45 พันธมิตร ทั้งระดับประเทศและระดับโลกร่วมผนึกพลัง เร่งผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนตลอดวงจรการผลิต-บริโภค-นำกลับมาใช้ใหม่ให้คุ้มค่ารณรงค์ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” แก้วิกฤตทรัพยากรขาดแคลนและขยะล้นโลกพร้อมเตรียมยื่นข้อเสนอการจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ
45 พันธมิตรภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งระดับประเทศและระดับโลก ผนึกกำลังในงาน “SD Symposium 10 Years: Collaboration for Action” ระดมสมองลุยแก้วิกฤตทรัพยากรด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รณรงค์การ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตลอดวงจรการผลิต การบริโภค และการนำกลับมาใช้ใหม่ หวังสร้างอุตสาหกรรมยั่งยืน แก้ปัญหาขยะในทะเล สร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น และบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ชี้กุญแจความสำเร็จคือระบบโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างความรู้ความเข้าใจ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี และการกำจัดขยะ พร้อมเตรียมยื่นข้อเสนอการจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “การขยายตัวของประชากรโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นถึง 9.7 พันล้านคนภายในปี ค.ศ.2050 นำไปสู่ความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นมหาศาลขณะที่ทรัพยากรโลกมีจำกัด นอกจากนี้ ข้อมูลยังระบุว่าคนไทยหนึ่งคนสร้างขยะเฉลี่ย 1.15 กิโลกรัมต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ประเทศไทยมีขยะถึง 28 ล้านตัน ซึ่งหากเกิดการทิ้งไม่ถูกต้องหรือขาดการจัดการที่ดี ก็จะมีปัญหาขยะไหลสู่ทะเล จนเกิดการสูญเสียของสัตว์ต่างๆ ดังกรณีพะยูนมาเรียม ดังนั้น แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสนับสนุนการหมุนเวียนทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต (Make-Use-Return) จึงเป็นทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จากการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดกระบวนการ รวมถึงการ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ไม่ทิ้งในแม่น้ำลำคลองหรือทะเล เพื่อส่งต่อทรัพยากรของโลกสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป
ที่ผ่านมา เอสซีจีได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้การดำเนินธุรกิจ ผ่าน 3 กลยุทธ์หลักคือ 1. Reduce และ Durability คือ การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น เช่น การออกแบบกล่องลูกฟูกให้มีลอนขนาดเล็กพิเศษแบบ Micro flute จึงเป็นกล่องบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม ใช้กระดาษน้อยลง แต่ยังคงมีความแข็งแรงสูง และการพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติก PE112 สำหรับท่อส่งน้ำประปาลอดใต้ทะเลไปยังเกาะสมุย ที่มีคุณสมบัติทนแรงดันได้สูงขึ้น ทำให้ลดความหนาของผนังท่อลงได้ จึงใช้เม็ดพลาสติกน้อยลง 2. Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น การพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่ใช้งานได้โดยก่อให้เกิดของเสียบริเวณหน้างานก่อสร้างน้อยที่สุด
อย่างห้องน้ำระบบโมดูลาร์หรือการก่อสร้างแบบสำเร็จรูป แผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป หรืออิฐมวลเบาแบบ cut-to-size การผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารแบรนด์เฟสท์ (Fest) ที่ทำจากเยื่อธรรมชาติ เพื่อทดแทนการใช้กล่องโฟม การพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติก (Flexible Packaging) ที่มีคุณสมบัติแข็งแรง และนำกลับไปรีไซเคิลได้ง่าย และการพัฒนานวัตกรรมเม็ดพลาสติกสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ ที่ช่วยลดน้ำหนักของรถยนต์ แต่ยังคงความแข็งแรง ทำให้ประหยัดพลังงาน และ 3. Reuse หรือ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น การผลิตสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีสัดส่วนวัสดุรีไซเคิลในการผลิตสูงขึ้น การร่วมมือกับร้านค้า Modern Trade และซุปเปอร์มาเก็ตรับกล่องหรือเศษกระดาษกลับมารีไซเคิลเพิ่มขึ้น และการออกแบบสูตรการผลิตเม็ดพลาสติก (Formulation) โดยนำมาผสมกับเม็ดพลาสติกจากเทคโนโลยี SMX ของเอสซีจีที่ช่วยเพิ่มคุณสมบัติของพลาสติกรีไซเคิลให้ดีขึ้น และสามารถเพิ่มสัดส่วนของเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้มากขึ้นถึงร้อยละ 30
โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา เอสซีจีสามารถนำของเสียอุตสาหกรรมมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบทดแทน 313,000 ตันของเสียต่อปี และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน 131,000 ตันของเสียต่อปี และในปี 2562 นี้ ยังคงเดินหน้าการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อไป โดยได้ตั้งเป้าการลดการผลิตพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) จากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 20 ภายในปี 2025 และเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ เป็นร้อยละ 100 ภายในปี 2025
อย่างไรก็ตาม การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น สิ่งสำคัญไม่ใช่เพียงการขับเคลื่อนของรัฐบาลด้วยระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยเฉพาะการออกกฎหมายและการบริหารจัดการระบบจัดเก็บขยะที่เข้มงวด ซึ่งด้วยความเชื่อมั่นว่า “การสร้างการมีส่วนร่วม” ของทุกภาคส่วนจะเป็นกุญแจสำคัญตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นการตื่นตัวของพันธมิตรกว่า 45 ราย ประกอบด้วยองค์กรความร่วมมือระดับโลก 5 ราย ภาครัฐ 3 ราย ภาคเอกชน 29 แห่ง โรงเรียนและชุมชน 8 แห่ง ที่ร่วมทำให้เกิดโมเดลการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและแก้ปัญหาขยะได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
1.) ความร่วมมือเพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน โดยนอกจากการเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายของ The World Business Council for Sustainable Development (WBCSD) หรือสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้ง United Nations (UN) หรือองค์การสหประชาชาติ และหอการค้าไทย เพื่อนำแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมาปรับใช้แล้ว เอสซีจียังสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation) ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้แก่ ความร่วมมือระดับโลก กับกลุ่ม Global Cement and Concrete Association (GCCA) หรือสมาคมซีเมนต์และคอนกรีตโลก โดยลดผลกระทบจากการผลิตซีเมนต์ และสนับสนุนให้ผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่คุณค่าและห่วงโซ่อุปทาน ทราบถึงคุณสมบัติเฉพาะของคอนกรีตซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างที่ตอบโจทย์การก่อสร้างเพื่อรองรับประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และร่วมกับกลุ่ม Circular Economy in Cement Industry (CECI) เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างให้ไปสู่เป้าหมายที่จะไม่มีขยะเกิดขึ้นจากการทำโครงการในอนาคต และ ความร่วมมือกับภาคเอกชน กับบริษัทศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ Recycle Concrete Road โดยนำเศษคอนกรีตที่มีส่วนผสมของซีเมนต์มาใช้ทดแทนหินธรรมชาติในกระบวนการก่อสร้างร่วมกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการ Construction Waste Reducing Project โดยใช้สินค้าระบบผนังสำเร็จรูปแทนการใช้ระบบก่อฉาบอิฐแบบเดิม ซึ่งจะสามารถลดวัสดุเหลือทิ้งจากการติดตั้งได้เกือบร้อยละ 100 และร่วมกับบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) เพื่อสร้างมูลค่าจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในงานก่อสร้าง
อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ ความร่วมมือระดับโลก กับกลุ่ม A Circular Economy for Flexible Packaging (CEFLEX) เพื่อกำหนดทิศทางของบรรจุภัณฑ์ประเภท Flexible Packaging รวมถึงพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อนำกล่องและเศษกระดาษที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิล โดยร่วมกับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ อาทิ เทสโก้ โลตัส, CP All, MAKRO, CPN, Family Mart, วิลล่ามาร์เก็ต, Super Cheap, CJ Express, อิออน (ไทยแลนด์) ธุรกิจบริการขนส่ง อาทิ DHL, Lazada express ธุรกิจการเงินการธนาคาร อาทิ KBANK ธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ไทยเบฟเวอเรจ, กลุ่มธุรกิจ CP ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาทิ แสนสิริ และธุรกิจกลุ่มจัดการเอกสาร อาทิ ไอออนเมาน์เทน นอกจากนี้ ยังร่วมกับ S&P ด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์กรีนที่นำมารีไซเคิลได้ง่าย ส่งเสริมแนวคิดการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสนับสนุนรายได้ของวิสาหกิจชุมชนรอบโรงงาน จากการนำเศษเส้นเทปกระดาษที่ได้จากโรงงานไปจักสานเป็นตระกร้าชุดของขวัญ และ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ได้แก่ ความร่วมมือกับภาคเอกชน ทั้งในต่างประเทศ คือ ร่วมกับBill & Melinda Gates Foundation ในการทำต้นแบบระบบสุขาปลอดเชื้อที่สามารถนำกากของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ในลักษณะสารปรับปรุงดินได้ ร่วมกับ IKEA ในการทำศูนย์รีไซเคิลเพื่อสร้างแรงจูงใจในการรีไซเคิล โดยเอสซีจีช่วยออกแบบวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อประกอบการใช้งานในศูนย์ ร่วมกับ Starboard ในการพัฒนาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ของ Starboard ร่วมกับ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ดำเนินโครงการ Recycle Plastic Road โดยนำพลาสติกมาใช้เป็นส่วนผสมทดแทนยางมะตอยเพื่อใช้สร้างถนน ให้กับโครงการของบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และร่วมกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พัฒนานวัตกรรม Greenovative Lube Packaging นำแกลลอนใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่เป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล
