ผลการศึกษาไอบีเอ็มชี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกเดินหน้าเร่งเครื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน คนและทาเลนท์คือกุญแจสำคัญสู่ก้าวต่อไปในอนาคต
ผู้บริหารที่ทำการสำรวจชี้ทักษะที่ไม่เพียงพอและภาวะหมดไฟของพนักงานเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดต่อการเดินหน้า โดยผู้บริหารและพนักงานเห็นต่างกันชัดเจนเมื่อถามถึงระดับความสามารถขององค์กรในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 9 พฤศจิกายน 2563: การศึกษาชิ้นใหม่ของไอบีเอ็ม (NYSE: IBM) จากการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกือบหกในสิบขององค์กรที่ตอบแบบสำรวจเร่งขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน โดยอุปสรรคแบบเดิมๆ และสิ่งที่เคยถูกมองว่าเป็นอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นความไม่พร้อมของเทคโนโลยีหรือการที่พนักงานต่อต้านความเปลี่ยนแปลง ได้ลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ ร้อยละ 66 ของผู้บริหารที่ตอบแบบสำรวจระบุว่าพวกเขาสามารถดำเนินโครงการที่ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญกับการต่อต้านได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว
องค์กรที่เข้าร่วมการสำรวจตระหนักมากขึ้นถึงบทบาทสำคัญของบุคลากรที่มีต่อการขับเคลื่อนทรานส์ฟอร์เมชัน โดยกลุ่มผู้นำมองว่าความซับซ้อนขององค์กร ทักษะที่ไม่เพียงพอ และภาวะหมดไฟของพนักงาน เป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดที่จะต้องฟันฝ่าไปให้ได้ ทั้งในวันนี้และในอีกสองปีข้างหน้า การศึกษาพบว่าผู้นำและพนักงานมองประสิทธิภาพขององค์กรในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ต่างกัน โดยร้อยละ 74 ของผู้บริหารเชื่อว่าพวกเขาได้ช่วยให้พนักงานเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการทำงานในแนวทางใหม่ๆ แล้ว แต่มีพนักงานเพียงร้อยละ 38 ที่เห็นด้วย โดยร้อยละ 80 ของผู้บริหารระบุว่าพวกเขาดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน ในขณะที่มีพนักงานเพียงร้อยละ 46 ที่รู้สึกว่าได้รับการดูแล
การศึกษาของสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) ในหัวข้อ “โควิด-19 และอนาคตของธุรกิจ” ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงมากกว่า 3,800 ราย ใน 20 ประเทศและ 22 อุตสาหกรรม แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารกำลังเผชิญกับจำนวนโปรเจคท์ใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาด รวมถึงความยากลำบากในการเลือกโฟกัส อย่างไรก็ดี ผู้บริหารได้เริ่มวางแผนจัดลำดับความสำคัญของทรัพยากรภายในและความสามารถที่จำเป็นต่อการดำเนินงานไว้แล้ว เช่น ทักษะและความยืดหยุ่นของบุคลากร ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจัดการเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว
“สำหรับองค์กรจำนวนมากแล้ว การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นได้ทำลายอุปสรรคของการก้าวสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่องค์กรต้องเผชิญก่อนหน้านี้ลง และผู้นำได้หันมาให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากขึ้นสำหรับการดำเนินงาน mission-critical ขององค์กร” นายมาร์ค ฟอสเตอร์ รองประธานอาวุโสของไอบีเอ็ม เซอร์วิสเซส กล่าว “เมื่อมองไปข้างหน้า ผู้นำจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรเพิ่มขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับเวิร์คโฟลว์และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของบุคลากร เราไม่อาจมองข้ามพลังของความเป็นผู้นำที่มีความเห็นอกเห็นใจ ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงผลักดันให้เกิดความมีประสิทธิผลและสุขภาวะของพนักงานท่ามกลางดิสรัปชันที่เกิดขึ้น” การศึกษายังแสดงให้เห็นถึงสามขั้นตอนเชิงรุกที่ผู้นำรุ่นใหม่กำลังใช้ เพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตได้
การปรับปรุงความสามารถในการสเกลและความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน
ดิสรัปชันอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นว่าการสร้างธุรกิจที่พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงมีความสำคัญเพียงใด ผู้บริหารจำนวนมากกำลังเผชิญกับความผันผวนของอุปสงค์ ความท้าทายใหม่ๆ ในการสนับสนุนพนักงานที่ทำงานจากระยะไกล และความต้องการในการลดต้นทุน
นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าองค์กรส่วนใหญ่กำลังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ขององค์กรอย่างถาวร ตัวอย่างเช่น ร้อยละ 94 ของผู้บริหารวางแผนที่เข้าร่วมในโมเดลธุรกิจแบบแพลตฟอร์มภายในปี 2565 และผู้บริหารจำนวนมากยังระบุว่าพวกเขาจะเพิ่มการมีส่วนร่วมในอีโคซิสเต็มและเครือข่ายพันธมิตร
การนำกลยุทธ์ใหม่ๆ เหล่านี้สู่การปฏิบัติอาจจำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่สามารถสเกลและยืดหยุ่นได้มากขึ้น ผู้บริหารได้คาดการณ์เรื่องนี้ไว้แล้ว โดยผู้ตอบแบบสำรวจวางแผนที่จะเพิ่มลำดับความสำคัญของเทคโนโลยีคลาวด์ขึ้นร้อยละ 20 ในอีกสองปีข้างหน้า นอกจากนั้น ผู้บริหารที่ตอบแบบสำรวจยังได้วางแผนที่จะย้ายฟังก์ชันธุรกิจของตนไปสู่คลาวด์มากขึ้นในอีกสองปีข้างหน้า โดยส่วนงานที่เกี่ยวกับการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าและการตลาด เป็นสองอันดับแรกที่จะย้ายสู่คลาวด์
การใช้เอไอ ออโตเมชัน และเทคโนโลยีที่พัฒนาแบบก้าวกระโดดอื่นๆ เพื่อช่วยให้เวิร์คโฟลว์มีความชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น
การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทำให้เวิร์คโฟลว์และกระบวนการทำงานที่สำคัญ ซึ่งเป็นหัวใจของการดำเนินงานหลักของหลายๆ องค์กรต้องหยุดชะงัก เทคโนโลยีต่างๆ เช่น เอไอ ออโตเมชัน และไซเบอร์ซิเคียวริตี้ ที่สามารถช่วยให้เวิร์คโฟลว์มีความชาญฉลาด ตอบสนองฉับไว และปลอดภัยมากขึ้น กำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในมุมมองของผู้บริหารทั่วโลกทั้งหมดที่ตอบแบบสำรวจ โดยในอีกสองปีข้างหน้า ข้อมูลรายงานชี้ว่า:
- ลำดับความสำคัญของเทคโนโลยีเอไอจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20
- ร้อยละ 60 ของผู้บริหารระบุว่าพวกเขาได้เร่งพัฒนากระบวนการทำงานอัตโนมัติ และผู้บริหารหลายคนมองถึงการนำออโตเมชันมาใช้มากขึ้นในทุกฟังก์ชันของธุรกิจ
- ร้อยละ 76 ของผู้บริหารวางแผนที่จะเพิ่มความสำคัญของไซเบอร์ซิเคียวริตี้ โดยเพิ่มขึ้นจากที่ใช้ในปัจจุบันสองเท่า
การนำองค์กร ความมีส่วนร่วม และการเพิ่มศักยภาพให้แก่พนักงานด้วยวิธีการใหม่ๆ
การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการปรับโฟกัสความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องคนอาจจำเป็นอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ เนื่องจากพนักงานจำนวนมากยังทำงานจากนอกสำนักงาน แถมยังต้องรับมือกับความเครียดส่วนตัวและความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น
การวิจัยผู้บริโภคของ IBV อย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นว่า ความคาดหวังของพนักงานที่มีต่อนายจ้างได้เปลี่ยนแปลงไปท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาด โดยวันนี้พนักงานคาดหวังว่านายจ้างจะต้องออกมาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพนักงาน รวมถึงสนับสนุนการสร้างทักษะที่จำเป็นในการทำงานด้วยวิธีการใหม่ๆ
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ไอบีเอ็มแนะนำว่าผู้บริหารควรให้ความสำคัญกับบุคลากรของตนอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญกับสุขภาวะในทุกๆ ด้านของพนักงานเป็นอันดับแรก ผู้นำที่บริหารด้วยใจ และส่งเสริมให้พนักงานรับผิดชอบงานในความรับผิดชอบของตน รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการทำงานในลักษณะทีมงานที่บริหารตนเอง ภายใต้แนวคิดดีไซน์ธิงค์กิง การทำงานแบบ Agile รวมถึงเครื่องมือและเทคนิค DevOps จะได้รับประโยชน์จากแนวทางดังกล่าว นอกจากนี้ องค์กรควรคิดถึงการนำโมเดลการพัฒนาทักษะแบบองค์รวมหลายๆ รูปแบบมาใช้ เพื่อช่วยให้พนักงานพัฒนาทั้งทักษะเชิงพฤติกรรมและทักษะทางเทคนิคที่จำเป็นสำหรับการทำงานในวิถีใหม่ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง