มข. เดินหน้าเปิดมิติใหม่การศึกษาเปิดหลักสูตรPre-degree เรียนล่วงหน้าป.โท (KKBE PRE M) ภายใต้โครงการผลิตนักกฎหมายที่มีศักยภาพทางด้านบริหารธุรกิจด้วยความร่วมมือระหว่างคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีคณะนิติศาสตร์และหอการค้าจังหวัดขอนแก่น
มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (KKBS Lifelong Learning) ในรูปแบบหลักสูตรเรียนปริญญาโทแบบสะสมหน่วยกิตKKBS PRE – MASTER DEGREE
โดยเป็นการจัดการเรียนการสอนรายวิชาจากหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตวิชาเอกการจัดการผู้ประกอบการพาณิชย์และนวัตกรรมซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและผู้สนใจทั่วไปสามารถมาพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (New Entrepreneur)
และการสร้างธุรกิจเริ่มต้น (Startup) พร้อมรับประกาศนียบัตรสามารถนำไปเทียบโอนปริญญาบัตรในระดับปริญญาโทหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตวิชาเอกการจัดการผู้ประกอบการพาณิชย์และนวัตกรรมคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดมีการปฐมนิเทศนักศึกษาหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (KKBS Lifelong Learning)
ภายใต้โครงการ “ผลิตนักกฎหมายที่มีศักยภาพทางด้านบริหารธุรกิจซึ่งเกิดด้วยความร่วมมือระหว่างคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีคณะนิติศาสตร์และหอการค้าจังหวัดขอนแก่น
โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาเป็นประธานกล่าวเปิดงานและกล่าวให้โอวาท รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวรายงาน
พร้อมด้วย รศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ ผศ.ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ กมลเลิศ คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์
รศ.ดร. ประพันธ์ศักดิ์ ฉวีราช ผู้อำนวยการสำนักบริหารและพัฒนาวิชาการ ผู้บริหารคณาจารย์คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี พร้อมด้วยนักศึกษาในโครงการจำนวน 50 คน
หลังจากคณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวรายงานแล้ว รศ.วนิดา แสงสารพันธ์รองคณบดีฝ่ายบริหารงานวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการ
โดยได้กล่าวความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ด้วยบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลง คณะนิติศาสตร์มองว่านักกฎหมายไม่ใช่แค่มีบทบาทการมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมที่อยู่ปลายทางเท่านั้น
จึงเป็นที่มาของการมองร่วมกันว่าทำอย่างไรที่จะให้บัณฑิตของเรามีความรู้ในศาสตร์แขนงอื่นที่เข้าสู่วิชาชีพได้จึงมีการวิเคราะห์หลักสูตรเพื่อการบูรณาการกับศาสตร์อื่น”
ต่อด้วย คุณ กังวาล เหล่าวิโรจนกุล เลขาธิการหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้มากล่าวถึงความร่วมมือจากภาคเอกชนในการผลิตนักกฎหมายที่มีศักยภาพทางด้านบริหารธุรกิจ ในลำดับต่อมา
คณะบริหารธุรกิจและการบัญชีเล็งเห็นความจำเป็นในการเสริมสร้างศักยภาพทางธุรกิจให้กับนักกฎหมายเพื่อให้นักศึกษาทราบถึงแผนการเรียนและกระบวนการจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตรรวมทั้งสามารถวางแผนการเรียนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับรูปแบบของหลักสูตร
โดยลักษณะการเรียนการสอนที่จะเกิดขึ้นเป็นการจัดการเรียนการสอนรายวิชาจากหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุงพ.ศ. 2562) วิชาเอกการจัดการผู้ประกอบการพาณิชย์และนวัตกรรมของคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี
ที่มุ่งเน้นการบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างสาขาวิชาเน้นการเรียนรู้จากวิทยากรที่มีประสบการณ์โดยตรงจากภาครัฐและภาคเอกชนจำนวน5รายวิชาวิชาละ3หน่วยกิต
ได้แก่วิชาภาวะผู้นำและพฤติกรรมองค์การสำหรับผู้ประกอบการ, วิชาการเงินผู้ประกอบการและการบัญชีบริหาร, วิชาการจัดการกลยุทธ์ธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ, วิชาสัมมนาทางการเป็นผู้ประกอบการพาณิชย์และนวัตกรรมและวิชาการสร้างธุรกิจใหม่
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่นกล่าวว่า ตามที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลกมีบทบาทหน้าที่ในการอุทิศเพื่อชุมชนและสังคมมุ่งเน้นยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความก้าวหน้าและยั่งยืน
โดยบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงภายใต้แนวคิดKKU Transformation ได้มีการกำหนดทิศทางในการบริหารมหาวิทยาลัยให้พร้อมต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบของเสรีภาพทางความรู้และการเข้าถึงแหล่งความรู้ซึ่งรวมไปถึงการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรมด้านดิจิทัลสู่สังคม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการปรับเปลี่ยนการจัดการศึกษา (Education Transformation) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนและประชาชนซึ่งมีแนวคิดหลักคือพัฒนาหลักสูตรเดิมสู่กระบวนทัศน์ใหม่(New Paradigm Curriculum)ส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่ (Flipped classroom)
และเน้นการศึกษาที่มุ่งผลลัพธ์ (Outcome-Based Education: OBE) โดยเน้นให้มีสื่อการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ที่เพียงพอปรับเนื้อหาของหลักสูตรให้มีการบูรณาการข้ามศาสตร์เน้นทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคต
และที่สำคัญมหาวิทยาลัยขอนแก่นมุ่งหวังที่จะสร้างหลักสูตรสำหรับประชาชนเพื่อรองรับเทคโนโลยีในการทำงานและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
โดยจัดการเรียนรู้เป็นชุดวิชาซึ่งมีทั้งที่ต้องการปริญญา (Degree) และไม่ต้องการปริญญา (Non-Degree) สามารถเรียนรู้ในหลายรูปแบบทั้งการเรียนในมหาวิทยาลัยและการเรียนผ่านสื่อออนไลน์ซึ่งสามารถเรียนได้ทุกเวลาทุกสถานที่และทุกคนมีระบบให้ผู้เรียนสามารถสะสมชุดวิชาเพื่อรับปริญญาในภายหลังได้
“มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการปรับตัวของการศึกษารูปแบบใหม่ที่เน้นการบูรณาการเรียนรู้และมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตสะสมหน่วยกิต (Credit bank)
สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีให้สามารถเรียนล่วงหน้าในระดับปริญญาโทโดยนักศึกษาสามารถลงทะเบียนเรียนรายวิชาหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาได้ขณะที่กำลังศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรี
เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาปริญญาตรีที่มีเป้าหมายในการศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท – ปริญญาเอก) สามารถศึกษาได้อย่างต่อเนื่องและใช้ระยะเวลาการศึกษาน้อยลง”
รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีกล่าวว่าในการปฐมนิเทศนักศึกษาหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตระดับบัณฑิตศึกษา (แบบรายวิชา) ภายใต้โครงการผลิตนักกฎหมายที่มีศักยภาพทางด้านบริหารธุรกิจโดยความร่วมมือระหว่างคณะบริหารธุรกิจและการบัญชีคณะนิติศาสตร์และหอการค้าจังหวัดขอนแก่นซึ่งมีวัตถุประสงค์ในจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) แบบสะสมหน่วยกิต (Credit bank)
ในหลักสูตรการจัดการศึกษาตลอดชีวิตระดับบัณฑิตศึกษา (แบบรายวิชา) หลักสูตรได้เปิดโอกาสให้นักศึกษานิติศาสตร์ได้มีโอกาสเรียนล่วงหน้าในระดับปริญญาโทในวิชาด้านบริหารธุรกิจคู่ขนานวิชาด้านกฎหมายนับว่าเป็นบริบทใหม่ของการศึกษาไทยที่ได้มีการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการการเรียนการสอนการวิจัยและการส่งเสริมกิจกรรมร่วมกัน
ข่าว-คณะบริหารธุรกิจและการบัญชีมหาวิทยาลัยขอนแก่น–อุดมชัย-สุพรรณวงศ์
ภาพ – วรัญญู ดอนเหนือ