กรมชลประทาน จัดสื่อสัญจร หลังโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำนางั่วมีแนวโน้มสดใส เผยหากโครงการเสร็จได้ตามแผนจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้เป็นอย่างดี พร้อมเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค – บริโภคในฤดูแล้ง สร้างความยั่งยืนให้ภาคการเกษตร
นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดี กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ในช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมาโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำนางั่ว มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ทางกรมฯ จึงได้จัดกิจกรรมสื่อสัญจร เพื่อเป็นการเสริมศักยภาพให้แก่โครงการในเชิงการสื่อสารภาพความชัดเจนของโครงการดังกล่าว อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชนและภาคการเกษตรได้ดียิ่งขึ้น
ทางกรมฯ จึงได้จัดกิจกรรมสื่อสัญจรเพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้รับทราบความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการอ่างเก็บน้ำนางั่วในทุกมิติ รวมถึงขยายช่องทางการสื่อสารสู่ภาคประชาชนในพื้นที่ที่ศึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเพื่อการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลของโครงการแก่สาธารณชน ให้ได้รับทราบอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
“ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดโครงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำนางั่ว
ตำบลนางั่ว อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อพิจารณาตรวจสอบความเป็นไปได้ในเบื้องต้น
โดยมีนายกฤษฏ์หิรัญ สาราช ปลัดอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ รักษาราชการแทนนายอำเภอเมืองเพชรบูรณ์เป็นประธาน ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นสรุปได้ว่า โครงการอ่างเก็บน้ำนางั่ว มีความเหมาะสม ทางด้านวิศวกรรมในการพัฒนาเป็นแหล่งเก็บกักน้ำ
และต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 กรมชลประทาน ได้จัดทำรายงานวางโครงการ (Pre – feasibity Study) โครงการอ่างเก็บน้ำนางั่ว อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อเป็นข้อมูลและแนวทางดำเนินการต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะสามารถเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2566 ถึงปี 2567 ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ประชาชนชาวตำบลนางั่ว และตำบลท่าพล จะได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำโครงการนี้ ได้อย่างเต็มที่”
รองอธิบดี กรมชลประทาน กล่าวต่อด้วยว่า โครงการอ่างเก็บน้ำนางั่วนี้มีที่มาจาก ช่วงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 โดยนายจรัส พั้วช่วย ประชาชนในตำบลนางั่ว ได้ประสานหน่วยงานผ่านผู้แทนราษฎร เพื่อขอความช่วยเหลือจากกรมชลประทานให้สำรวจและจัดทำโครงการอ่างเก็บน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน
จากนั้นในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2540 กรมชลประทานศึกษาจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้น (Reconnaissance Report) จากนั้นไม่นาน พระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 และ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ความว่า “ให้ทางกรมฯ พิจารณาวางโครงการเก็บกักน้ำตอนบนของลำน้ำสาขาป่าสักไว้ให้มาก เพื่อใช้ในด้านการเกษตรและป้องกันอุทกภัย เนื่องจากน้ำเหนือเขื่อนป่าสักมีมาก ให้พิจารณาจัดเก็บกักให้เหมาะสม”
ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำนางั่ว มีแผนสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับอุปโภค – บริโภค อีกทั้งเพื่อบรรเทาความสียหายจากอุทกภัย โดยโครงการจะตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 1 บ้านจะวะสิต ตำบลริมสีม่วง อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ลักษณะทางอุทกวิทยาโครงการอ่างเก็บน้ำนางั่ว มีพื้นที่รับน้ำฝน 30.26 ตารางกิโลเมตร และรองรับปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 14.94 ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี
โดยมีโครงสร้างเป็นเขื่อนหินถมแทนดินเหนียว ขนาดสันเขื่อนกว้าง 10 เมตร ตัวเขื่อนยาว 1,220 เมตร และสูง 41 เมตร ความจุที่ระดับน้ำต่ำสุด 0.50 ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 10.67 ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุที่ระดับน้ำสูงสุดที่ 12.43 ล้านลูกบาศก์เมตร ความจุใช้การที่ 10.17 ล้านลูกบาศก์เมตร และพื้นที่น้ำท่วมที่ระดับน้ำสูงสุด 577 ไร่ มีพื้นที่รับประโยชน์ แบ่งออกเป็น พื้นที่ชลประทานปัจจุบัน ขนาด 4,960 ไร่ พื้นที่ชลประทานใหม่ จำนวน 3,700 ไร่ รวมทั้งสิ้น 8,660 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์จำนวน 13 หมู่บ้าน 2 ตำบล 2 อำเภอ