ก.ล.ต. เดินหน้าขับเคลื่อน 8 แผนยุทธศาสตร์ปี 2564 – 2566 ตอบโจทย์ 5 เป้าหมาย “ฟื้นฟูและเข้มแข็ง – ยั่งยืน – เข้าถึง – แข่งได้และเชื่อมโยง – เชื่อถือได้” ครอบคลุมและเชื่อมโยงทุกมิติกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาตลาดทุน และแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผล
มาจากสถานการณ์ COVID-19 รวมทั้งสอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (megatrends) โดยรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้านเพื่อยกระดับตลาดทุนไทยต่อไป
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต.ปี 2564 – 2566 ภายใต้แนวคิด “Strengthening Resilient Future” โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “บทบาทตลาดทุนกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศปี 2564” พร้อมมอบรางวัลภายใต้โครงการ ASEAN Corporate Governance Scorecard ให้แก่บริษัทจดทะเบียนไทย เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ณ โรงแรม ดิแอทธินี โฮเทล แบงค็อก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ก.ล.ต. ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนของไทยให้มีความน่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ และทุกภาคส่วนเข้าถึงได้ เพื่อให้ตลาดทุนเป็นกลไกที่เชื่อมโยงระหว่างกิจการที่ต้องการเงินทุนและผู้ลงทุน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขยายกิจการ การจ้างงาน การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของกิจการในประเทศ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่อไป และที่ผ่านมา ก.ล.ต. ทำงานใกล้ชิดกับภาครัฐมาโดยตลอด
ในส่วนของตลาดทุนมี 5 เรื่องสำคัญ ดังนี้ (1) การอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ประสบปัญหา COVID-19 สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ (2) การสร้างความเข้าถึงตลาดทุนทั้งการลงทุนและการระดมทุน เพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ (inequality) ของประเทศ (3) การยกระดับความเชื่อมั่นและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุน (4) การพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน (sustainable finance) โดยตลาดทุนสามารถขับเคลื่อนการจัดสรรเงินทุนไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาล (ESG) และ (5) การมีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งในมิติของการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกำกับดูแลคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ในส่วนของสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต. ต้องดูแลและให้ความรู้แก่ผู้ลงทุน เพื่อให้รู้เท่าทันและมีการบริหารความเสี่ยงด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว
นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานกรรมการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ตลาดทุนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ก.ล.ต. ได้วางยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ในปี 2564 – 2566 ให้สอดรับกับบทบาทดังกล่าว พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (megatrends) รวมถึงรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน เพื่อมุ่งหวังที่จะตอบโจทย์ของประเทศและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์กร ก.ล.ต. ให้เข้มแข็ง มีศักยภาพพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลง และสามารถขับเคลื่อนภารกิจได้”
นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2564 – 2566 ที่จัดทำขึ้นได้คำนึงถึงความเชื่อมโยงแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาตลาดทุนไทย รวมถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปและโลกการเงินในยุคใหม่ อันนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายต่อทั้งภาคธุรกิจในตลาดทุนไทยและหน่วยงานกำกับดูแล โดยกำหนด 5 เป้าหมายและจัดลำดับความสำคัญ เพื่อให้สามารถทุ่มเททรัพยากรได้อย่างเหมาะสมตอบโจทย์ที่เป็นปัจจุบันและมีความสำคัญทั้ง 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนในการเสริมสร้างสภาพคล่องและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นฟู เข้มแข็ง และมีความสามารถในการแข่งขันต่อไปได้ (recovery & strengthening) และประเด็นที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดทุนไทยน่าเชื่อถือและมีรากฐานที่แข็งแกร่งเพื่อตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืน (resilience)”
“แผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ในปี 2564 – 2566 ยังคง 4 เป้าหมายและ 7 ยุทธศาสตร์สำคัญจากแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2563 – 2565 โดยได้เพิ่มเป้าหมาย “ฟื้นฟูและเข้มแข็ง” และเพิ่มยุทธศาสตร์เฉพาะกิจ เพื่อให้ตลาดทุนมีกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นอุปสรรคและมีเครื่องมือช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการที่ประสบปัญหาจาก COVID-19 รวมเป็น 5 เป้าหมาย 8 ยุทธ์ศาสตร์ ดังนี้
(1) การสร้างสภาพแวดล้อมตลาดทุนที่เอื้อต่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable capital market)
(2) ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพทางการเงินในระยะยาว มีการออมและการลงทุนระยะยาวที่เพียงพอรองรับการเกษียณอายุ (Financial well-being)
(3) สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ (SMEs & startups growth and
financing)
(4) เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างโอกาสจากความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ (Enabling
regulatory framework & connectivity)
(5) ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มศักยภาพตลาดทุนและยกระดับการกำกับดูแล (Digital for capital market)
(6) เพิ่มศักยภาพในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุนไทย (Effective supervision &
enforcement)
(7) ติดตามประเมินความเสี่ยงเชิงระบบได้อย่างเท่าทัน (Systemic risk)
(8) สร้างกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นอุปสรรคและส่งเสริมการมีเครื่องมือช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการที่ประสบปัญหาจากสถานการณ์ COVID-19 (Supporting liquidity) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เฉพาะกิจ
นอกจากนี้ มีการเสวนาในหัวข้อ “แผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. กับทิศทางเศรษฐกิจและตลาดทุนปี 2564”
โดยได้รับเกียรติจาก ดร. กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ดร. อนุชิต อนุชิตานุกูล กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ดร. กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมสะท้อนมุมมองต่อแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการลงทุนในตลาดทุนต่อไป โดยมีนางสาวสินิดา เพชรวีระกุล เป็นผู้ดำเนินรายการ
ทั้งนี้ รางวัลประกาศเกียรติคุณ ASEAN Corporate Governance Scorecard ปี 2562 ซึ่งประเมินโดยใช้ข้อมูลปี 2561 ที่มอบให้กับบริษัทจดทะเบียนในอาเซียน 6 ประเทศ ภายใต้กรอบความร่วมมือและการสนับสนุนจาก ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) โดยมุ่งเน้นความสำคัญในการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีซึ่งเป็นรากฐานที่นำไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งบริษัทจดทะเบียนไทยได้รับคะแนนประเมินเฉลี่ยสูงสุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
(1) รางวัล ASEAN Asset Class PLCs สำหรับบริษัทที่ได้คะแนนตั้งแต่ 97.50 คะแนนขึ้นไป โดยมีบริษัทจดทะเบียนไทย 42 บริษัท จากทั้งหมด 135 บริษัท ซึ่งมากที่สุดในอาเซียน
(2) รางวัล ASEAN Top 20 PLCs สำหรับบริษัทที่มีคะแนนติดอันดับสูงสุด 20 อันดับแรกของอาเซียน โดยมีบริษัทจดทะเบียนไทย 4 บริษัทได้รับรางวัล ได้แก่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BCP) บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) และ
(3) รางวัล Country Top 3 PLCs มอบให้บริษัทจดทะเบียนที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละประเทศ*
หมายเหตุ : รายชื่อบริษัทที่ได้คะแนนตั้งแต่ 97.50 คะแนนขึ้นไป และบริษัทที่ได้รับรางวัล