“Times Higher Education” หรือ “THE” สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ประเทศอังกฤษ ได้ประกาศผลอันดับมหาวิทยาลัย “THE Impact Rankings 2021” โดยประเมินการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย 1,115 แห่ง จาก 94 ประเทศทั่วโลก ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ของสหประชาชาติ ทั้ง 17 ด้าน
โดยในปีนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครองอันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย อันดับที่ 78 ของโลก ในด้าน SDGs 4 Quality Education คุณภาพการจัดการเรียนการสอนและการเข้าถึงการศึกษาที่เท่าเทียม โดยทำคะแนนได้ถึง 72.7 / 100 คะแนน ความสำเร็จครั้งนี้ส่งผลให้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ครองอันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย ในด้านการส่งเสริมการจัดการศึกษา
ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยเกี่ยวกับผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย THE Impact Rankings 2021 ว่าการประเมินของสถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกใช้หลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ทั้งหมด 17 ด้าน โดยจะเลือก 4 ด้าน ที่มหาวิทยาลัยนั้น ๆ ทำคะแนนได้สูงสุดและนำมาจัดอันดับ
ที่ผ่านมาแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีความโดดเด่นและได้คะแนนแต่ละด้านแตกต่างกัน โดยปีนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น อยู่ในอันดับที่ 201–300 จากมหาวิทยาลัย 1,115 แห่งทั่วโลก ที่ส่งผลงานเข้าร่วมการประเมิน
ซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเกณฑ์ของสหประชาชาติที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความโดดเด่น 4 ด้าน ตามลำดับ คือ SDGs 1 : การขจัดความยากจน SDGs 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDGs 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ SDGs 4: การศึกษาที่เท่าเทียม ซึ่งด้านนี้ เราครองอันดับ 1 ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 3 ปีแล้ว
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รักษาอันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทยในด้าน SDGs 4 Quality Education ได้อย่างต่อเนื่อง มองว่า มิติแรกเป็นเรื่องของการวิจัยด้านการศึกษา มิติที่ 2 การสนับสนุนนักศึกษา คุณภาพของหลักสูตร และ มิติที่ 3 การปรับหลักสูตรที่สอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
“ผลงานวิจัยของเราเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ ลำดับคะแนนค่อนข้างดี เนื่องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีการทำวิจัยหรือการสนับสนุนชุมชนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังได้สนับสนุนนักศึกษาด้วยการให้ทุน ส่วนหนึ่งมาจากนักศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน มีฐานะยากจนทำให้สัดส่วนนักศึกษายากจนของมหาวิทยาลัยขอนแก่นน่าจะมีเยอะที่สุด
นอกจากนี้ค่าเทอม ค่าหน่วยกิต ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ค่อนข้างที่จะถูกเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น รวมทั้งหมดแล้ว อยู่ที่ประมาณ 12,000 – 18,000 บาท ซึ่งเป็นทางอ้อมที่เราสนับสนุนให้เยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้นการที่เราต้องดูแลประชากรนักศึกษาที่ยากจน จึงเป็นสิ่งที่เราทำมาตลอด และเป็นจุดแข็งที่ทำให้เราได้คะแนนตรงนี้เยอะ
ส่วนด้านการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตรวิศวสิ่งแวดล้อม หลักสูตรด้านพลังงานสะอาด รวมไปถึงผลักดันให้ทุกหลักสูตรสนับสนุนการแก้ปัญหาของชุมชน
โดยเราเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาลงพื้นที่การทำวิจัยหรือการสนับสนุนชุมชน หรือการวิจัยชุมชนเยอะที่สุด เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่มีปัญหาในเรื่องของความยากจน ด้านอาชีพ เพราะฉะนั้นหลักสูตรต่าง ๆ ก็จะเชื่อมโยงกับการลงพื้นที่เป็นจำนวนมาก” ผศ.นพ.ธรา ธรรมโรจน์ กล่าว
นอกจากนี้ ผศ.นพ.ธรา ยังกล่าวเสริมว่า การรักษาอันดับ 1 ได้ในด้าน SDGs 4 Quality Education เป็นไปตามกลยุทธ์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 เรื่อง Academic Service Transformation ที่เน้นการเชื่อมโยงองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปสู่ชุมชน เพื่อสร้างความยั่งยืนและสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวโยงกับปัญหาชุมชนจริง ๆ
“การที่เราเข้าการจัดอันดับ THE Impact Rankings ติดอันดับ 1 ของประเทศไทย ในปี 2020 และ ด้าน SDGs 4 Quality Education การศึกษาที่เท่าเทียมที่ติดอันดับ 1 ต่อเนื่องมา 2 ปี ตั้งแต่ 2020 – 2021
นับเป็นกำลังใจ และ เป็นการยืนยันว่ากระบวนการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เชื่อมโยงกับชุมชนและนำปัญหาของชุมชนมาเป็นประเด็นหรือหัวข้อในการวิจัย การเรียนการสอนเป็นสิ่งที่เราทำมาถูกทาง
ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับ สะท้อนว่า จุดแข็งของมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ เรื่องการจัดการเรียนการสอน การบริการองค์ความรู้สู่ชุมชน ซึ่งเราจะยังคงสนับสนุนประเด็นยุทธศาสตร์นี้ต่อไป” ผศ.นพ.ธรา กล่าว
รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต่อไปว่า “เป้าหมายในปีหน้ามีการวางแผนที่จะนำ SDGs ทั้งหมดมาดู และพิจารณาว่าใน SDGs ข้อใด ที่เรายังต้องพัฒนา หรือยังทำโครงการไม่เพียงพอ
เช่น SDGs 6: การจัดการน้ำและสุขาภิบาล SDGs 7: พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ SDGs 8: การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDGs 9: อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน
มหาวิทยาลัยอาจจะต้องให้ความสำคัญในด้านดังกล่าวมากขึ้น ส่วน SDGs อื่นที่เราทำอยู่แล้วก็จะต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป และอาจจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านต่าง ๆ ที่ทำมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทำได้ดี เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน” ผศ.นพ.ธรา กล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ของสหประชาชาติ ทั้ง 17 ด้าน ประกอบด้วย SDGs 1 : ขจัดความยากจน SDGs 2: ขจัดความหิวโหย SDGs 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDGs 4: การศึกษาที่เท่าเทียม SDGs 5: ความเท่าเทียมทางเพศ SDGs 6: การจัดการน้ำและสุขาภิบาล SDGs 7: พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ SDGs 8: การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจSDGs 9: อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน SDGs 10: ลดความเหลื่อมล้ำ SDGs 11: เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน SDGs 12: แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนSDGs 13: การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDGs 14: การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล SDGs 15: การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก และ SDGs 16: สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก SDGs 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน