มทร.ธัญบุรี ยกทัพนักศึกษากว่า 400 ชีวิต ลงพื้นที่ตลาดนัดจตุจักร กรุงเทพมหานคร ฝึกนักศึกษาคิดและปฏิบัติจริง สู่การเป็นผู้ประกอบการ ผ่านโครงการนวัตกรรมสร้างงานสร้างอาชีพ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) มีแนวความคิดและตะหนักถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่เป็นนวัตกร ซึ่งกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยใช้องค์ความรู้ที่ได้ศึกษามาพัฒนา ประยุกต์ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยให้เกิดเป็นนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “ปั้นนวัตกร สู่ผู้ประกอบการ”
ซึ่งจะทำให้นักศึกษามีโอกาสได้เรียนรู้ถึงความต้องการของผู้บริโภค และนำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ และให้นักศึกษาได้มีโอกาสได้ฝึกปฏิบัติ ได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริง และฝึกให้นักศึกษาสามารถเป็นผู้ประกอบการในอนาคต และเป็นการตอบโจทย์ของการพัฒนาประเทศ ต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด เผยว่า ทางมหาวิทยาลัยต้องขอขอบคุณท่านวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ นายกสภามหาวิทยาลัย ให้แนวคิดและประสบการณ์ที่ต้องการให้นักศึกษาได้ฝึกคิดปฏิบัติจริง เพื่อเป็นผู้ประกอบการในอนาคต ใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ ซึ่งไม่ใช่องค์ความรู้เพียงศาสตร์เดียว
ทางมหาวิทยาลัยมีทั้งหมด 11 คณะ และวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย นำความรู้ของศาสตร์หลาย ๆ ด้านมาบูรณาการด้วยกัน ศึกษาและเรียนรู้ด้วยกัน เรียกว่าการบูรณาการข้ามศาสตร์ แล้วนำความรู้มาใช้ในการพัฒนาและเป็นผู้ประกอบการในอนาคตตรงกับความต้องการของบัณฑิตในศตวรรษที่ 21
วัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัยต้องการให้บัณฑิตเป็นนวัตกร การที่จะเป็นนวัตกรได้ต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้ประเทศชาติของเรา “สำหรับโครงการนวัตกรรมสร้างงานสร้างอาชีพ เป็นกิจกรรมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ในการปฏิบัติจริง โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 400 คน โดยแบ่งออกกลุ่ม กลุ่มละ 12 -15 คน
กิจกรรมในวันแรกเป็นส่วนในเรื่องของการอบรมให้ความรู้ คำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ตรง ได้รับเกียรติจาก นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) วิทยาการถ่ายทอดความรู้ ตลอดจนผู้ประกอบการศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในดำเนินธุรกิจและยังได้มีการถ่ายททอดความรู้ในเรื่องของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เพื่อนำความรู้ลงไปยังพื้นที่
เมื่อนักศึกได้ลงพื้นที่ได้เห็นผลิตภัณฑ์ เห็นกิจกรรมบริการต่าง ๆ นำความรู้มาพัฒนาและต่อยอดเป็นผู้ประกอบการในอนาคต จากนั้นนำความรู้ที่ได้มานำเสนอ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตกิตติมศักดิ์ และศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จมาให้คำแนะนำ
