมอบทุนสนับสนุนตรงนี้ จึงเขียนไปเสนอ โดยขยายเพิ่มไปเป็นการพัฒนาอาชีพให้กับผู้ด้อยโอกาส อาทิ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ทั้งตำบล
สำหรับการดำเนินโครงการนั้นจะใช้ที่ดินเปล่า 15 ไร่ ตั้งเป็นศูนย์กลางฝึกอาชีพ หลัก 10 กิจกรรม อาทิ เกษตรสมาร์ทฟาร์ม เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ เลี้ยงปลาดุก นอกจากนี้ยังมีการฝึกอาชีพช่าง เช่น เฟอร์นิเจอร์ ช่างไฟฟ้าเบื้องต้น และให้เยาวชนเข้าสู่ตลาดออนไลน์ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ ทั้งนี้ที่วางแผนเอาไว้หลังจากนี้จะทำตลาดนัดอาชีพเสนอให้ชุมชนเลือกว่าใครสนใจเข้าสู่ส่วนไหน ก็ให้ลงทะเบียน จากนั้นหลังจากที่ทุนสนับสนุนลงมาถึง ในสัปดาห์แรกให้ทุกคนเข้ารับการอบรมทุกอาชีพ แล้วสัปดาห์ต่อมาถึงจะแยกกลุ่มตามความสนใจอาชีพเฉพาะ และอบรมในวิชาชีพนั้นๆ สำหรับผลผลิตที่ได้จะถูกนำไปวางจำหน่ายที่ตลาดนัดชุมชนประจำสัปดาห์ รายได้จากการขายก็เป็นของสมาชิก โดยจะดำเนินการเช่นนี้ในระยะยาว เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน
ด้าน นางสาววาสนา ภมรสุจริตกุล ตัวแทนกลุ่มคนรุ่นใหม่โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และรูปแบบตลาดใหม่บนฐานวิถีชนเผ่าลีซู วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เดิมคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านมีการรวมกลุ่มกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมอาชีพ ศักยภาพของคนในชุมชนโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งกาแฟ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งสามารถขับเคลื่อนไปได้ระดับหนึ่ง แต่เรามองเห็นคนอีกมากที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริม ทั้งๆ ที่มีทรัพยากรที่หลากหลายอยู่ในมือที่สามารถต่อยอดได้ จึงอยากขยายตรงนี้ ดังนั้นพอ กสศ.มีโครงการให้ทุนส่งเสริมจึงทำเรื่องขอเข้ามาเพื่อจะได้ขยายการส่งเสริมอาชีพได้กว้างขึ้น และเร็วขึ้น “เป้าหมายจะทำกับ 25 ครอบครัว ที่มีความสนใจที่จะพัฒนาจริงๆ ขั้นแรกอยากให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกไปดูงานพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเปิดโลกทัศน์ แล้วนำมาคิด ปรับใช้กับสิ่งที่มีในชุมชน
เมื่อตกผลึกก็อาจจะแนะนำตามที่เขาสนใจเฉพาะด้าน และจัดหาวิทยากรมาให้ความรู้ และสิ่งสำคัญคือการส่งเสริมเรื่องการตลาด โดยเฉพาะระบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้ชาวบ้านไม่ต้องกังวลกับการมีหน้าร้านด้วยซ้ำ และไม่ต้องกังวลว่าจะขายไม่ได้ เพราะทางเรามีตลาดให้อยู่แล้วส่วนหนึ่ง เพียงแต่ไม่มีสินค้า ถ้าตรงนี้ได้ผลดีหลังจากนั้นตั้งใจทำตลาดชุมชนเดือนละ 1-2 ครั้ง ที่มีหน้าร้าน แต่มีข้อแม้ว่าผลิตภัณฑ์ต้องแตกต่างกันเพื่อเป็นการกระจายรายได้ แต่ไม่อยากให้คิดว่านี่คือการแข่งขันกัน เพราะถ้าทุกคนเข้มแข็ง ชุมชนของเราก็จะเข้มแข็งด้วย นอกจากนี้ หากชาวบ้านมีความชำนาญมากพอระยะยาว อาจจะส่งเสริมให้ชุมชนจัดเวิร์คชอบสอนอะไรก็ตามที่เป็นวิถีชุมชนให้กับคนที่สนใจ เพราะพื้นที่ของเราเป็นเส้นทางของการท่องเที่ยวอยู่แล้ว ตรงนี้จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่หลากหลายขึ้น พึ่งพาตัวเองได้” นางสาววาสนา กล่าว