“อนุชา นาคาศัย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผนึกกำลัง กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งพัฒนาพื้นที่ชัยนาท ร่วมคิกออฟโครงการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยกลไกและเครื่องมือ การพัฒนาของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน โดย กสอ.- กทบ. บูรณาการดึงจุดขาย 4 ชุมชน “สรรพยา -มโนรมย์ -บ้านเนินขาม-ชุมชนสรรค์บุรี”ถ่ายทอดองค์ความรู้ พัฒนาฝึกอบรม นักออกแบบชุมชนร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ประจำถิ่นใส่โลโก้อัตลักษณ์สร้างจุดต่างกระตุ้นยอดขายตอบโจทย์นักท่องเที่ยว เพิ่มรายได้ชุมชน
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังจากการเป็นประธาน เปิดโครงการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฐานรากด้วยกลไกและเครื่องมือการพัฒนาของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน
โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งอันจะเป็นกำลังสำคัญในการยกระดับคุณภาพสังคม คุณภาพชีวิต และส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นจึงมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐเร่งหาแนวทางและการบูรณาการร่วมกันเพื่อส่งเสริม และยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ขานรับนโยบายดังกล่าว จึงเร่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนปณิธานของนายกรัฐมนตรีให้เป็นรูปธรรม
โดยได้ผนึกความร่วมมือระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมือง (กทบ.) เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการในชุมชนให้มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากโดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จากการพัฒนาอาชีพให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น
นายอนุชากล่าวต่อว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ประกอบการ OTOP และชุมชน เกิดการสร้างงานสร้างรายได้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเศรษฐกิจฐานราก ที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรนั้นมีความสำคัญและต้องช่วยเหลือเป็นอันดับแรก โดยขณะนี้กำลังเสนอนโยบายต่อภาครัฐที่จะตอบโจทย์ประเทศ ด้วยแนวคิด “เงินจากดิน” หรือ “เงินบาทแรกของแผ่นดิน”
ซึ่ง “เงินจากดิน” หมายถึงการสร้างกำลังซื้อให้แก่พี่น้องเกษตรกรที่มีอยู่จำนวนประมาณ 25 ล้านคนทั่วประเทศที่เพาะปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม อ้อย ข้าวโพด และเลี้ยงสัตว์ ให้สามารถมีกำลังซื้อ มีเงินเหลือไปจับจ่ายใช้สอย ช่วยขับเคลื่อนตลาด โรงงาน ภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจประเทศต่อไป โดยที่ภาครัฐให้การอุดหนุนผ่านวิธีต่างๆทั้งการพยุงราคาสินค้าเกษตร การประกันราคาผลผลิตทางการเกษตร และการสนับสนุนปัจจัยในการผลิตต่าง ๆ แก่เกษตรกรทุกสาขาอาชีพ เพื่อให้ขายได้มากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มโดยภาครัฐใช้งบประมาณไม่มาก
“เมื่อเกษตรกรมีรายได้เพิ่มไปจับจ่ายใช้สอยจะส่งผลดีต่อพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี(SME) ขายของได้มากขึ้นภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของภาครัฐจะมีรายได้จากการเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาและอื่น นำมาพัฒนาประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป”
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้รับมอบหมายจากท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เร่งดำเนินการหาแนวทาง การส่งเสริมและยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ดังนั้น กรมฯ จึงได้จัดทำโครงการสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อนำองค์ความรู้ด้านการประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ
การส่งเสริมชุมชนให้มีความพร้อมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากและประสบการณ์ดำเนินงานจากโครงการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ หมู่บ้าน CIV ที่ดำเนินการ กว่า 230 แห่งทั่วประเทศ ตกผลึกเป็นองค์ความรู้พิเศษเพื่อยกระดับศักยภาพให้กับวิสาหกิจชุมชนในพื้นเป้าหมายให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง หรือ Identity โดยอาศัยองค์ประกอบจากวัตถุดิบ ในชุมชนนั้น ๆ เชื่อมโยงเรื่องราววิถีชุมชนเพื่อเป็นจุดขาย
ซึ่งเบื้องต้น กสอ. บูรณาการความร่วมมือกับทาง กทบ. โดยเข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้ส่งเสริมทักษะการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ และการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดให้กับชุมชน และกลุ่มสมาชิกลูกค้าของทาง กทบ. ภายใต้หลักสูตรการพัฒนาอาชีพของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center 4.0 :ITC 4.0) และศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center: Thai – IDC) ที่จะเปิดฝึกอบรมในหลักสูตรการพัฒนานักออกแบบชุมชน หลักสูตรการทำผ้ามัดย้อม และหลักสูตรการเขียนเทียน กลุ่มสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP
โดยนำร่องในพื้นที่เป้าหมาย 4 ชุมชน ได้แก่ 1.ชุมชนสรรพยา 2.ชุมชนมโนรมย์ 3.ชุมชนลาวเวียงบ้านเนินขาม และ 4.ชุมชนสรรค์บุรี เนื่องจากแต่ละชุมชนมีอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน และมีศักยภาพที่พร้อมนำไปพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และทั้ง 4 ชุมชน ยังถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่แล้ว
ดังนั้น การเข้ามาพัฒนาองค์ประกอบของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สมบูรณ์จะต้องมีผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่จะเป็นจุดขายเพื่อกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวให้กลับมาอีกครั้ง และคาดว่า จะมียอดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 15,000 คนต่อปี หลังจากที่การท่องเที่ยวเกิดการชะลอตัวในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด 19 ทั้งนี้โครงการนี้มีระยะเวลา 9 เดือนและมีเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ชุมชน 20 ผลิตภัณฑ์
นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า กสอ. พร้อมให้การสนับสนุนอย่างครบวงจรเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นรูปธรรมทั้งในด้านเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการให้บริการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว และพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชน
โดยภายในงาน กสอ. ได้มีการจัดบูธกิจกรรม THAI IDC MOBILE UNIT บริการออกแบบบรรจุภัณฑ์อัตลักษณ์ชุมชน กิจกรรม Workshop การทำผ้ามัดยอม การทำสีธรรมชาติการเสริมทักษะการเพิ่มมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพร การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อนักท่องเที่ยวของชุมชนการทำ DIY ผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนหมู่บ้าน CIV และยังมีบูธเงินหมุนเวียนของ กสอ. และ กองทุนหมู่บ้านของทาง กทบ. ที่จะให้บริการให้คำปรึกษาด้านการเงิน ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีสมาชิกกองทุนหมู่บ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่ม OTOP ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ประมาณ 600 คน เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายรักษ์พงษ์ เซ่งเจริญ ผู้อานวยการสานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่า กทบ. และ กสอ. ถือเป็นพันธมิตรที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการยกระดับชุมชน โดยที่ผ่านมาได้มีความร่วมมือในส่งเสริมและสนับสนุนทายาทผู้ประกอบการ OTOP ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ให้มีความพร้อมในการรับช่วงต่อเพื่อพัฒนากิจการมากยิ่งขึ้น
ทั้งในด้านการบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มศักยภาพ ในการผลิตเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชน และในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่ กทบ. และ กสอ. ร่วมกันส่งเสริม และสนับสนุนชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยทาง กสอ. เองจะเข้ามาต่อยอดองค์ความรู้ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่ม OTOP ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท
ซึ่งการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ได้รับความสนใจจากชุมชนในพื้นที่จำนวนมาก แม้ว่าปัจจุบันสมาชิกจะมีผลิตภัณฑ์จัดจำหน่าย อยู่แล้ว แต่ยังต้องการให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในยุคปัจจุบัน ซึ่งการร่วมมือกันในครั้งนี้ ส่งผลให้สมาชิกของ กทบ. เข้าถึงองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่องทางการตลาด อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากยิ่งขึ้น
“โครงการนี้เป็นโครงการแรกระหว่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและกองทุนหมู่บ้าน นำร่องที่ 4 หมู่บ้านของจังหวัดชัยนาทก่อน ซึ่งสินค้าหลักของชาวบ้านคือ สินค้าเกษตร ส่วนสินค้าชุมชนที่จะพัฒนานั้นจะเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เป็นสินค้าจำพวกของฝากที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวเข้ามา ทั้งนี้คาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยสมาชิกมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและมีความสุขมากขึ้น ถ้าดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ ซึ่งกองทุนหมู่บ้านฯ มีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 12.9 ล้านครอบครัว รวม 79,610 หมู่บ้านทั่วประเทศ ส่วนการดำเนินการต่อไปคาดว่า จะขยายไปยังจังหวัดสุโขทัยและอุดรธานี”