แผนพัฒนา 14 ชุมชนใน 3 จว.ใต้

“พิพัฒน์” ส่งมอบแผนการพัฒนาต้นแบบ 14 ชุมชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมมอบ อพท. ลุยต่อเร่งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัย SHA  หวังใช้การท่องเที่ยวสร้างสันติสุข กระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำ สอดคล้องนโยบายรัฐบาล

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในพิธีส่งมอบแผนการพัฒนาต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ช่วงระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560-พ.ศ. 2563) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ใช้องค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนหรือ CBT Thailand

พัฒนาชุมชนต้นแบบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นผลสำเร็จจํานวน 14 ชุมชน ประกอบด้วยจังหวัดยะลา จํานวน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 9 ชุมชนจุฬาภรณ์พัฒนา 10 ชุมชนตาพะเยา ชุมชนอัยเยอร์เวง และ ชุมชนรามัญ จังหวัดปัตตานี จํานวน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนทรายขาว ชุมชนบางปู ชุมชนตะโละกาโปร์ ชุมชนบานา และ ชุมชนรามัญ และจังหวัดนราธิวาส จํานวน 4 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดชลธาราสิงเห ชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์ 12 ชุมชนบ้านภูเขาทอง และชุมชนตลาดน้ำยะกัง

ทั้งนี้การดำเนินงานดังกล่าวนับเป็นแผนดำเนินการพัฒนาในระยะต้น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงมอบให้ อพท. เร่งพัฒนายกระดับให้แก่ชุมชนทั้ง 14 แห่ง ต่อไปอีกในรูปแบบของแผนระยะกลาง และระยะยาว อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ชุมชนท่องเที่ยว ซึ่งแผนการพัฒนาในระยะกลาง และระยะยาว ที่จะดำเนินการต่อไป  

โดยให้ดำเนินงานในรูปแบบการบูรณาการกับทุกหน่วยงานในพื้นที่ในการที่จะส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ผลที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งเสริมให้เกิดการเดินทางและท่องเที่ยวภายในประเทศ จาก โครงการเราเที่ยวด้วยกัน พร้อมทั้งส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือ SHA

รวมไปถึง มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน CBT Thailand ผลักดันให้ชุมชนยกระดับขีดความสามารถที่สูงขึ้น และบริหารจัดการตนเองได้ โดยยังคงมีเป้าหมายเดียวกันคือ การยกระดับความอยู่ดีมีสุข ความสามัคคีปรองดอง และความสงบสุขของชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“แนวความคิดที่นำองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เกิดความยั่งยืน มาจากการได้เห็นศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด ที่ยังคงมีความสวยงาม สมบูรณ์ มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ความหลากหลายทางวัฒนธรรม จึงควรมีหน่วยงานที่มีองค์ความรู้ด้านการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น อพท. เข้าไปถ่ายทอดองค์ความรู้

โดยใช้แนวทางการจัดการการท่องเที่ยวไปช่วยพลิกฟื้นและสร้างโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับการพัฒนา อันจะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนในชุมชน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีรายได้อย่างยั่งยืนสามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวในชุมชนได้ด้วยตัวเอง ขณะที่นักท่องเที่ยวต้องสัมผัสได้ถึงความปลอดภัย ความสะอาดสวยงาม การได้รับบริการด้วยใจ”

โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อพท. ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ซึ่งมีภารกิจในการสร้างองค์ความรู้และแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในบริบทการท่องเที่ยว พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีร่วมพัฒนา ทั้งหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยงานในพื้นที่

ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สก.สว., สํานักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส., จังหวัดยะลา  จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และศูนย์อํานวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่นําความเชี่ยวชาญตามบทบาทของตนเองมาร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้นแบบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เป้าหมายหลักการดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและส่งเสริมให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ สนับสนุน ให้เกิดการเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นสู่ตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีคุณภาพ

รวมถึงการร่วมกันถอดบทเรียน ติดตามประเมินผลการพัฒนาชุมชนต้นแบบ และขยายผลเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดจากกระบวนการพัฒนาสู่ชุมชนอื่น แสดงให้เห็นถึงความเป็นรูปธรรมของการใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม

และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อผลสัมฤทธิ์ คือ ความสามัคคีปรองดอง และความสงบสุขในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะเป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นๆใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เรียนรู้กันต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *