บ๊อชจัดแสดงโซลูชั่นส์ที่เชื่อมต่อกันสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ตั้งแต่อุตสาหกรรม 4.0 เกษตรกรรมอัจฉริยะ ไปจนถึงการขับเคลื่อนแห่งอนาคต ที่ส่วนจัดแสดง Bosch Innovation House ภายในงาน Techsauce Global Summit 2019 โดยเทคโนโลยีเอไอ (artificial intelligence-AI) และคลาวด์ คอมพิวติ้ง (cloud computing) เป็นหัวใจสำคัญของบริษัทฯ ในการสร้างโลกที่เชื่อมต่อกัน
บ๊อชให้ความสำคัญกับการพัฒนาโซลูชั่นส์ด้านเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์อย่างมาก โดยตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมเอไอผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและบริการต่าง ๆ ของบริษัทฯ โดยวางแผนเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอของบริษัทขึ้นถึงสี่เท่า จาก 1,000 คน เป็น 4,000 คน ภายในปี 2021 และภายในกลางทศวรรษหน้า ผลิตภัณฑ์บ๊อชทั้ง 100% จะต้องประกอบด้วยเทคโนโลยีเอไอทุกชิ้น หรืออย่างน้อยจะต้องมีส่วนใช้เอไอในกระบวนการพัฒนาและการผลิต
มร. โจเซฟฮง กรรมการผู้จัดการ บ๊อช ประเทศไทย เน้นย้ำความสำคัญของนวัตกรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อของบ๊อชว่า “ผู้เข้าร่วมงานจะมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ที่ Bosch Innovation House โดยจะได้เห็นว่าการเชื่อมต่อ (connectivity) ได้สอดแทรกเข้าไปอยู่ในทุกอณูของแต่ละภาคธุรกิจอย่างไร ซึ่งบ๊อชจะมีบทบาทในการสร้างกรอบและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีการขับเคลื่อนและการเชื่อมต่อด้วย IoT เป็นพิเศษ” มร. โจเซฟ กล่าว
สามแนวทางนวัตกรรมที่บ๊อชให้ความสำคัญและนำมาถ่ายทอดในงาน Techsauce Global Summit 2019 ได้แก่ การขับเคลื่อนแห่งอนาคต อุตสาหกรรม 4.0 และเกษตรกรรมอัจฉริยะ
สร้างสรรค์การขับเคลื่อนแห่งอนาคต (Future of Mobility)
เอไอมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์การขับเคลื่อนแห่งอนาคต โดยจะเป็นในรูปแบบที่จำเพาะบุคคล เป็นระบบอัตโนมัติ เชื่อมต่อถึงกันได้ และขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ซึ่งรวมไปถึงยานยนต์ที่ใช้เอไอบนเมนบอร์ดของคอมพิวเตอร์ สามารถตรวจจับคนที่สัญจรบนทางเท้า คนขี่จักรยาน และแม้กระทั่งไฟเลี้ยวจากรถคันอื่นผ่านโปรแกรมการรู้จำวัตถุ (object recognition) นอกจากนี้ ระบบ Bosch Automotive Cloud Suite ยังพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์จากศักยภาพของการเชื่อมต่อ โดยเป็นพื้นฐานรองรับบริการทั้งหมดที่เกี่ยวกับรถยนต์ที่เชื่อมต่อกัน เทคโนโลยีคลาวด์เป็นส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาและปรับปรุงบริการด้านการขับเคลื่อน ตัวอย่างเช่น สัญญาณเตือนเมื่อขับรถผิดทาง และบริการหาที่จอดรถในชุมชน
ส่งเสริมประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม
บ๊อชมองเห็นแนวทางของธุรกิจในอนาคตว่าควรจะมีลักษณะที่แตกต่างกันมากขึ้น และมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการจำเพาะบุคคลได้มากขึ้น สำหรับศักยภาพด้านการผลิต จะต้องสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไป โซลูชั่นส์ Bosch Industry 4.0 จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตด้วยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลไปปรับปรุงการทำงานทุกขั้นตอนตั้งแต่กระบวนการผลิต โลจิสติกส์ ไปจนถึงการบำรุงรักษา ตัวอย่างเช่น ActiveCockpit ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอินเทอร์แอคทีฟที่ช่วยจัดการและแสดงภาพข้อมูลในกระบวนการผลิตแบบเรียลไทม์ โดย ActiveCockpit จะเชื่อมโยงแอปพลิเคชั่นของเครือข่ายไอทีเข้าด้วยกัน อาทิ การวางแผนการผลิต และระบบจัดการข้อมูลด้านคุณภาพ
นอกจากนี้ บ๊อชยังมี Manufacturing Analytics Solutions (MAS) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ MAS เป็นโซลูชั่นการวิเคราะห์ข้อมูลหลักที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับโรงงานผลิตได้ โดยจัดการกระแสข้อมูลได้โดยอัตโนมัติ กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบบิ๊กดาต้าอันทรงพลัง นับเป็นการยกระดับโรงงานระบบดิจิทัลให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น
เกษตรกรรมอัจฉริยะ (Smart agriculture): ช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างยั่งยืน กิจกรรมด้านเกษตรกรรมส่วนใหญ่มักขึ้นอยู่กับสภาวะสิ่งแวดล้อม การตัดสินใจที่เหมาะสม และการบริหารเครือข่ายคุณค่าได้ลงตัวที่สุด ช่วยให้เกิดผลผลิตและคุณภาพที่ดีที่สุด ในเรื่องนี้ อุปกรณ์เซ็นเซอร์ การบริหารจัดการข้อมูลด้าน IoT และสมรรถนะของระบบวิเคราะห์ข้อมูลของบ๊อช ซึ่งมีซอฟต์แวร์ การบริการ และโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ที่น่าเชื่อถือเป็นตัวรองรับ ได้เข้ามาช่วยในกระบวนการตัดสินใจที่ซับซ้อน และการควบคุมระบบเกษตรกรรมดิจิทัลได้อย่างเบ็ดเสร็จ เทคโนโลยีนี้ช่วยติดตามพืชผล ปริมาณผลผลิต และช่วยป้องกันโรค รวมถึงการจัดหาแหล่งชลประทานที่เหมาะสมได้ ตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทย ได้แก่ AquaEasy ซึ่งเป็นโซลูชั่นคลาวด์ระบบดิจิทัลครบวงจรสำหรับฟาร์มกุ้ง อุปกรณ์เซ็นเซอร์ของ AquaEasy จะช่วยเกษตรกรติดตามคุณภาพของน้ำและรวบรวมข้อมูลการดำเนินงาน จึงช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน นอกจากนี้ FUJI Plantect ซึ่งเป็นโซลูชั่นอัจฉริยะที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเอไอมาช่วยในการปลูกพืชในเรือนเพาะชำให้ได้ผลดีที่สุด ก็ใช้วิธีการทำงานในแบบเดียวกัน
ผู้เชี่ยวชาญของบ๊อชในงาน Techsauce Global Summit 2019
มร. ฟรองซัวส์ แวร์วิอัล ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายพัฒนาธุรกิจของบ๊อช ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมเวทีเสวนาในหัวข้อ “เปิดโลกการขับเคลื่อนแห่งอนาคต (Exploring the Future of Mobility)” โดยกล่าวว่า บ๊อชได้ริเริ่มโครงการด้านโซลูชั่นส์เทคโนโลยีแห่งการขับเคลื่อนทั่วภูมิภาคอย่างจริงจัง “ประเทศไทยมีโอกาสมากมาย สามารถจะพัฒนาไปได้อีกไกล ทั้งในเมืองหลวงคือ กรุงเทพฯ และในจังหวัดที่เติบโตเร็วทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านทางเลือกการคมนาคมที่สะอาด ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า และเทคโนโลยีการขับเคลื่อนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการนำโซลูชั่นส์แห่งการเชื่อมต่อมาใช้ประโยชน์ โดยบ๊อชพร้อมให้การสนับสนุนและสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่ระบบนิเวศด้านระบบขับเคลื่อนของประเทศไทย โดยเฉพาะในด้านการปรับระบบเป็นดิจิทัล และการใช้เทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อ”
มร. ซานดีฟ ชาร์มา ผู้จัดการฝ่ายการพัฒนาธุรกิจของบ๊อช ประจำอินเดีย กล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับ “ความเอนเอียงของข้อมูล (data bias)” และแนวทางการทำให้เอไอช่วยชีวิตผู้คนได้ ในขณะเดียวกันก็คุ้มครองความเป็นส่วนตัวด้วย “เอไอจะมีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตของเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ช่วยนำพาเราไปที่ต่าง ๆ โดยรถยนต์ จัดการเรื่องนัดหมาย ช่วยตอบข้อสงสัยต่าง ๆ ไปจนถึงช่วยดูแลบ้านอัจฉริยะของเรา อย่างไรก็ตาม คุณประโยชน์อนันต์เหล่านี้จะต้องดูแลด้วยความรับผิดชอบ บริษัทและภาคประชาสังคมต่าง ๆ ต้องทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมที่สอดคล้อง” มร. ชาร์มากล่าว
บ๊อชเชื่อว่าเราสามารถรับประกันเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลได้ด้วย “การออกแบบโซลูชั่นส์ที่ปลอดภัยและคุ้มครองความเป็นส่วนตัว” เช่นเดียวกับแนวคิดการคุ้มครองความปลอดภัยในหลายระดับ หัวข้อสำคัญทั้งสองเรื่องที่ตัวแทนของบ๊อชกล่าวในงานประชุม Techsauce Global Summit 2019 ได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของบริษัทฯ ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า การปรับระบบการทำงานเป็นดิจิทัล และเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อ ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยทั้งสามส่วนหลัก ได้แก่ เทคโนโลยีการขับเคลื่อน อุตสาหกรรม 4.0 และเกษตรกรรมอัจฉริยะ