แสตมฟอร์ด แนะขายสินค้าตัวช่วยความเกียจคร้าน

ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์สร้างรูปแบบการดำเนินชีวิตให้กับกลุ่มวัยรุ่นในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Mobile life” ที่ข้อจำกัดทางด้านเวลาและสถานที่จะหายไป การติดต่อสื่อสารตลอดจนถึงการทำงานต่างๆสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลให้วัยรุ่นคนรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 16 – 24 ปี หรือกลุ่มคน Gen Z สามารถสร้างความสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้นจากเดิม ซึ่งคนไทยสมัยก่อนมีพฤติกรรมของความเกรงใจ เขินอาย ไม่ค่อยพูดกับคนแปลกหน้าก่อน  การที่มีสื่อออนไลน์จึงทำให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าถือเป็นเรื่องปกติ

จากพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงทางด้านโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้เกิด Lazy culture ไปทั่วโลก โดยนักการตลาดและผู้ประกอบการมุ่งเน้นในเรื่องของการขับเคลื่อนความขี้เกียจของคนยุคใหม่ที่ต้องการลดภาระต่างๆในชีวิตประจำวัน   

โดยผ่านโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ตต่างๆ เพื่อใช้ในการสั่งการ เช่นการทำความสะอาดบ้าน การทำอาหาร  ดังนั้นธุรกิจที่จะตอบสนองกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้จึงต้องสามารถที่จะตอบสนองความต้องการในพฤติกรรมของความขี้เกียจของมนุษย์ขึ้นได้  

ดร.สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด กล่าวว่า “ในการทำตลาดให้กับกลุ่ม Gen Z หรือกลุ่มวัยรุ่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่ากลุ่มพฤติกรรมดังกล่าวปัจจุบันสามารถแยกย่อยพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีความขี้เกียจออกมาได้หลายรูปแบบ เช่น กลุ่มชอบประหยัดในเรื่องของเวลา

โดยจะเป็นกลุ่มที่ชอบช้อปปิ้ง แต่ไม่อยากที่จะต่อคิว ไม่ชอบเสียเวลาและรู้สึกเหนื่อยกับการรอ เพราะฉะนั้นธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดคล้อง โดยการทำตลาดช็อปปิ้งผ่านมือถือและการทำธุรกรรมทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น ด้านกลุ่มที่อยู่อาศัยหรือบ้านรกในต่างประเทศ พบว่าพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าว ไม่ชอบทำความสะอาดบ้าน และมักจะใช้แอพพลิเคชั่นร่วมกับหุ่นยนต์ (Robot) ที่ช่วยในการทำความสะอาดบ้าน เพื่ออำนวยความสะดวก

นอกจากนี้กลุ่มที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ ซึ่งทำให้เกิดการปรับตัวในธุรกิจ เช่นธุรกิจการอ่านหนังสือให้ฟัง หรือการทำ Content ที่สนุกผ่านการฟังและน่าติดตาม มากกว่าการอ่านหนังสือแบบทั่วไป

โดยข้อดีของการฟังนั้นสามารถที่จะทำกิจกรรมอย่างอื่นไปพร้อมกันได้ ดังนั้นการทำการตลาดในยุคนี้ผู้ประกอบการควรจะต้องคำนึงถึงพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและจากสาเหตุตามที่ได้กล่าวไว้”    

“การตลาดสำหรับกลุ่มวัยรุ่น Gen Z ควรใช้กลยุทธ์ในเรื่องของ Speed คือจะต้องรวดเร็วและต้องทำให้ผู้บริโภคกลุ่มวัยรุ่นไม่ก่อให้เกิดให้เกิดความรู้สึกเสียเวลา และ Lean คือ ต้องกระชับ ต้องตัดหรือลดขั้นตอนที่ยุ่งยากออกเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน

นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของ Enjoy คือ ความสนุกที่ทำให้กลุ่มผู้บริโภควัยรุ่น รู้สึกสนุกและเกิดแรงจูงใจในการใช้สินค้าหรือบริการดังกล่าว นอกจากนี้จากวิกฤตไวรัสโคโลน่าโควิด – 19 ผู้ประกอบการควรจะต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมของกลุ่มวัยรุ่นดังกล่าว

เนื่องจากว่าสิ่งต่างๆทำให้กลุ่มวัยรุ่น ดังกล่าว ต้องเรียนศึกษาและ work from home เพิ่มมากขึ้น จนเกิดความเคยชินและสะดวกที่ได้อยู่บ้านผู้ประกอบการเองจึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์กับพฤติกรรม เช่น ตอบสนองต่อความต้องการที่เร่งด่วน การใช้ Social platform เรื่องของการสั่งซื้อสินค้าและบริการ ที่สำคัญวัยรุ่นปัจจุบันได้มุ่งเน้นไปด้านเทรนทางสังคม   Cultural Trend  เช่น Gender Fluidity กระแสสนับสนุนสิทธิเสรีภาพทางเพศ

โดยแบรนด์ที่สามารถเข้าถึงทุกเพศสภาพภาพ ผ่านตัวสินค้าหรือโฆษณาจะส่งเสริมให้แบรนด์นั้นมีภาพลักษณ์ที่ดีและช่วยขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความเคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งจะตรงใจกับกลุ่มผู้บริโภคในกลุ่มวัยรุ่นและ Gen Z 

นอกจากนี้สินค้าEco friendly การบริโภคเนื้อสัตว์เทียมจะเข้ามาแทนที่เนื้อสัตว์แท้ในตลาดไทยในอีก 10 ปีข้างหน้ารวมทั้งบรรดาอาหารเพื่อสุขภาพ โดยสินค้าที่มีส่วนผสมของธรรมชาติและบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จะกลายเป็นสินค้าหลักที่ผู้คนให้ความสนใจ”  ดร.สุทธิภัทร กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *