สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งต้องเฝ้าระวังและดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง แม้ว่ารายงานข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจากข้อมูล 3 ฐาน โดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลที่ใกล้เคียงกับข้อมูลองค์การอนามัยโลกได้รายงานไว้ว่าต่างมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน คือ จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลง
โดยจากข้อมูล 3 ฐาน มีตัวเลขผู้เสียชีวิตลงลง จาก 21,996 คนในปี 2554 คงเหลือเพียง 19,904 คนในปี 2562 คิดเป็น 29.9 คนต่อแสนประชากร ซึ่งปัญหา “ดื่มแล้วขับ” ถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่มีส่วนทำให้เกิดของอุบัติเหตุบนท้องถนนและความสูญเสียต่างๆ และข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ได้รายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย พบว่า มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน โดยมีปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ จาก 7.14 ลิตรต่อคนต่อปีในปี 2559 คงเหลือ 6.86 ลิตรต่อคนต่อปีในปี 2562
แม้ว่าหลายหน่วยงานจะรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อลดสถิติผู้บาดเจ็บ พิการ รวมถึงเสียชีวิตอันเนื่องมาจากเมาแล้วขับ ไม่ว่าจะด้วยมาตรการทางด้านกฎหมายรวมถึงมาตรการด้านสังคมต่างๆ แต่ก็ได้ผลเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ โรงพยาบาลน่าน จึงร่วมกับ สำนักงานคุมประพฤติ จ.น่าน และเครือข่ายเหยื่อเมาไม่ขับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินกระบวนการคุมประพฤติและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดจากเมาแล้วขับ
ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวใช้รูปแบบ “การเรียนรู้เชิงประสบการณ์”โดยให้ผู้ถูกคุมประพฤติได้เห็นและรับทราบประสบการณ์ตรงของเหยื่อเมาแล้วขับ ทั้งที่บ้านของเหยื่อและที่โรงพยาบาล ผลของการดำเนินโครงการมากว่า 4 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการ 308 คน พบว่าโครงการนี้ได้ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ถูกคุมประพฤติได้อย่างดี โดยตัดสินใจที่จะดื่มไม่ขับอย่างเด็ดขาดถึง 89.7% และ เลิกดื่มสุรา 10.3 % นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบันยังไม่พบมีผู้ถูกคุมประพฤติซ้ำแม้แต่รายเดียว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลน่าน เล่าว่า จากการดำเนินงานที่ผ่าน ไม่พบการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักดื่มจากการห้ามหรือบอกให้หยุดดื่มเหล้า จึงเกิดแนวคิดสร้าง กระบวนการคุมประพฤติคนเมาแล้วขับ โดยให้ผู้ถูกคุมประพฤติได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงจากคำบอกเล่าของผู้ประสบเหตุ
เพราะคนที่จะสะท้อนได้ดี คือ คนที่ผ่านความทุกข์ทรมานมาแล้ว โดยในแต่ละปีจะมีผู้ถูกคุมประพฤติที่เข้าร่วมโครงการ ปีละ 2 รุ่น จากช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ และหลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งทางโรงพยาบาลจะนำมาเข้ามาร่วมกิจกรรมและการอภิปรายกลุ่มในรูปแบบสัมภาษณ์กับผู้พิการและบรรยายความรู้เรื่องอันตรายของสุรา
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการแบ่งกลุ่มเรียนรู้หมุนเวียนไปใน 4 จุด คือ 1. เยี่ยมบ้านและสัมภาษณ์ประวัติชีวิตของผู้พิการจากการดื่มแล้วขับ 2. ตึกผู้ป่วยในด้านศัลยกรรม ซึ่งมีผู้ป่วยที่พิการจากดื่มแล้วขับ 3. ตึกผู้ป่วยในด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ ซึ่งมีผู้ป่วยที่พิการจากดื่มแล้วขับ 4. ตึกผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน
“การที่ให้ผู้ถูกคุมประพฤติสัมภาษณ์ความรู้สึกของผู้ประสบเหตุ โดยเรามีผู้ป่วยติดเตียง พี่อังคาร จรเทศ ยินดีเป็นวิทยาทานบอกเล่าประสบการณ์ จะทำให้เขาได้เห็นว่า หากไม่ถูกจับก่อนแล้วเกิดอุบัติเหตุจนพิการจะทุกข์ทรมานเพียงใด และถ้าหากยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม แล้วเขาจะต้องเจออะไรบ้าง เพราะการใช้กฎหมายไม่ได้ผล เขาไม่กลัวถูกลงโทษ จึงต้องให้ประสบการณ์ตรงสอน” นพ.พงศ์เทพกล่าว
ด้าน นางกานต์สุดา สิงห์สาร เจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติ จ.น่าน กล่าวว่า การริเริ่มโครงการนี้ วัตถุประสงค์ไม่เพียงแต่บังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวแต่เรายังต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ถูกคุมประพฤติด้วยขบวนการเรียนรู้ในเชิงประสบการณ์จะสร้างผลสะท้อนกลับได้ดี การบริการสังคมด้วยการเข้าไปช่วยงานที่โรงพยาบาล เขาจะได้เห็นผู้ประสบเหตุตามตึกต่างๆ ทั้งตึกอุบัติเหตุ ตึกศัลยกรรมกระดูก จะทำให้เกิดความกลัวและไม่อยากเป็นเช่นนั้น
ผลลัพธ์ที่ได้กลับมานั้นนับว่าดีมากโดยผู้ที่เข้ากระบวนการเหล่านี้ราว 10% เลือกที่จะเลิกดื่มเหล้าถาวร ส่วนที่เหลือก็ล้วนให้คำมั่นสัญญาที่จะลดการดื่มและหากดื่มแล้วจะไม่ขับอีกต่อไป อย่างไรก็ดี การที่จะให้เกิดขบวนการเรียนรู้และขยายผลการดำเนินงานออกไปจะอาศัยเพียงการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลอย่างเดียวไม่เพียงพอ จึงมีการร่วมมือกับเทศบาลเมืองน่านเพื่อสร้างให้เมืองน่านเป็นชุมชนปลอดภัยด้วย
ขณะที่ นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน กล่าวเสริมว่า ความปลอดภัยเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญของการสร้างเมืองน่านอยู่สำหรับประชาชนและผู้ที่เดินทางเข้ามา โดยการทำงานของเทศบาลเมืองน่าน เริ่มจากการวิเคราะห์เหตุแห่งความไม่ปลอดภัยทั้งในเมืองและชุมชน จนเกิดเป็นตัวชี้วัดใน 13 เรื่อง หากดำเนินการบรรลุผลก็จะนำมาสู่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งจากความพยายามรณรงค์ด้านความปลอดภัย ทั้งความปลอดภัยบนท้องถนน พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ พบว่าเป็นเรื่องยากที่จะสร้างจิตสำนึกให้กับผู้ใหญ่หรือผู้ที่โตแล้ว ซึ่งแตกต่างกับการปลูกฝังในเด็กที่มักจะง่ายกว่า เช่น ตัวอย่างจากการสร้างเสริมพฤติกรรมการใช้หมวกนิรภัย พบว่าจากเดิมที่มีการสวมใส่ราว 43% แต่เมื่อทำงานรณรงค์ในกลุ่มเด็ก บางแห่งกลับมีสถิติเพิ่มขึ้นเป็น 100% เป็นผลพวงจากการดำเนินโครงการศูนย์เด็กเล็กปลอดภัย
ด้าน นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ตัวอย่างของเทศบาลเมืองน่าน นับเป็นโมเดลที่น่าสนใจจากการสร้างส่วนร่วมของชุมชนเพื่อเข้ามาร่วมกันทำให้เกิดชุมชนปลอดภัย ซึ่งนอกจากการปรับปรุงพฤติกรรมคนดื่มไม่ขับ ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยลดปัจจัยเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนงานบุญประเพณีปลอดเหล้าต่างๆ อาทิ แข่งเรือปลอดเหล้า ยี่เป็งปลอดเหล้าปลอดภัย งานประเพณีปลอดเหล้าต่างๆ
ทั้งนี้ สสส. ได้เข้ามามีส่วนช่วยเติมในแต่ละมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการงดเหล้า การทำงานเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ไปจนถึงการวางแผนการจัดการภัยพิบัติต่างๆ “ตอนนี้ไทยกำลังอยู่ระหว่างการแก้กฎหมายเชื่อมฐานข้อมูล ที่จะดูแลผู้กระทำผิดไม่ให้กลับมากระทำผิดซ้ำ หรือใครทำผิดซ้ำก็จะได้รับโทษเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการป้องปราม ซึ่งในระหว่างที่กระบวนการกำลังดำเนินอยู่ สสส.ก็ได้พยายามหาตัวอย่างรูปธรรมของการป้องกันไม่ให้คนกระทำผิดซ้ำ พบที่ รพ.น่าน และสำนักงานคุมประพฤติฯ จับมือและประสานเชื่อมการทำงานร่วมกัน นับเป็นโมเดลตัวอย่างที่ดี” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวในตอนท้าย