จังหวัดพระนครอยุธยาเดินหน้าผลักดันสินค้าโอท็อปสู่อาเซียน หลังยอดขยายตัวผู้ผลิต ประกอบการโอท็อปขยายตัวต่อเนื่องมีกว่า1,400 รายปี62 จับจุดขยายช่องทางตลาดกระตุ้นผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอท็อป รุกกระแสโลกเปลี่ยน หันใช้ออนไลน์เป็นกลยุทธ์ค้าขาย แจงปีที่ผ่านมาสินค้าที่ค้าขายผ่านระบบออนไลน์มีมากกว่า3.3ล้านล้านรายการ ถึงเวลาที่ต้องปรับตัว พร้อมเปิดโครงการพัฒนาตนต้นแบบ สร้าง 30 ต้นแบบโอท็อปขาย ออนไลน์ ออฟไลน์ ในโครงการส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ภายใต้ชื่องาน WISDOM GROWN TO ASEAN “ต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ภูมิปัญญาสากลแห่งอาเซียน” จัดขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม ที่ เออีซี เทรด เซ็นเตอร์ บางปะอิน คาดสร้างรายได้โอท็อปอยุธยาเพิ่มขึ้น23%ในปีนี้
นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงโครงการส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ดำเนินโครงการมาต่อเนื่องว่า สินค้าโอท็อป ผลิตภัณฑ์ชุมชน ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีความหลากหลาย เพราะจังหวัดมีถึง 16 อำเภอ 200 ตำบล แนวคิดพัฒนาสินค้าโอท็อปเริ่มมาตั้งแต่ปี 2545 ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาหลายตัว อาทิ มีดอรัญญิก ช้อนสเตนเลส การทำผลิตภัณฑ์ปลาตะเพียน ผลิตภัณฑ์ผ้าผักตบชวา อาหารต่างๆเยอะมาก ที่มีการพัฒนาต่อยอดมาต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาโปรดักส์ แพจเกจจิ้ง การพัฒนาคุณภาพของสินค้า การส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่าย รวมทั้งการประกวดผลิตภัณฑ์ในจังหวัดตามนโยบายของรัฐบาล
การขยายตัวของผู้ประกอบการโอท็อปในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561มีการลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอท็อป ประเภทกลุ่มและเดี่ยวจำนวน 1,285 ราย เป็นจำนวนผลิตภัณฑ์ 2,566 ผลิตภัณฑ์ และในปี 2562 มีจำนวนกว่า1,400 ราย และจากที่ได้เปิดโครงการ ส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ภายใต้ชื่องาน WISDOM GROWN TO ASEAN “ต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ภูมิปัญญาสากลแห่งอาเซียน” จะส่งผลดีให้ผู้ประกอบการขยายฐานลูกค้าในการทำตลาดเพิ่ม และส่งผลดีต่อยอดขายกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอท็อปเพิ่มขึ้นกว่า 23 %
สำหรับโครงการส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ภายใต้ชื่องาน WISDOM GROWN TO ASEAN “ต่อยอด ภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ภูมิปัญญาสากลแห่งอาเซียน” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม ที่ เออีซี เทรด เซ็นเตอร์ บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับผู้ประกอบการ ทั้งด้านสินค้าและการขยายช่องทางการตลาด สอดรับกระแสโลกการค้า ที่เปลี่ยนแปลงอยางรวดเร็ว โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาท ของ Ecommerce ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ ตอบสนองทั้งในส่วนของ online และ offline สามารถแข่งขันทางการค้า ให้สินค้าโอท็อปสามารถเชื่อมโยงสู่ตลาดอาเซียนได้
ด้านนางสาวสุวรรณา ตรีสิทธิเดช พัฒนาการจังหวัด พระนครศรีอยุธยา กล่าวเสริมว่า โครงการนี้ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากผู้ว่าราชจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโอท็อปของจังหวัดฯให้สามารถขยายตลาดออกไปสู่ภายนอกได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญกลุ่มผู้ประกอบการโอท็อปที่มีศักยภาพสามารถจะก้าวไกลไปสู่ระดับสากลได้ เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นแหล่งมรดกหลากหลายด้าน อาทิ ศิลปะ วัฒนธรรม และอาหาร เพราะฉะนั้นโครงการฯนี้จึงเป็นที่รวบรวบรวมกลุ่มผู้ประกอบการโอท็อปของจังหวัดฯทั้งหมด 