สส. อดีต สว. ประสานเสียง ต้านรัฐออกกฎหมายควบคุม NGO จำกัดสิทธิ เสรีภาพกิจกรรมเพื่อสังคม เพิ่มบทลงโทษอาญา ชี้ หวังปิดปาก ลดบทบาทตรวจสอบโครงการรัฐ หวั่น นายทุนกินรวบ ชี้ ขัดรัฐธรรมนูญหลายมาตรา สวนแนวทาง“ประชา+รัฐ”
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม (สสป.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัด 8 จังหวัด จัดงาน เสวนา “ประชาสังคม : ควบคุม VS ส่งเสริม” ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ “ประชาสังคมจังหวัด หุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืน”
นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การออกร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งกัน พ.ศ. …. หรือเรียกได้ว่าเป็น พรบ.ควบคุมNGO ฉบับดังกล่าว มีฐานคิดแบบอำนาจนิยม เพราะหากมีฐานคิดแบบประชาธิปไตย จะเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม ถือเป็นสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
การที่รัฐคิดจะออกกฎหมายควบคุมการทำงานของภาคประชาชน ทำให้ประชาชนถูกลดบทบาทการมีส่วนร่วม ซึ่งการบริหารขับเคลื่อนประเทศไม่ได้มีเฉพาะรัฐ แต่ภาคประชาสังคมหรือ NGO ก็มีส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศได้
การควบคุม NGO ด้วยกฎหมายลักษณะนี้ มีผลกระทบแน่นอน เพราะกลายเป็นรัฐราชการอย่างเดียว ภาคประชาชนก็เสียประโยชน์ การรวมเป็นกลุ่มก้อนหายไป การบริหารประเทศจะถูกกำหนดโดยรัฐเพียงลำพัง
ทั้งที่รัฐบาลประกาศว่าขับเคลื่อนประเทศด้วยการเป็นประชารัฐ จะต้องมีทั้งรัฐและประชาชน ร่วมกันทำงานแบบหุ้นส่วน การตัด NGO ออกทำให้ขัดแย้งกับนโยบาย ไม่สะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่ง NGO ช่วยให้รัฐทำงานอย่างรอบคอบ คำนึงถึงเสียงของประชาชนมากขึ้น
“น่าเป็นห่วงบทบาทของ NGO ต่อจากนี้ ประชาชนต้องตระหนักรู้ถึงประโยชน์ที่จะเสียไป โดยเฉพาะการทัดทานอำนาจของรัฐในโครงการที่ประชาชนได้รับผลกระทบ เพราะแม้ว่าประชาชนจะตระหนักรู้ถึงปัญหา แต่ เสียงไม่ดังพอ ไม่มีฐานข้อมูลที่ดีพอที่จะต่อรองกับภาครัฐได้
ในอนาคตจึงเสี่ยงที่จะยิ่งเกิดความเหลื่อมล้ำสูง เพราะถูกกลุ่มทุน กลืน ผ่านโครงการได้อย่างสบาย ไร้การทัดทาน จึงต้องคุ้มครองสิทธิประชาชน”นายสุทิน กล่าว
นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังควบคุมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน โดย ครม. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ได้เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังไม่มีการรับฟังความคิดเห็น หรือประเมินผลกระทบของผู้ที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับดังกล่าวโดยตรง หากร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ องค์กรภาคประชาสังคมจะต้องขออนุญาตทุกกิจกรรมที่ทำ แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ก็ตาม ถือเป็นการจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ที่สำคัญมีบทลงโทษรุนแรง เป็นโทษอาญา ทั้งจำและปรับ
“ภาคประชาสังคม ได้ร่วมกันยกร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. … โดยมีเจตจำนงเพื่อให้เกิดกลไกการพัฒนาคนทำงานภาคประชาสังคม แต่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาล ขณะที่ร่างพ.ร.บ. ฉบับที่ครม. เห็นชอบ มีการใช้ถ้อยคำในกฎหมาย ที่เป็นภาษาโบราณว่า ไถยจิต ที่หมายความว่า จิตที่จะคิดลักขโมย แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ออกกฎหมาย และอคติที่มีต่อภาคประชาสังคม
ขณะที่ปัจจุบันองค์กรภาคประชาสังคม ปฏิบัติตามกฎหมายที่ควบคุมอยู่แล้ว เช่น การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล องค์กร หรือมูลนิธิ มีการตรวจสอบการเสียภาษีอยู่แล้ว หรือหากรัฐเห็นว่าองค์กรจัดตั้งมาอย่างไม่สุจริตหรือหลอกลวง ก็สามารถใช้กฎหมายอื่นๆ ควบคุมได้ ” นายไพโรจน์ กล่าว
นางรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญหลายมาตรา โดยเฉพาะ มาตรา 42 ที่ระบุว่า ที่บุคคล มีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น จะจำกัดเสรีภาพไม่ได้ และมาตรา 26 ที่ระบุถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่ม ภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ
ซึ่งการออกกฎหมายเพื่อควบคุมไปถึง องค์กรที่รวมตัวกันในรูปแบบคณะบุคคล การรวมตัวของบุคคลที่รวมกันในลักษณะองค์กรชุมชน ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรอบกฎหมายที่ควบคุมสมาคม มูลนิธิต่าง ๆ ถือเป็นเรื่องเกิดกว่าเหตุไปมาก เพราะหากรวมตัวกัน 3-4 คนทำกิจกรรมทางสังคม จะต้องจดแจ้ง ตรวจสอบบัญชี มิฉะนั้น อาจจะเจอโทษอาญาทั้งจำและปรับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มีเจตจำนงต้องการควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน
“กฎหมายฉบับนี้เหมือนการเซ็นเช็คเปล่าให้ รมต.กระทรวงมหาดไทย เปิดช่องให้เขียนหลักเกณฑ์ลงไป โดยที่ไม่มีใครเห็นว่ามีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะควบคุมประชาชนจะทำกิจกรรมอะไรก็ตามในราชอาณาจักร ต้องจดแจ้ง ถ้าไม่อนุญาตก็ทำไม่ได้ ที่น่าเป็นห่วงคือประชาชนจะเป็นผู้ที่จะได้กระทบมากที่สุด
หากมีการรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม อาจจะโดนบทลงโทษได้ เหมือนมัดมือ มัดเท้า ปิดปากประชาชน เป็นการตั้งใจ จำกัดการเคลื่อนไหวประชาชนที่จะคัดค้านนโยบายของภาครัฐ และหนักไปถึง การกำจัด ไม่ใช่การส่งเสริมหรือพัฒนาแบบที่อ้างไว้แต่อย่างใด ” นางรสนา กล่าว
นางรสนา กล่าวว่า ภาคประชาสังคม จะคัดค้านไม่ให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้อย่างถึงที่สุด โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 ระบุให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชนได้ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่เปิดโอกาสให้การกระทำนี้เกิดขึ้นได้
หากรัฐคิดว่าภาคประชาสังคม มีจิตคิดชั่ว อยากทำลายประเทศชาติด้วยการขอเงินต่างชาติมาว่าร้ายประเทศ ก็ต้องจัดการคนกลุ่มนั้นด้วยกฎหมายที่มี เพราะกฎหมายให้อำนาจรัฐจัดการผู้ทำผิดหลักนิติธรรม ศีลธรรม ไม่ใช่ออกกฎหมายตีขลุมมากำกับไม่ให้ทุกคนทำกิจกรรมที่คัดค้านนโยบายของรัฐ
นาย ไพศาล ลิ้มสถิตย์ อนุกรรมการด้านการศึกษาและพัฒนากฎหมายฯ คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) กล่าวว่า การที่ครม. เห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้ที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของภาคประชาสังคมอย่างไม่เหมาะสม ถือว่ารัฐบาลไทยดำเนินการขัดต่อข้อมติของสหประชาชาติ ที่สนับสนุนให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการทำงานร่วมกับภาครัฐ
โดยเฉพาะการออกกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองกิจกรรมของประชาสังคม รวมถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)
ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยมีการออกกฎหมายส่งเสริม สนับสนุน และให้ความคุ้มครองกิจกรรมของประชาสังคมภาคประชาสังคม เช่น แคนาดา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สวีเดน สหรัฐอเมริกา
ด้าน ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในฐานะเป็นรองโฆษกฯ อยากทำความเข้าใจดังนี้ ร่างที่เป็นประเด็นคือ ร่างเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรภาคประชาสังคม แต่ยังมีร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาร่างประชาสังคม ซึ่งเป็นร่างที่ส่งเสริมภาคประชาสังคมทำงานกับภาครัฐอย่างเข็มแข็งขึ้น
โดยร่างนี้จะมีกรรมการ และกรรมการจะให้ทางภาคประชาสังคมเข้าร่วม โดยการทำงานร่วมกันในการเสนอแนะ ร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมการทำงานให้เข้มแข็งขึ้น รวมทั้งกรณีมีสำนักงานเกิดขึ้นก็จะมีงบประมาณเพิ่มขึ้น อย่างปัจจุบันมีงบ 90 ล้านทั่วประเทศก็ไม่เพียงพอ แต่หากมีร่างกฎหมายนี้จะมีการจัดสรรงบเพิ่มให้ปีละ 150 ล้านบาท ทั้งนี้ ความกังวลเรื่องแทรกแซงนั้น หากจดแจ้งให้ถูกต้องโปร่งใสก็จบ และขณะนี้ กระบวนการขอกฎหมายยังไม่จบ ยังรับฟังเสียงและปรับแก้ได้