หลังจากการนำเสนอจะมีการคัดเลือกกลุ่มที่มีไอเดียดี ๆ ที่สามารถเป็นผู้ประกอบการ ทางมหาวิทยาลัยให้ทุนสนับสนุนเป็นผู้ประกอบระหว่างเรียนจนสำเร็จการศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษาทาง มทร.ธัญบุรี มีหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ (UBI) ให้ทุนสนับทุกคนพร้อมเป็น Star up เป็นผู้ประกอบการในอนาคต และจะเป็นผู้ดูแลนักศึกษาตลอดไป
ทางด้านนายวีระศักดิ์ วงษ์สมบัติ นายกสภามหาวิทยาลัย มทร.ธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมดังกล่าวต้องการเชื่อมการศึกษาและการทำมาหากินให้เป็นโลกเดียวกันให้ได้ ทาง มทร.ธัญบุรี กำลังขับเคลื่อนเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรม จึงมีแนวคิดในการผสมผสานกันให้เป็นรูปธรรมเข้าใจง่าย เชื่อมโลกของการศึกษาและการทำมาหากินให้เป็นโลกใบเดียวกัน
โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาเป็นพลังในการขับเคลื่อน ประกอบทางมหาวิทยาลัย มีคณะกรรมการสร้างงานสร้างอาชีพ ผ่านกิจกรรมนักศึกษาลงพื้นที่ศึกษาดูงาน แบ่งกลุ่มการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ องค์ความรู้ที่ต่างกัน มาแลกเปลี่ยนกัน เกิดเป็นนวัตกรรม หวังว่านักศึกษาทุกกลุ่มสามารถผลิตสินค้าของฝากของขวัญในสัปดาห์ปีใหม่ที่มาจากนวัตกรรม
“เฟริน์” นางสาวอรปรียา ชนะอินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร เล่าว่า สนใจโครงการนี้มาก ด้วยทำกรอบรูปทำมือขายผ่านไอจีมาตั้งแต่ชั้น ม.6 แต่ช่วงนี้เรียนหนักจึงพังไว้ก่อน จึงเข้าร่วมโครงนี้เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการนี้ไปต่อยอดในอนาคต เทคนิคใหม่ ๆ เป็นประสบการณ์และได้ไอเดียที่ดีในการนำไปประยุกต์ใช้ มีวิทยากรและผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาถ่ายทอดและเทคนิคให้ฟัง รวมถึงได้ลงพื้นที่ตลาดนัดจัตุจักร หาข้อมูล สินค้า รูปแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ เป็นโครงการที่ดีมาก
“มีน” นายปัณณพร อมรจันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ เล่าว่า อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งทางครอบครัวอยากเปิดร้านขายอาหารเล็ก ๆ มาลงพื้นที่ในวันนี้ จึงเจาะจงไปที่ร้านอาหารในสวนจัตุจักร สัมภาษณ์ผู้ประกอบการอาหารเกี่ยวกับแหล่งขายวัตถุดิบ การบริการต่าง ๆ ที่สร้างความประทับใจทำอย่างไรจึงดึงดูดลูกค้า ซึ่งทุกร้านให้ความร่วมมือและแนะนำเป็นอย่างดี ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนคณะอื่นอีกด้วย
ทางด้านผู้ประกอบการศิษย์เก่าจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เจ้าของแบรนด์รฉัตร นางสาว รฉัตร โรจนพิชยกุล เล่าว่า โครงการนี้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจและมุมมองความคิดให้กับน้อง ๆ อยากให้น้อง ๆ รู้ว่าโอกาสมีได้ทุกที่ และที่สำคัญต้องใส่ความชอบลงไป ชอบอะไรถนัดอะไร ทำให้มีความสุขและประสบความสำเร็จ และทำให้มันเต็มที่ โดยตนเองเริ่มต้นธุรกิจขายของมาตั้งแต่ปี 1 จนมาถึงทุกวันนี้มีแบรนด์เป็นของตัวเอง โครงการนี้เป็นเหมือนแนวทางให้น้อง ๆ ได้เห็นแนวทางและสามารถนำไปปรับใช้ได้
ผศ.ดร.สมหมาย กล่าวทิ้งท้ายว่า มทร.ธัญบุรีมีความมั่นใจว่าบัณฑิตนอกจากที่จะทำงานในสายงานที่มีความเชี่ยวชาญแล้ว ยังสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ สามารถแก้ปัญหาภาวะการมีงานของบัณฑิตในอนาคต บัณฑิตของ มทร.ธัญบุรี เป็นผู้สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศต่อไป