16 อำเภอซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าสนใจหลากหลายแตกต่างกัน ขณะที่กิจกรรมครั้งนี้ได้คัดเลือกผู้ประกอบการฯให้เข้ามาแสดงผลงาน เพียง 100 รายเท่านั้น และหลังจากวันที่ 1-2 สิงหาคม 2562 จะคัดให้เหลือเพียง 30 รายเพื่อนำผลงานสินค้าไปจัดแสดง และจำหน่าย ณ ศูนย์การค้าเอเซียทีค เดอะ รีเวอร์ฟร้อนท์ซึ่งเป็นศูนย์การค้าริมแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเซีย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รวมนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่มอาเซียน ที่แวะเวียนกันมาวันหนึ่งๆไม่ต่ำกว่า 40,000 คน จึงเป็นโอกาสให้สินค้าโอท็อปจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาออกสู่สายตาอาเซียนในระดับสากล
นางสาวนุชนาถกล่าวปิดท้ายว่า จังหวัดต้องการพัฒนาผู้ค้าให้มีความเข้าใจถึงการเติบโตของตลาดออนไลน์ และได้เข้าถึงเครื่องมือในการทำการตลาด และเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าภูมิปัญญาไทย ได้เผยแพร่ไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ จึงได้จัดงาน WISDOM GROWN TO ASEAN “ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่ภูมิปัญญาสากลแห่งอาเซียน”ในงานมีกิจกรรมจัดอบรมผู้ผลิต ผู้ประกอบการโอท็อป และมีการคัดเลือกผลิตภัณฑ์โอท็อปจำนวน 100 ผลิตภัณฑ์ให้เหลือ 30 ผลิตภัณฑ์ เพื่อนำมาพัฒนาสร้างความเข็มแข็ง ขึ้นสู่ตลาดออฟไลน์ และออนไลน์ สำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จะได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม มองเห็นความแตกต่าง การที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มกว่า 100 คน 100สินค้าชุมชน สินค้าโอท็อป ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ได้รับการคัดเลือก หรือไม่ได้คัดเลือก อย่างน้อยจะได้รู้ความแตกต่าง จากการเปรียบเทียบ และเอากลับไปวิเคราะห์ศักยภาพสินค้าและพัฒนาต่อได้อย่างมีแนวทาง
งานนี้ผู้ประกอบการยังได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งมีความสำคัญและจำเป็นมากกว่าการออกงานเพื่อขายสินค้าปกติทั่วไป เพราะโลกเปลี่ยน รูปแบบการขายต้องมีหลากหลายช่องทางมาก วันนี้สินค้าออนไลน์ในประเทศกว่า 3.3 ล้านล้านรายการ ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา เป็นสินค้าที่ผ่านระบบออนไลน์ต่างประเทศถึง 2.2 ล้านล้านรายการ ดังนั้นรูปแบบการเรียนรู้พัฒนาดังที่โครงการดำเนินการนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการนำความรู้ไปพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น กลุ่มที่ได้รับการคัดสรรก็จะได้รับความรู้ โนฮาวมากขึ้น มีการพัฒนาหน้าร้านออนไลน์ ได้ทดลองตลาด อนาคตจะมีการพัฒนาให้เกิดความแข็งแรงยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการส่งเสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรมนี้ ได้มีการเปิดรับสมัครผลิตภัณฑ์โอท็อป เข้าร่วมโครงการจนถึงวันที่ 26 กรกฏาคม 2562 ที่ผ่านมา และไปอบรมกันต่อที่สํานักงาน เออีซี เทรดเซ็นเตอร์ อาคาร1 ชั้น5 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 31 กรกฎาคม ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2562 โดยงานจะมีกิจกรรม การพัฒนาความรู้ความเข้าใจ การวางรากฐานพัฒนาต่างๆ พร้อมคําแนะนํา ส่งเสริมการขยายตลาดสินค้าสู่ช่องทางแบบออนไลน์ และ สร้างหน้าร้านออนไลน์ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการทั้งในประเทศ และ ตลาดต่างประเทศ โดยเริ่มจากตลาดอาเซียน ก่อนเพื่อเป็นโครงการนำร่อง หลังจากคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านเกณฑ์การคัดสรร เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนา 30 ราย เพื่อเข้าสู่ตลาดออนไลน์ เปิดหน้าร้านออนไลน์ เพื่อรับออเดอร์การสั่งซื้อ อย่างเต็มรูปแบบ และเข้าสู่ตลาดต่างประเทศต่อไป