2.) ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาขยะในทะเล ผ่านการสร้างโซลูชั่นที่ช่วยจัดการขยะ (Clean Up) โดยอาศัยทั้ง ความร่วมมือระดับโลก กับกลุ่ม The Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ที่เป็นภาคีกว่า 35 บริษัทชั้นนำระดับโลก เพื่อช่วยลดและจัดการปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะขยะพลาสติกในทะเล ความร่วมมือระดับประเทศ กับกลุ่ม Thailand PPP Plastic ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กลุ่มพลาสติก ที่เป็นภาคีภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการขยะพลาสติกในไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 และลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570 และ ความร่วมมือกับภาครัฐ กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อป้องกันขยะจากแม่น้ำไหลลงสู่ทะเล เช่น การพัฒนาต้นแบบทุ่นกักขยะลอยน้ำ และการศึกษาการจัดเก็บขยะที่เก็บจากแม่น้ำเพื่อนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม
3.) ความร่วมมือเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น ผ่านการสร้างความรู้และความเข้าใจ (Education) โดยอาศัยทั้ง ความร่วมมือกับภาครัฐ กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มประมงพื้นบ้าน ดำเนินโครงการบ้านปลา เปลี่ยนท่อ PE100 ที่เหลือจากกระบวนการทดสอบขึ้นรูป และขยะพลาสติกให้เป็นบ้านปลา ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณและความหลากหลายของสัตว์ทะเลชายฝั่ง ช่วยสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กลุ่มประมงพื้นบ้าน และ ความร่วมมือกับชุมชนเพื่อให้ความรู้และส่งเสริมพฤติกรรมการแยกขยะและการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ในชุมชนบ้านรางพลับ และ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ชุมชน ต.บ้านสา และ ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ภายใต้ความร่วมมือกับภาครัฐ คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชุมชนโขดหิน 2 และชุมชนเขาไผ่ อ.เมือง จ.ระยอง โรงเรียนและชุมชนมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และโรงเรียนและชุมชนรอบบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
4.) ความร่วมมือเพื่อบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดยร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ดำเนินโครงการโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น และแอช เมลติ้ง ที่ทันสมัยสุดจากประเทศญี่ปุ่น เป็นแห่งแรกในอาเซียน ที่มาบตาพุด จ.ระยอง เพื่อกำจัดมลพิษจากวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรม ทำให้ไม่มีวัสดุเหลือที่ในระบบที่ต้องกำจัดเพิ่ม และสามารถนำวัสดุที่เป็นผลพลอยได้จากการกำจัดกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า
ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เอสซีจีได้หยิบยกประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาของสังคม พร้อมตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก มานำเสนอผ่านการจัดงานสัมมนา “SD symposium” เพื่อนำไปสู่การระดมความคิดและร่วมหาแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและขยายแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกระดับ รวมไปถึงการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งในปีที่ผ่านมาและนับจากนี้ไป ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันประเทศไทยและอาเซียนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals : SDGs) ได้อย่างแท้จริง” นายรุ่งโรจน์ กล่าวสรุป
ทั้งนี้ การจัดงานสัมมนาทางวิชาการว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้หัวข้อ “SD Symposium 10 Years : Circular Economy – Collaboration for Action” ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อประสานความร่วมมือของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ในประเทศไทย และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมรับฟังข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการขยะต่อภาครัฐ รวมทั้งผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ผู้แทนจากสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) และผู้แทนจากองค์กรชั้นนำต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่มาร่วมนำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาถอดบทเรียนความสำเร็จจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 1,500 คน ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ทั้งองค์กรขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ นักวิชาการ เอ็นจีโอ และสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