มหกรรมนครศรีฯดีจังฮู้ “Forum Youth for Change เยาวชนเปลี่ยนได้”ยกระดับกิจกรรมเด็กเยาวชนสร้างสรรค์ พลิกเสี่ยงเปลี่ยนเป็นพลังบวก
เครือข่ายเยาวชนนครศรีฯดีจังฮู้ ร่วมกับ สมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน “มหกรรมสร้างสรรค์นครศรีฯดีจังฮู้Forum Youth for change เยาวชนเปลี่ยนได้ (พลิกเสี่ยงเปลี่ยนเป็นบวก-พัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์-สืบสานคุณค่าภูมิปัญญาถิ่น สู่การสร้างสรรค์นครศรีฯดีจังฮู้)
ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ อาทิ การแสดงสื่อสร้างสรรค์โดยกลุ่มเยาวชน เพลงบอก มโนราห์ ,เปิด15 ลานเรียนรู้ สนุก สร้างสรรค์ ได้ลงมือทำ นอกจากนั้นภายในงานยังได้มีการเสวนาในหัวข้อ “Forum Youth for change : คนรุ่นใหม่สร้างสรรค์ ใส่ใจเมืองคอน” ที่ หอประชุมภักดีดำรงฤทธิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
นายองอาจ พรหมมงคล นายกสมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมส่งเสียงเยาวชน ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 และกว่า10 ปีที่ทำงานด้านเด็กเยาวชน พบว่า กระแสข่าวด้านเด็ก จ.นครฯในภาพลบลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกันข่าวสารที่สร้างสรรค์มีเพิ่มมากขึ้น และนั่นคือการเปลี่ยนแปลงสำหรับ พื้นที่เด็กเยาวชนจ.นครฯ ที่น่าภาคภูมิใจ
ทั้งนี้จากข้อมูลขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา สำรวจความคิดเห็นเยาวชนไทยทั่วประเทศ ผ่านระบบโพลออนไลน์ของเครือข่ายยูรีพอร์ต ประเทศไทย เกี่ยวกับสังคมที่อยากเห็น โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสร้างสรรค์ปี 2561 พบว่า กว่าร้อยละ 77 อยากเห็นรัฐบาลเร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัยสร้างสรรค์ในสังคม และ1ใน3 อยากมีส่วนร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยสร้างสรรค์ ร้อยละ 31 บอกว่า พื้นที่ปลอดภัยหมายถึง พื้นที่ในสถานศึกษา และเยาวชนเกือบครึ่ง ตอบว่ารู้สึกไม่ปลอดภัยในชุมชนที่อาศัยอยู่ ส่วนพื้นที่สร้างสรรค์ที่อยากเห็น คือ พื้นที่ที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ ได้
นายองอาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อนงานเด็กเยาวชนไม่ใช่ การทำงานที่ตัวเด็ก อย่างเดียว แต่มิติที่รายล้อม และกลไกปกป้องเด็ก ถือเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น กรอบคิดสำคัญ ควรมี 3 สร้างคือ 1.สร้างความ “เป็นเจ้าของ” โดยให้เด็ก ได้คิดเอง ออกแบบเอง ทำเอง ส่วนเรา ถอยมาเป็น “พี่เลี้ยง” หรือผู้สนับสนุน 2.สร้าง “การมีส่วนร่วม” คือร่วมกันคิด ทำทั้งกลุ่มเด็ก ผู้ใหญ่และกลไกภาครัฐหรืออื่นๆ รวมถึง การจัดสภาพพื้นที่รอบตัวเด็ก 3.สร้าง “การเปลี่ยนแปลง” มิใช่การทำแบบเดิมๆและภายใต้กรอบแนวคิดดังกล่าวจึงเกิดพื้นที่กลุ่มเยาวชน และเพื่อนเครือข่ายเยาวชน ทั่วจังหวัดนครศรีฯ
นอกจากนี้ควรสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ 3 กรอบใหญ่ๆ คือ พลิกพื้นที่เสี่ยงให้สร้างสรรค์ปลอดภัย รักษาสืบทอด ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรม เพื่อสืบทอดและหวงแหนไว้ซึ่งของดีที่เป็นความภาคภูมิใจคนจ.นครฯ และสร้างสรรค์สื่อสารสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นแนวทางของเยาวชนสมัยใหม่ แต่ภายใต้กรอบการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่
ทั้งนี้กระบวนการในการหนุนเสริม กลุ่มและพื้นที่เยาวชนเครือข่ายทั้ง 22 กลุ่ม จึงต้องทำงาน ทั้งมิติ การเป็น โค๊ช / ครู / พี่ และเพื่อน รวมถึงการ ประสานเติมเต็ม ในมิติต่างๆ
“เราเชื่อว่าตรงนี้คือพื้นที่ปลอดภัย ของกลุ่มเด็กเยาวชนจ.นครฯ ที่เห็นถึงการทำงานเชิงการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ และการขยายสู่เพื่อนที่กว้างขึ้น และนั้นคือพลังบวกของเด็กเยาวชน นอกจากนี้ ยังเกิดการยอมรับและเชื่อมั่นในพลังการขับเคลื่อนงาน ซึ่งพิสูจน์การเปลี่ยนแปลง ทั้งเชิงพฤติกรรมบุคคล สภาพแวดล้อม และนโยบายปกป้องเด็กเยาวชน ซึ่งคือเส้นทางกว่า 10 ปีที่เราทำงานเด็ก-เยาวชนและมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลง และในอนาคตเราจะชวนกันไปต่อ ซึ่ง เรามาถูกทาง เราสร้างพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ เชื่อมั่นในพลังเด็กเยาวชน และเราจะไปกันต่ออย่างมีพลัง” นายองอาจ กล่าว
นางสาวปรัชทิพา หวังร่วมกลาง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) กล่าวว่า เชื่อว่าเด็กเยาวชนทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง การเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้โอกาส ได้เรียนรู้ปัญหาจริง ทำงานจริง ในพื้นที่จริง จะทำให้ดึงพลังสร้างสร้างสรรค์ออกมา สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งตัวเอง ชุมชน และสังคม ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมในวันนี้ เพราะเขาได้ร่วมคิด ลงมือทำเกิดทักษะ ซึ่งปรากฎการณ์เหล่านี้ ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพ ทำให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจบ้าน ชุมชน สังคม มีความเป็นพลเมืองสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
นางสาวเรวดี สันติวิริยะกุล นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เลือกมาทำกิจกรรมนิทานสัญจรในกิจกรรมครั้งนี้ เนื่องจากตนเอง เรียนเอกปฐมวัย มีทักษะในด้านนี้อยู่แล้ว และถือโอกาสฝึกพัฒนาฝีมือให้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญกิจกรรมนี้ได้รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ พี่เลี่ยง เพื่ออยากให้เด็กๆได้เสริมสร้างจริยธรรมผ่านนิทาน ซึ่งเป็นนิทานที่พวกเราแต่งขึ้นเอง ผ่านการตรวจสอบจากคณะอาจารย์ว่าตัวละครหรือคำศัพท์ต่างๆในเรื่องเหมาะสมหรือไม่ ถือเป็นการเพิ่มประสบการณ์ เพิ่มศักยภาพ ซึ่งเด็กๆอนุบาลให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เขาจะเกิดการซึมซับ ก้าวไปเป็นเยาวชนที่ดี ซึ่งทางกลุ่มได้ลง3พื้นที่โรงเรียน โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กประถมวัย ครู ผู้ปกครอง ซึ่งแต่ละครั้งจะมีการสรุปงาน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ กล้าแสดงออกมากขึ้น มีความมั่นใจ มีกระบวนการคิดที่มากขึ้น และภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งที่ดีและสร้างสรรค์
ขณะที่ นางสาวกันยารัตน์ ทองสองแก้ว เยาวชนโรงเรียนปากพนัง ตัวแทนกลุ่ม “เด็กปากพนังบอกรักภูมิปัญญา” กล่าวว่า ตนได้ทำโครงงานเกี่ยวกับเรื่องป่าจาก เพราะพื้นที่แห่งนี้มีต้นจากจำนวนมาก คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ประโยชน์จากต้นจาก ซึ่งควรอยู่คู่กับปากพนัง ต้องอนุรักษ์ไว้ ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จากนั้นจึงได้ร่วมกับโครงการนครศรีฯดีจังฮู้ เข้ามาช่วยสนับสนุนบูรณาการและมีอาจารย์เข้ามาช่วยเป็นที่ปรึกษา เกิดแนวคิดนำนักเรียนทั้งมัธยมต้นและมัธยมปลาย กว่า150คน เข้ามารวมกลุ่มเรียนรู้เรื่องราว ความเป็นมา ประโยชน์สารพัดเกี่ยวกับต้นจาก ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากต้นจาก เรียกว่าใช้งานได้ทุกส่วน เช่น แผ่นรองหม้อ การทำไม้กวาด น้ำตาลจาก น้ำส้มจาก รวมถึงเรียนรู้เกี่ยวกับเพลงบอก ปราชญ์ชาวบ้าน คือสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งของชาวปากพนัง ส่วนการที่ได้มาร่วมทำกิจกรรมตรงนี้มันทำให้เรามีความเป็นผู้นำ มีศักยภาพมากขึ้น รู้สึกมีแรงผลักดันมากขึ้น และเห็นคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมมากเท่าไหร่ยิ่งภูมิใจในสิ่งที่ทำ