กระทรวงการต่างประเทศ แหวกม่านหมอกโคมิด-19 จัดประชุมออนไลน์ ร่วมกับ สหพันธ์มวยไทยนานาชาติ หรือ IFMA (อิฟมา) กำหนดแนวทางและแผนผลักดันมวยไทยสู่โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส รับเป็นองค์กรประสานงานในการนำผู้แทนอิฟมา เข้าพบและเจรจากับคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ทั้งนี้ ตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ดอน ปรมัตถ์วินัย) เพื่อสนองตอบนโยบายนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แสดงเจตจำนงค์ให้องค์กรที่เกี่ยวข้องนำมวยไทยสู่โอลิมปิกเกมส์
สำหรับการประชุมออนไลน์ครั้งนี้ มีขึ้นเมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ, นางอรพินทร์ หาญชาญชัยกุล ผู้อำนวยการกองการทูตวัฒนธรรม, น.ส.พิชชานันท์ พนาดำรง นักการทูตชำนาญการ กองการทูตวัฒนธรรม ในฐานะผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ, ดร.ศักดิ์ชาย ทัพสุวรรณ ประธานสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองประธานสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ และคณะ, มร.สเตฟาน ฟ็อกซ์ เลขาธิการสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ, น.ส.ชริษษา ไทแนน ผู้แทนอิฟมา ประจำสำนักงานกรุงโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, นายขจร พราวศรี อุปนายกสมาคมกีฬามมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ และนางสุปราณี คุปตาสา ผู้จัดการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ
โดยที่ประชุมได้รับทราบถึงที่มาของการประชุมจาก นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ว่า มาจากนโยบายของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีคำสั่งให้กรมสารนิเทศ ประสานงานกับผู้แทนสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้มีการประชุมในครั้งนี้
ทางด้าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองประธานอิฟมา ได้มอบหมายให้ทีมงานเลขานุการ นำเสนอประวัติความเป็นมาของสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ ซึ่งประเทศไทย เป็นแกนนำจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2536 โดยมีการประชุมรับรองข้อบังคับและให้สัตยาบันร่วมกันในการปฏิบัติตามข้อบังคับของสหพันธ์ฯ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2536
หลังจากนั้น คณะกรรมการสหพันธ์ฯ ได้ดำเนินการนำมวยไทย เข้าสู่การรับรองของสมัชชาสหพันธ์กีฬานานาชาติ หรือ GAISF (ไกสฟ์) เพื่อเป็นกีฬาแห่งประชาคมโลก ตามกระบวนการโอลิมปิกส์ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2547 และอีก 10 ปีต่อมา คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ก็มีมติรับรองกีฬามวยไทย เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2559 ให้มวยไทยมีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะได้รับการพิจารณาบรรจุเข้าสู่โปรแกรมโอลิมปิกเกมส์ ต่อไป
จากนั้น มร.สเตฟาน ฟ็อกซ์ ได้นำเสนอแผนการผลักดันกีฬามวยไทย สู่โอลิมปิกเกมส์ ต่อที่ประชุม ซึ่งได้ดำเนินการมาก่อนที่ไกสฟ์และไอโอซี จะให้การรับรองกีฬามวยไทยมาแล้ว โดยนำผลงานและความสำเร็จที่เป็นประจักษ์ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อสร้างกระแสการยอมรับไปทั่วโลก เพิ่มศักยภาพให้กับกีฬามวยไทย ได้รับการยอมรับโดยไม่มีขอบเขตจำกัด ซึ่งในที่สุดแล้วกีฬามวยไทย ก็ไม่ได้มีบทบาทอยู่เฉพาะความเป็นกีฬาเท่านั้น แต่ได้ก้าวสู่การยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ หรือ UN (ยูเอ็น) และองค์การยูเนสโก หรือ UNESCO ในฐานะกิจกรรมเพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทั่วโลก รวมทั้งเพื่อกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนคุณภาพชีวิตของประชากรโลกทุกกลุ่มก้อน
นอกจากนั้นภายใต้การทำงานอย่างจริงจังของสหพันธ์มวยไทยโลก ยังสามารถผลักดันกีฬามวยไทยเข้าสู่การแข่งขันในกีฬาเวิลด์เกมส์, กีฬาเวิลด์คอมแบตเกมส์ และกีฬามหาวิทยาลัยโลก รวมทั้งกีฬาระดับนานาชาติอื่นๆ ขยายขอบเขตไปเป็นกิจกรรมที่ประชาชนและเยาวชนทั่วไปนำไปฝึกฝน ออกกำลังกาย เตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ที่จะมีขึ้นในอนาคต ความสำเร็จของสหพันธ์ฯ ในการสนับสนุนกีฬามวยไทย ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเท่านี้
สิ่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับคนไทยและกีฬามวยไทย ที่ปรากฎขึ้นล่าสุดก็คือการที่คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งทวียุโรป หรือ EOC ได้มีมติบรรจุกีฬามวยไทย เข้าไปในการแข่งขันกีฬายูโรเปี้ยนเกมส์ 2023 ที่เมืองคราคอฟ ประเทศโปแลนด์ การดำเนินงานและความสำเร็จที่ปรากฎขึ้นนี้เกิดจากความพยายามของสหพันธ์ฯ เท่านั้น ทั้งที่มวยไทยเป็นของคนไทย แต่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงของประเทศไทย ก็มิได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนเหมือนอย่างรัฐบาลจีน ที่สนับสนุนกีฬาวูซู หรือ รัสเซีย ที่สนับสนุนกีฬาแซมโบ อย่างไรก็ดี ในวาระที่กีฬามวยไทย มีโอกาสที่จะเข้าสู่โอลิมปิกเกมส์ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ก็อยากเห็นหน่วยงานของรัฐบาลไทย แสดงถึงความพร้อม ความจริงใจในการสนับสนุนกีฬามวยไทย เข้าสู่การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นี้ด้วย
ขณะที่ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ได้แจ้งว่า กระทรวงการต่างประเทศ ไม่ได้นิ่งนอนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ความสนใจมาโดยตลอด และแสวงหาแนวทางที่จะผลักดันให้กีฬามวยไทย ให้ได้รับการบรรจุเข้าสู่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์อย่างเต็มที่