พช. ประกวดผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ 18 ตำบลทั่วไทย ชิงเงินรางวัล 1 ล้านบาท

วันที่ 23 มิถุนายน 2564 ที่ห้องประชุม 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมในงามแถลงข่าว การประกวดผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศ ประเภทดีเลิศ ตามโครงการเสริมสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ร่วมด้วย คุณสร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวต้อนรับผู้บริหารและแขกผู้มีเกียรติ พร้อมด้วย คุณแม่หนูจีน ศรีนัมมัง ผู้นำการเปลี่ยนแปลง อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ขอบคุณทุกฝ่ายที่มาร่วมให้กำลังใจให้การค้นหาผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยสร้างสิ่งที่เราอยากจะเห็นให้เกิดขึ้น คือเรื่องของการทำให้ชุมชนมีเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง และชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อยากเห็นการดำเนินการที่ส่วนราชการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับชาวบ้านให้น้อยลง หมายความว่า พี่น้องประชาชนจำเป็นต้องพิสูจน์ตนเองว่าสามารถดูแลกันเองได้

“ใน 76 จังหวัด 878 อำเภอ มีเกือบ 8,000 ตำบล 80,000 กว่าหมู่บ้าน มีความเข้มแข็งอยู่ในทุกพื้นที่ แต่ความเข้มแข็งนี้เป็นความเข้มแข็งที่อาจจะเป็นลักษณะเฉพาะตัว ครัวเรือนเข้มแข็ง อย่างครัวเรือนคุณแม่หนูจีนเข้มแข็ง ปลูกพืชผักสวนครัว ใช้เวลาว่างในการทำงานหัตถศิลป์หัตถกรรม มีอาชีพหลักทำนู่นทำนี่ ไม่ให้ลูกหลานยุ่งเกี่ยวยาเสพติด ช่วยเหลือคน อะไรแบบนี้ ยังมีอยู่ เมืองไทยมีอยู่ทั่วไป แต่เรื่องใหญ่ที่เราไปเจอมา และนำมาเป็นต้นแบบคือ ที่ตำบลโก่งธนู เมืองลพบุรี ซึ่งเขาเป็นตำบลเข้มแข็งที่เรามั่นใจว่ายั่งยืน เราไปถอดบทเรียน เราไปพบว่าผู้นำทุกภาคส่วนทั้ง พระ ครู นายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำ อช. ผู้นำสตรี เขาช่วยกัน ซึ่งตรงกับแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชฯ ที่พระราชทานว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” หมายความว่าในพื้นที่ต้องตื่นตัว หรือจะเรียกว่า “ดวงตาเห็นธรรม” ถ้าเป็นพระก็ต้องบรรลุ เห็นสัจธรรม ลุกขึ้นมาทำ เขามีความเข้มแข็งขนาดที่ว่ามีโควิดเป็นปีก็อยู่ได้ และช่วยเหลือคนอื่นได้ เราจึงขอให้เขาเป็นต้นแบบ ไม่ให้เข้ามาประกวดด้วย เพียงแค่ให้กำลังใจตำบลอื่นหมู่บ้านอื่น เป็นครูเป็นอาจารย์เขาแทน ซึ่งเขาก็เสียสละ ไม่งั้นเขาก็มีสิทธิ์ได้เงิน 1 ล้านบาท” นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าว

นอกจากนี้ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า เราพยายามจะให้พี่น้องประชาชนในตำบลหมู่บ้านค้นหาผู้นำของตัวเอง อย่างน้อย 15 คน เพื่อให้ขึ้นมาเป็นผู้นำ และพาพี่น้องประชาชนที่เป็นญาติมิตรเพื่อนฝูงช่วยกันทำในสิ่งที่ดี หรือ Change for Good ซึ่งเราก็มีต้นแบบว่า ที่โก่งธนูเป็นต้นแบบให้เรา เขาน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เขาน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาใช้ เขาคำนึงทั้งเรื่องความสุขส่วนตัว ซึ่งเป็นความสุขเฉพาะหน้า มีอาหารปลอดภัย ลดรายจ่าย ไม่ต้องพึ่งพาเรื่องตลาด คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการขยะ ปลูกต้นไม้ คำนึงถึงเรื่องสวัสดิการของผู้คนในตำบลหมู่บ้าน เขามีกองทุนสวัสดิการจากการบริหารจัดการขยะ มีเรื่องของจิตสาธารณะ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สร้างตำบลหมู่บ้านให้มีคุณธรรม มีความรักมีความเมตตาด้วยการแบ่งปัน มีการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ก่อนแจกจ่ายเกื้อหนุนที่เหลือจากกินในหมู่บ้าน ที่สำคัญที่สุด พื้นที่สาธารณะไม่ทิ้งให้เปล่าประโยชน์ ปลูกไม้ยืนต้นในชื่อโครงการ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” เพราะในที่สาธารณะจำเป็นต้องมีต้นไม้ที่ทนทาน อายุยืนยาว ออกลูกออกผลก็แบ่งกันกิน ไม่ต้องดูแลแบบใกล้ชิดมากนัก

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย แบ่งเขตตรวจราชการทั้ง 76 จังหวัด ออกเป็น 18 เขต เราก็หาแชมป์ของเขตมาถอดบทเรียน เพื่อให้กำลังใจเขา และให้รางวัลตำบลที่ชนะเลิศระดับเขต ตำบลละ 100,000 บาท โดยให้แบบมีเงื่อนไข โดยนำไปใช้พัฒนาตำบลของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งในบางตำบลมีคนสมทบบริจาคเพิ่มเติมมาพัฒนาหมู่บ้านของตัวเองให้มีสิ่งดีเพิ่มมากขึ้น สำหรับเกณฑ์การประกวดเอาแบบตำบลโก่งธนู ดูที่ความรักความสามัคคี ความร่วมมือกันในการพัฒนาตำบลหมู่บ้านของตัวเองให้มีความมั่นคงด้านอาหาร มีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีกิจกรรมที่คนอยู่ในศีลในธรรม และสำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือนั้นกระจายครอบคลุมไปถึงระดับองค์กรที่อยู่ในตำบลหมู่บ้าน เช่น วัด โรงเรียน หน่วยราชการ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เช่น อบต. อนามัย และทุกครัวเรือน ที่สำคัญที่สุดต้องมีกิจกรรมที่ช่วยเหลือและจุนเจือสังคม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทั้งหลายทั้งปวงก็คือทำให้เกิดความมั่นคง และเป็นต้นเค้าในการเผยแพร่ขยายผลสิ่งดีๆ ให้เกิดในพื้นที่ตำบลหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย

“การตัดสินจะใช้ระบบซูม คลาวด์ มีตติ้ง (Zoom Cloud Meeting) โดยพี่น้องทั้ง 18 ตำบลกลายเป็นมนุษย์ไอที ต้องรู้จักทำคลิปนำเสนอผลงานของตัวเองในระบบทางไกล ส่วนคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตัดสินอยู่ที่กรุงเทพฯ ยกตัวอย่างเช่น ดร.นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน, ไมตรี อินทุสุต อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน, พลเอก นเรนทร์ สิริภูบาล ผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา, บรรหาญ เนาวรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู และ สร้อยฟ้า โอสุคนธ์ทิพย์ เป็นต้น และที่สำคัญ ภารกิจนี้เป็นการสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านมีพระราชปณิธานสืบสานและต่อยอดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เพราะทั้ง 18 ตำบลน้อมนำแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มาขับเคลื่อนมาดูแลครอบครัว โดยทั้ง 18 ตำบลจะช่วยเป็นต้นแบบให้เกิดตำบลที่เข้มแข็งกว่า1,000 ตำบล ซึ่งในหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นบทสรุปสำคัญจะเกิดขึ้นเพราะว่า 1,000 ตำบล จะขยายผลเพิ่มต่อไปจนครบทั้งประเทศกว่า 8,000 ตำบล ได้ภายใน 2-3 ปี คือสิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นเป้าหมายของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือเรื่องของครัวเรือน สามารถช่วยดูแลคนใน 1 หมู่บ้าน, คน 1 หมู่บ้าน จะช่วยดูแลคนใน 1 ตำบล, คน 1 ตำบล จะช่วยดูแลคน 1 อำเภอ, คน 1 อำเภอ จะดูแลคน 1 จังหวัด, คน 1 จังหวัด ดูแลคน 1 เขตจังหวัด หรือ 1 กลุ่มจังหวัด, คน 1 กลุ่มจังหวัด ดูแลคน 1 ภาค, คน 1 ภาค ดูแลคนทั้งประเทศ, คน 1 ประเทศ กลายเป็นครัวโลกได้ และเป็นครัวโลกที่ปลอดภัยอีกด้วย

สำหรับการตัดสินในครั้งนี้จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 29-30 มิถุนายน 2564 และวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2564 รวมทั้งหมด 4 วัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *