มข.ตั้งรพ.สนามรองรับผู้ป่วยโควิด-19 สนับสนุนประเทศก้าวข้ามภาวะวิกฤต

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น    พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และบุคลากร ให้การต้อนรับ ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นพ.สมชายโชติ​ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณ​สุขจังหวัด​ขอนแก่น​ พร้อมด้วยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่น เดินทางเข้ามาตรวจความพร้อมหอพักที่ 26 มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 แห่งแรกของจังหวัดขอนแก่น

ดร.สมศักดิ์  จังตระกุล  ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  กล่าวว่า  “หอพักที่ 26 ที่ใช้เป็นโรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 ของจังหวัดขอนแก่น  ถือว่าเป็นโรงพยาบาลสนามที่มีความพร้อมในทุกประการ

ซึ่งในหลักคิดของการจัดการผู้ป่วยโควิด-19  คือการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลผู้ป่วย บริหารทรัพยากรพื้นที่ โดยสำนึกว่าทรัพยากรต่างๆนั้นเกิดมามาจากภาษีอากรของประชาชน จึงต้องบริหารจัดการให้ดีที่สุดเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด 

วันนี้โรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะเป็นความภาคภูมิใจของความร่วมมือในทุกภาคส่วน ในการดูแล ช่วยแบ่งเบาลดภาระโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณาจารย์ บุคลากร น้องๆ นิสิต นักศึกษา จะเข้าใจของการที่เราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ในสังคมที่มีการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ของโรคโควิด-19  

ที่สำคัญคือเราจะช่วยกันบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด สนับสนุน ในการบริหารจัดการโรคให้ลุล่วง และบรรลุวัตถุประสงค์ของทางราชการ”

รศ.นพ.ชาญชัย  พานทองวิริยะกุล  อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความมั่นใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่า  “มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีทรัพยากรที่มีความพร้อมที่จะสนับสนุนภาวะวิกฤตของประเทศ

และจังหวัดขอนแก่น ประกอบกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ได้สั่งการให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศให้นำทรัพยากรมาสนับสนุนประเทศ 

มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงได้ร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น สาธารณสุขจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดขอนแก่น  ได้สนับสนุนโรงพยาบาลสนาม

โดยนำหอพักที่ 26 ที่ปรับปรุงใหม่แล้วเสร็จพอดียังไม่มีการจัดนักศึกษาเข้าพัก เป็นโรงพยาบาลสนามมีมาตรฐาน ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข

โดยร่วมมือกับโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น ดำเนินการตามมาตรฐานของกระทรวงให้มีความปลอดภัย มีการกำหนดพื้นที่  มีการวางระบบกำจัดของเสียต่าง ๆ

เพื่อมิให้มีผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง  ขอให้นักศึกษา และบุคลากรมีความมั่นใจว่า จะไม่มีผลกระทบในด้านความเสี่ยง  ไม่ว่าจะเป็นหอพัก หรือบุคลากร นักศึกษาที่อยู่พื้นที่อื่นๆ 

ด้วยมาตรฐานดังกล่าว โรงพยาบาลสนามที่เปิดมาแล้วทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีโรงพยาบาลสนาม 3 แห่งแรก ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ  สหรัฐอเมริกา หรือในประเทศไทยที่มีการเปิดที่จังหวัดสมุทรสาครมาแล้ว 

ด้วยมาตรฐานเหล่านี้ ไม่พบว่ามีรายงานว่ามีประชาชนติดเชื้อโควิด-19 จากโรงพยาบาลสนามแห่งใดเลย  จึงมั่นใจว่าโรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะไม่มีบุคลากร นักศึกษาได้รับผลกระทบ หรือติดโรค ขอให้มีความมั่นใจ เราจะได้ทุ่มเททรัพยากรไปสนับสนุนไปแก้ปัญหาของจังหวัดได้อย่างเต็มที่”

ด้านหลักการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 พร้อมระบบการจัดการความปลอดภัยนั้น  รศ.นพ.สมศักดิ์  เทียมเก่า  รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนาม 1 (หอ26) กล่าวให้ความมั่นใจว่า  “สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกเดือนเมษายน 2564  มีการกระจายตัวไปเป็นอย่างมาก 

ประกอบกับผู้ป่วยโรคโควิดจำเป็นต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลนานอย่างน้อย 14 วัน หรือมากกว่านั้นเพื่อไม่ให้มีโอกาสแพร่เชื้อ  จำนวนผู้ป่วยโควิดที่มีจำนวนสะสมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ทำให้ใช้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลหลักต่างๆ เป็นจำนวนมาก  ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคอื่นๆ ทำให้ต้องลดการให้บริการ หรือผู้ป่วยโรคอื่นๆ ไม่สามารถเข้ารับบริการได้ 

ซึ่งผู้ป่วยโรคโควิดจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มที่มีอาการหนัก  ที่ต้องอยู่ในห้องความดันลบ  กลุ่มที่สอง มีอาการรุนแรงปานกลาง ต้องให้ออกซิเจน

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มซึ่งไม่มีอาการใดๆ เลย หรือมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอเล็กน้อย  ฉะนั้นโรงพยาบาลสนามจึงมีความสำคัญในการผ่องถ่ายคนไข้จากโรงพยาบาลหลักออกมาสู่โรงพยาบาลสนาม ”

“หลักการของโรงพยาบาลสนามก็คือ  มีบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าเป็นแพทย์เฉพาะทาง แพทย์ทั่วไป พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เภสัชกร  หรือเรียกว่ายกโรงพยาบาล พร้อมทั้งมาตรฐานของโรงพยาบาลเพื่อควบคุมภาวะปลอดเชื้อต่าง ๆ

หรือการกำจัดขยะ หรือสภาพแวดล้อมต่าง ๆ  ยกมาไว้ที่โรงพยาบาลสนามทั้งหมด ฉะนั้น ขอให้มั่นใจว่าโรงพยาบาลสนามจะมีความปลอดภัยทั้งกับผู้ป่วยเองซึ่งได้รับการรักษามาเป็นอย่างดีแล้ว และคนที่อยู่รอบข้างของโรงพยาบาลสนาม 

เนื่องจากเป็นสถานที่ปิด มีการจัดทางเดินเข้าออกของรถ ผู้ป่วย ผู้มาให้บริการ เป็นทางอย่างชัดเจน จะไม่มีการเดินสวนกัน ระหว่างคนไข้ กับคนมาให้บริการ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ 

มีการกำจัดเชื้อไม่ว่าจะเป็นน้ำทิ้ง หรือขยะต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานของการกำจัดขยะที่มีเชื้อโรคตามมาตรฐาน โดยความร่วมมือของสถานพยาบาล และเทศบาลเมืองขอนแก่น 

โรงพยาบาลสนามมีความจำเป็นจริง ๆ ในสภาวการณ์ขณะนี้  และมีความปลอดภัยกับทุกคน และปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยจะมีบุคลากร และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตลอดเวลา เพื่อควบคุมมาตรฐานต่างๆ ความปลอดภัยต่างๆ ให้กับผู้ป่วย บุคลากร และชุมชนที่อยู่รอบโรงพยาบาลสนามด้วย”

ข่าว   :   วัชรา  น้อยชมภู

ภาพ  :   วัชรา  น้อยชมภู   /  ชายชาญ   หล้าดา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *