สสส.หนุนปลูกจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนน

ปัญหาการตายจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย จากการบูรณาการข้อมูลการตาย 3 ฐาน พบว่า ในระยะเวลา 9 ปี (พ.ศ.2554 –2562) มีคนตายจากอุบัติเหตุทางถนน 188,758 คน เฉลี่ยปีละ 20,973 คน โดยกลุ่มอายุตายสูงสุด เป็นเด็กและเยาวชนอายุ 10-19 ปี สูงถึง 26,126 คน หรือคิดเป็นเฉลี่ย 2,902 คนต่อปี จากการประมาณการตายจากอุบัติเหตุทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน 10 – 19 ปี โดยการวิเคราะห์อนุกรมเวลา Time series ในช่วง 11 ปีต่อจากนี้ (ปี 2564 – 2573) หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จะมีเด็กและเยาวชนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนน 40,421 คน หรือเฉลี่ยปีละ 3,674 คน       

        สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เล็งเห็นความสำคัญของอุบัติเหตุทางถนน จึงสนับสนุนการดำเนินโครงการพัฒนาจิตสำนักเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (อุบัติเหตุทางถนนและการพนัน) หรือโครงการอารักข์ เพื่อออกแบบและพัฒนาสื่อชุดกิจกรรมในสถานศึกษาในการพัฒนาจิตสำนึก และรู้เท่าทันสามารถดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากท้องถนนในกลุ่มเด็กวัยอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้น เนื่องจากเป็นวัยที่สำคัญในการวางรากฐานการเรียนรู้เพื่อให้มีทักษะชีวิตที่มั่นคงปลอดภัย เมื่อเติบโตขึ้นก็จะมีภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยโครงการฯ ได้ประสานงานร่วมกับ นายโทโมอากิ โกโตะ ประธานบริษัท  เอ็กเซดี้ เอ็นจิเนียริ่ง เอเชีย จำกัด นำหลักสูตร School Safety ของประเทศญี่ปุ่น มาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรม

                ล่าสุด โครงการอารักข์ ได้ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 และ บริษัท เอ็กเซดี้ เอ็นจิเนียริ่ง เอเชีย จำกัด จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ประกอบชุดจำลองสัญญานไฟจราจร เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนความปลอดภัยทางถนนผ่านกิจกรรมสถานการณ์จำลอง โดยมีนักเรียนจากศูนย์ฝึกอาชีพนักเรียนเก่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี จำนวนกว่า 17 คน เข้าฝึกอบรมพร้อมทีมวิศวกรจาก เอ็กเซดี้ เอ็นจิเนียริ่ง เอเชีย จำกัด ที่มาให้ความรู้ด้านช่างไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด ชุดจำลองสัญญานไฟจราจร จะเป็นสื่อประกอบการอบรมเชิงปฏิบัติการ ที่จะจัดอบรมในเดือนพฤศจิกายน 2563 นี้ และส่งมอบให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ภายใต้กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 เพื่อให้โรงเรียน ครู เด็กและชุมชนมีส่วนร่วมส่งเสริมความรู้เท่าทันและเข้าร่วมเป็นเครือข่ายการใช้ชุดกิจกรรมป้องกันภัยจากอุบัติเหตุทางถนน และศูนย์ฝึกเด็กเล็กที่จะเข้าร่วมรับการอบรมในเดือนเมษายน ในปี 2564

        “ขอบพระคุณทางโครงการอารักข์ที่ทำให้เราได้มีโอกาสฝึกทักษะวิชาชีพทางด้านไฟฟ้า ทำให้เรามีพื้นฐานด้านช่างไฟฟ้าเพิ่มเติมจากทักษะด้านเกษตรกรรม และรู้สึกดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบชุดแบบจำลองสัญญาณไฟจราจรที่จะนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับน้อง ๆ วัยอนุบาลและประถมศึกษา ซึ่งน้อง ๆ จะได้สนุกกับการเรียนรู้ว่าแต่ละสีของไฟจราจรหมายถึงอะไรและควรปฏิบัติอย่างไร”  .ญ.นุชนารถ สีวังราช นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 2 ศูนย์ฝึกอาชีพนักเรียนเก่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน กองกำกับการตำรวจตระเวนภาค 1 เผยความรู้สึกต่อการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

เฉกเช่นเดียวกันกับ นายณัฐพล-ณัฐ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 6 ซึ่งมีความรู้สึกไม่ต่างกันโดยกล่าวเสริมว่า “ดีใจมากครับที่ได้มีโอกาสร่วมกิจกรรม มั่นใจว่าจะสามารถนำความรู้นี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งการซ่อมแซมอะไรเล็กๆน้อย ๆ อนาคตก็ฝันอยากจะเป็นช่างซ่อมประจำหมู่บ้านชนเผ่ากะเหรี่ยงของตนที่อำเภอสังขละบุรี  และภายหลังจบการศึกษา หากพอมีทุนก็อยากจะทำธุรกิจด้านการเกษตรควบคู่กันไปด้วย ที่นี่นอกจากเราจะได้รับการศึกษาผ่านระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) แล้ว ยังได้รับการฝึกอบรมด้านอาชีพ โดยเน้นด้านเกษตรกรรมเป็นหลักและยังมีรายได้จากการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งหากไม่ได้เรียนต่อก็สามารถนำทักษะเหล่านี้ประกอบอาชีพที่บ้านเกิดได้”

ด้าน พ.ต.อ. ประกอบ พลเตชา รองผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 กล่าวว่า นอกจากโครงการอารักข์ จะช่วยเพิ่มทักษะวิชาชีพด้านช่างไฟฟ้าให้กับนักเรียนของเราแล้ว กิจกรรมนี้จะทำให้นักเรียนของเรามองเห็นภาพในเชิงวิชาชีพด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น จากอาชีพด้านเกษตรกรรมที่ดำเนินการอยู่แล้ว โดยยังสามารถเป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพของเด็ก ๆ ได้ ถ้าไม่มีต้นทุนเลยการกลับออกไปพัฒนาพื้นที่ชายแดนบ้านเกิดของเขาก็คงทำได้ยาก สุดท้ายเขาก็จะกลับเข้าไปสู่วังวนเดิม โดยอาจจะบุกรุก เผาป่า ทำไร่เลื่อนลอย สร้างมลพิษทางอากาศให้กับสังคม โครงการนี้ จึงสร้างประโยชน์ให้ถึง 3 ประการด้วยกัน คือ 1.เพิ่มทักษะวิชาชีพด้านช่าง 2. สร้างรายได้ และ 3.ประโยชน์ต่อสังคมด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

รอง ผบก.ตชด.ภาค 1 กล่าวต่อ โครงการอารักข์ ว่า วัยอนุบาลและเด็กเล็ก เป็นช่วงที่สมองกำลังเติบโต ความรู้ หรือ ทักษะต่างๆ ที่เขารับรู้จะถูกฝังเข้าไปในจิตใต้สำนึกเลย ซึ่งเด็กวัยนี้จะไม่นั่งเฉยๆ ต้องมีกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นของเล่นให้เขาฝึกปฏิบัติไปในตัว ดังเช่นชุดจำลองสัญญานไฟจราจรนี้จะเป็นการสร้างวินัยจราจรซึ่งต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก อย่างที่ประเทศญี่ปุ่นเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก

        ด้าน ดร.อัญญมณี บุญซื่อ หัวหน้าโครงการอารักข์  กล่าวว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นการขยายผลต่อจากการทำสื่อของโครงการ จึงต้องการให้อุปกรณ์มีมาตรฐานมากขึ้น ได้ประสานไปยังคุณโทโมอากิ โกโตะ ประธาน บริษัท เอ็กเซดี้ เอ็นจิเนียริ่ง เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการ ได้ให้ความอนุเคราะห์ส่งทีมวิศวกรมาช่วยออกแบบและให้ความรู้กับน้อง  อนาคตที่นี่ก็จะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงสื่อการสอนนี้ให้กับโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ หลังจากนี้ไปมีแผนจะขยายผลโครงการไปยังโรงเรียนใน บก.ตชด. ภาค 2

        “ ชุดจำลองสัญญานไฟจราจรนี้ สำหรับเด็กมันคือของเล่น การปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเด็กในเรื่องของสีไฟจราจร ต้องให้เด็กเล่นจริง ปฏิบัติจริง วัยอนุบาลหรือเด็กเล็กเป็นช่วงของการถูกบ่มเพาะ ก่อร่างสร้างขึ้นมาในเชิงทัศนคติ เขาคิดอะไรอยู่ คิดสิ่งนั้นเพราะอะไร แล้วมันจะไปมีผลต่อพฤติกรรมที่แสดงออกมา สิ่งที่เราค้นพบจากการศึกษาประมาณ 2 ปี  พบว่า เด็กจะต้องปฏิบัติจริง การที่จะมาบอกว่าระวังมันไม่ดีนะ อันตรายนะ เด็กจะไม่จำ เขาจะฟังแบบเพลินๆไป แต่ไม่ได้ตระหนักว่าสิ่งนั้นมันอันตรายจริงๆ แต่ถ้าเด็กเป็นคนที่ปฏิบัติด้วยตัวเอง เด็กจะรู้เลยว่า แดง คือ อะไร ถ้ามีคนกดสีแดงแล้วให้เด็กหยุด เทียบกับการที่เด็กกดเองแล้วหยุดเอง ความรู้สึกถึงคำว่าสีแดงว่ามันมีอันตรายจะมีมากกว่าที่คนอื่นกดไฟให้เขาหยุด นี่จึงเป็นเหตุผลของวิธีการที่เราจะเน้นการปฏิบัติเพื่อให้เด็กจดจำในระดับจิตใต้สำนึก”  ดร.อัญญมณี กล่าว

        นายโทโมอากิ โกโตะ ประธาน บริษัท เอ็กเซดี้ เอ็นจิเนียริ่ง เอเชีย จำกัด ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า เราเป็นบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ นโยบายของบริษัทจึงให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัย ให้มากที่สุด ดังนั้น การออกแบบชุดจำลองสัญญานไฟจราจร ทีมวิศวกรของเราคำนึงถึงความปลอดภัยมากที่สุด ทั้งเรื่องของการประกอบและการนำไปใช้ เพราะว่าผู้ใช้เป็นเด็กเล็ก อุปกรณ์ใช้ฝึกปฏิบัติจริงในการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางท้องถนน  สำหรับโครงการอารักข์นับเป็นต้นแบบในการขยายผลด้านความปลอดภัยที่ดีและเหมาะสม อนาคตหากมีการขยายผลอีกบริษัทก็ยินดีจะเข้าร่วมด้วยตลอด

นายโทโมอากิ กล่าวอีกว่า ที่โรงเรียนประเทศญี่ปุ่น  การศึกษาเรียนรู้ด้านความปลอดภัย ได้กำหนดเป็นนโยบายพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ มีการจัดทำหนังสือเรียนเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย บรรจุอยู่ในแผนการสอนโดยคุณครูจะดำเนินการสอนตามระบบแผนการบริหารและจัดการที่เรียกว่า  PDCA ( Plan Do  Check  Action คือ วางแผน ปฏิบัติ ตรวจสอบและดำเนินการ) ตามนโยบายที่ตั้งไว้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นได้ชี้แจงนโยบายการศึกษาด้านความปลอดภัยไว้อย่างชัดเจน

“นอกจากเรื่องของความปลอดภัยทางท้องถนนแล้ว เราควรจะปลูกฝังเรื่องของคุณภาพชีวิตด้านอื่นให้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็กๆ ด้วย โดยเฉพาะเรื่องของคุณธรรม เราต้องพัฒนาเรื่องของคุณธรรมควบคู่กันไป การมีคุณธรรมสำคัญมาก อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ต้องคิดได้ว่ามันไม่ถูกต้องซึ่งต้องแก้ไข เราต้องสอนให้เด็กคิดเป็น และคิดเองได้ ไม่ใช่สอนเด็กว่าอันนี้ถูกต้อง ไม่ใช่แบบนี้แล้ว คือ ผิด  สอนแบบนั้นไม่ได้ เราต้องสอนให้เด็กคิดเองได้” ประธาน บ.เอ็กเซดี้ เอ็นจิเนียริ่งฯ ฝากไว้ในตอนท้าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *