มาสเตอร์การ์ดเผยผลสำรวจดัชนีผู้ประกอบการสตรี (Mastercard Index of Women Entrepreneurs 2020)ชี้ โควิด-19 ฉุดความก้าวหน้าของผู้หญิงในภาคธุรกิจ
- ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ติด 20 อันดับแรกของดัชนีผู้ประกอบการสตรี ซึ่งติดตามประเทศที่มีสภาพเกื้อหนุนและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการมากที่สุด ได้แก่ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ประเทศไทย ไทเปฮ่องกง ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
- ไทยได้อันดับที่ 11 ของดัชนีผู้ประกอบการสตรี
- ไทยได้อันดับที่ 6 สำหรับการสนับสนุนผู้หญิงให้มีความก้าวหน้าทางด้านอาชีพการงานและมีส่วนร่วมต่อความเจริญของเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ มาสเตอร์การ์ด ได้เผยข้อมูลจากดัชนีผู้ประกอบการสตรี (Mastercard Index of Women Entrepreneurs 2020) ประจำปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ 4 ที่มาสเตอร์การ์ดได้ติดตามความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้หญิงใน 58 ประเทศ หรือคิดเป็นเกือบ 80% ของแรงงานหญิงทั่วโลก โดยได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานและสถาบันระดับประเทศ องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ และรายงานการศึกษาต่างๆ และมีการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลที่ครอบคลุมถึงช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ดัชนีของมาสเตอร์การ์ดพบว่า 3 ประเทศแรกที่มีสภาพเกื้อหนุนและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการมากที่สุดคือ ประเทศอิสราเอล สหรัฐอเมริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ตามลำดับ ผลลัพธ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าประเทศที่ได้อันดับต้นๆ คือประเทศที่มีการดำเนินงานที่เฉพาะเจาะจงสำหรับเพศหญิง มีการเน้นสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมและปรับเปลี่ยนทัศนคติด้านวัฒนธรรมที่เกื้อหนุนและเปิดโอกาสให้เพศหญิงในภาคธุรกิจได้แสดงศักยภาพ ตลอดจนการสร้างแรงบันดาลใจโดยนำเอาผู้นำหญิงที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบ
ยกตัวอย่างประเทศอิสราเอล นอกจากจะขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในปีนี้จากที่ 4 เมื่อปี 2562 อิสราเอลยังประสบความสำเร็จอย่างมากในการผลักดันตัวเองให้ขยับขึ้นจากอันดับที่ 42 มาเป็นอันดับ 1 ของเกณฑ์การสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีของรัฐบาล (Support for SMEs) ซึ่งเป็นผลมาจากที่รัฐบาลอิสราเอลมีความตั้งใจที่จะเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการหญิงเป็น 2 เท่าภายใน 2 ปีผ่านการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีโดยภาคสถาบัน
20 อันดับประเทศที่มีสภาพเกื้อหนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีมากที่สุด
อันดับ | ประเทศ | อันดับเปลี่ยนแปลงจากปี 2562 | คะแนนความเกื้อหนุนต่อผู้ประกอบการสตรี | อันดับ | ประเทศ | อันดับเปลี่ยนแปลงจากปี 2562 | คะแนนความเกื้อหนุนต่อผู้ประกอบการสตรี |
1 | อิสราเอล | ↑3 | 74.7 | 11 | ไทย | ↓1 | 66.9 |
2 | สหรัฐอเมริกา | — | 74.0 | 12 | ไทเป | ↑3 | 66.6 |
3 | สวิตเซอร์แลนด์ | ↑8 | 71.5 | 13 | ไอร์แลนด์ | ↓8 | 66.3 |
4 | นิวซีแลนด์ | ↓3 | 70.1 | 14 | โคลอมเบีย | ↑10 | 66.3 |
5 | โปแลนด์ | ↑11 | 68.9 | 15 | ฮ่องกง | ↓8 | 65.8 |
6 | สหราชอาณาจักร | ↑2 | 68.7 | 16 | ฟิลิปปินส์ | ↓10 | 65.5 |
7 | แคนาดา | ↓4 | 68.6 | 17 | อินโดนีเซีย | ↑5 | 65.2 |
8 | สวีเดน | ↑17 | 68.3 | 18 | ฝรั่งเศส | ↑1 | 65.1 |
9 | ออสเตรเลีย | — | 67.5 | 19 | โปรตุเกส | ↓6 | 64.9 |
10 | สเปน | ↑4 | 67.3 | 20 | เดนมาร์ก | ↓3 | 64.9 |
(ตัวอักษรหนาคือ ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก)
ปีนี้ ในภาพรวมประเทศไทยได้อันดับที่ 11 ตกลงมา 1 อันดับเมื่อเทียบกับปี 2562 (แต่ได้คะแนนเพิ่มขึ้น 2.5%) และตกลงมา 2 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 6 (คะแนนน้อยลง 0.3%) ของเกณฑ์วัดผลความก้าวหน้าของสตรี (Women’s Advancement Outcome) ที่วัดความก้าวหน้าและระดับการยอมรับทางทัศนคติที่มีต่อสตรีในฐานะผู้นำทางธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ และแรงงานที่มีประสิทธิภาพและความสามารถในหน้าที่การงานและระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ทั้งนั้น นับว่าไทยทำได้ดีในการสนับสนุนผู้หญิงให้มีความก้าวหน้าทางด้านอาชีพการงานและการมีบทบาทต่อความเจริญของเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อมองประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศที่มีการไต่อันดับขึ้นมากที่สุดคือ จีนแผ่นดินใหญ่ (+6) และอินโดนีเซีย (+5) ขณะเดียวกัน ประเทศที่อันดับตกมากที่สุดคือ สิงคโปร์ (-12) ฟิลิปปินส์ (-10) ฮ่องกง (-8) และเวียดนาม (-7)
และนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ดัชนีพบว่า 34 ประเทศจาก 58 ประเทศ มีคะแนนดัชนีผู้ประกอบการสตรีในเกณฑ์ที่ดี อยู่ที่ 60 ถึง 70 คะแนน เช่น ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย จีนแผ่นดินใหญ่ สิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ในขณะที่ 13 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและอินเดีย มีคะแนนอยู่ในช่วง 50 ถึง 60
โควิด-19 มาพร้อมอุปสรรคและโอกาสในเวลาเดียวกัน
ผลวิเคราะห์ของดัชนีประจำปี 2563 ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อผู้ประกอบการหญิงอย่างชัดเจน โดย 87% ของผู้ประกอบการหญิงระบุว่าได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะธุรกิจในภาคท่องเที่ยว ค้าปลีก และอาหาร ทั้งยังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศที่มีแต่จะหนักขึ้นอันเป็นผลจากการก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลที่รวดเร็วขึ้น และยังต้องแบกรับภาระเลี้ยงดูบุตรในช่วงที่โรงเรียนต้องปิดชั่วคราว ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงส่วนนึงเท่านั้นที่ทำให้ผู้หญิงมีความเปราะบางต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“ผลสรุปจากดัชนีที่มาสเตอร์การ์ดได้จัดทำขึ้นชี้ให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นปัญหาเรื้อรังที่หลายประเทศล้วนประสบตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าประเทศนั้นๆ จะมีสภาพเศรษฐกิจ ระดับความเจริญ ขนาด และภูมิศาสตร์เป็นอย่างไรก็ตาม และเมื่อมีโควิดปัญหานี้จึงหนักขึ้น ด้วยข้อจำกัดของผู้หญิงทางด้านสายอาชีพและลักษณะงาน ความรับผิดชอบต่อครอบครัวและบุตร และความไม่เท่าเทียมทางเพศในการทำธุรกิจ ทำให้การดำรงชีวิตของผู้หญิงได้รับผลกระทบมากกว่าของผู้ชาย” จูเลียน โลห์ รองประธานกรรมการบริหารความร่วมมือระหว่างองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด กล่าว
“ในเวลานี้ รัฐบาล ผู้ให้บริการทางการเงิน และองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องร่วมมือกันทำ 3 สิ่ง นั่นคือ หนึ่ง ให้การสนับสนุนและจัดตั้งมาตรการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบเพื่อให้ผู้หญิงสามารถเอาตัวรอดและดำเนินชีวิตต่อไปได้ในยุคนิวนอร์มอล สอง เสริมทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในโลกดิจิทัล และสาม ช่วยให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและการทำงานได้อย่างง่ายดายและเท่าเทียม แม้ว่า 3 สิ่งนี้ยากที่จะทำให้สำเร็จได้ แต่การลงทุนเช่นนี้จะทำให้เกิดผลประโยชน์อย่างมหาศาล ไม่เพียงต่อผู้หญิงแต่ต่อสังคมโดยรวมด้วยเช่นกัน”
อย่างไรก็ดี ผลวิเคราะห์ของดัชนีมองว่าอนาคตของผู้ประกอบการหญิงจะเป็นไปในเชิงบวก โควิดได้กลายเป็นตัวเร่งให้ผู้หญิงเติบโตอย่างก้าวกระโดดในภาคธุรกิจและสร้างโอกาสในการปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิง เนื่องจากโควิดได้สร้างสถานการณ์ที่ผู้หญิงสามารถแสดงออกถึงความเป็นผู้นำในการทำธุรกิจ และสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงด้วยกันเองที่อาจกำลังกลัวหรือประสบกับอุปสรรคทางวัฒนธรรม ซึ่ง 47.8% ของผู้ประกอบการหญิงระบุว่า มีความต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นเป็นแรงผลักดันในการดำรงชีวิต นอกจากนี้ ผู้หญิงในภาคธุรกิจได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับโลกใหม่ของการทำงานอย่างโดดเด่น โดย 42% ได้เปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปเป็นรูปแบบดิจิทัลแล้ว และ 34% มองเห็นโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจหลังจากเกิดโควิด-19
ผลวิเคราะห์ข้อมูลยังพบอีกว่า แม้ว่าแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน แต่แนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ ภาครัฐจำต้องออกมาตรการบรรเทาทุกข์ที่ครอบคลุมสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี ตั้งแต่การสมทบเงินจ้างตลอดจนโครงการพักงานชั่วคราวและการช่วยเหลือทางการเงิน รวมถึงการช่วยเหลือด้านการดูแลบุตร
การใช้ประโยชน์จากโมเมนตัมนี้และการสนับสนุนการดำเนินงานที่เฉพาะเจาะจงสำหรับเพศหญิงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงถึงศักยภาพ ทั้งยังช่วยชดเชยเงินมูลค่า 172 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่ทั่วโลกจะสูญเสียจากความต่างของรายได้ตลอดชีวิตระหว่างเพศหญิงและเพศชาย (อ้างอิงจากธนาคารโลก)
ความมุ่งมั่นของมาสเตอร์การ์ดในการผลักดันให้สังคมเกิดการพัฒนาอย่างครอบคลุม
ดัชนีผู้ประกอบการสตรีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภารกิจหลักของมาสเตอร์การ์ดในการส่งเสริมความก้าวหน้าของผู้ที่อยู่นอกระบบและผู้ด้อยโอกาส โดยเน้นสนับสนุนและช่วยพัฒนาผู้ประกอบการหญิงและธุรกิจขนาดเล็กผ่านโครงการริเริ่มต่างๆ เช่น โครงการ Start Path และ Path to Priceless ซึ่งในปี 2563 มาสเตอร์การ์ดได้ขยายความมุ่งมั่นในการให้บริการทางการเงินทั่วโลก โดยให้คำมั่นว่าจะนำผู้คน 1 พันล้านคน และธุรกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก 50 ล้านราย เข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลภายในปี 2568 ส่วนหนึ่งของความพยายามนี้จะมุ่งเน้นโดยตรงไปที่การจัดหาโซลูชัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการระดมทุน การให้คำปรึกษา และเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการหญิง 25 ล้านคนขยายธุรกิจของตนได้
- ดาวโหลด ดัชนีผู้ประกอบการสตรี ประจำปี 2563 และเอกสารประกอบ ได้ที่นี่
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความพยายามของมาสเตอร์การ์ดในการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้หญิง ได้ที่นี่