ดาว ผนึกกำลัง เอสซีจี มุ่งแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน รีไซเคิลพลาสติกสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน

บริษัท ดาว ร่วมกับ เอสซีจี ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ในการรีไซเคิลพลาสติกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติก และป้องกันการหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สำหรับพลาสติกในประเทศไทย

มร.จิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดาว

มร.จิม ฟิทเทอร์ลิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดาว กล่าวว่า “ภาคอุตสาหกรรมและทุกคนในสังคมจำเป็นต้องช่วยกันนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ด้วยการจัดเก็บและการจัดการขยะอย่างถูกวิธี โดยต้องลงทุนในด้านเทคโนโลยีในการจัดเก็บ การบริหารจัดการขยะ การรีไซเคิล ตลอดจนการหาตลาดใหม่ ๆ ให้กับขยะพลาสติกเหล่านั้น ปัจจุบัน ดาว ได้ร่วมมือกับพันธมิตรทั่วโลกในการนำขยะพลาสติกมาใช้ประโยชน์และรีไซเคิลใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานร่วมกับเอสซีจีในครั้งนี้ จะช่วยให้เราทำให้โลกไม่มีขยะพลาสติกตกไปสู่สิ่งแวดล้อม”

ข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง ดาว และ เอสซีจี ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ร่วมกันของทั้งสององค์กรในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนพลาสติก เพื่อลดปริมาณการรั่วไหลของพลาสติกไปสู่สิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีและกระบวนการด้านการรีไซเคิลเชิงกล (Mechanical Recycling) การรีไซเคิลพลาสติกกลับเป็นวัตถุดิบ (Feedstock Recycling) และการนำวัตถุดิบหมุนเวียนมาผลิตพลาสติก (Renewable Feedstock) ที่เกิดขึ้นในความร่วมมือครั้งนี้ จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ เม็ดพลาสติกรีไซเคิล ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากขยะพลาสติก วัตถุดิบปิโตรเคมีจากขยะพลาสติก เม็ดพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เป็นต้น

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “ความร่วมมือในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะจัดการปัญหาพลาสติกใช้แล้วอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ที่ส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งเป็นโซลูชั่นเพื่อการรีไซเคิล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะพลาสติกในประเทศไทย”

มร.โจนาธาน เพนไรซ์ ประธานบริษัท ดาว ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

มร.โจนาธาน เพนไรซ์ ประธานบริษัท ดาว ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นโอกาสทางธุรกิจและเป็นอีกหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ดาว จะนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ และประสบการณ์ทางธุรกิจกว่า 50 ปีในประเทศไทย มาพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกในประเทศต่อไป”ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะตอบโจทย์ปัญหาสังคม ยังตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่จะเพิ่มอัตราการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ภายในปี พ.ศ. 2570 การที่ขยะพลาสติกหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมถือเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบัน ที่ผ่านมา ดาว และ เอสซีจี จึงได้คิดค้นวิธีการและนวัตกรรมในการช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีที่นำขยะพลาสติกมาเป็นส่วนผสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของถนนยางมะตอยและลานจอดรถจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับขยะพลาสติกที่มีมูลค่าต่ำ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดหลายชั้นและขยะพลาสติกที่ปนเปื้อน

ระบบเศรษฐกิจในขณะนี้เป็นแบบเส้นตรง (Linear Economy) คือนำทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตใช้แล้วก็ทิ้งไป แต่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดด้วยกระบวนการใช้ซ้ำ หมุนเวียนกลับมาใช้ และการรีไซเคิลแปรรูปเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ซึ่งมีความยั่งยืนกว่าและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมปัจจุบัน โดยที่ผ่านมา ดาว และ เอสซีจี ได้เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายพันธมิตรเพื่อกำจัดขยะพลาสติก หรือ Alliance to End Plastic Waste (AEPW) ซึ่งร่วมกับสถาบันการเงิน ภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในการร่วมกันสร้างสรรค์โลกที่ปราศจากขยะพลาสติกให้เป็นจริงได้ในที่สุด

ภายในงานมีการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิลที่เป็นการพัฒนาร่วมกันของดาว และ เอสซีจี และเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่จะนำมาใช้ภายหลังการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ด้วย โดยนายประทรรศน์ สูตะบุตร รองผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทยและนายธวัชชัย ตุงคะเวทย์ Technical Service and Development Packaging and Specialty Plastics บริษัทสยามเลเทกซ์สังเคราะห์ จำกัด ร่วมให้ข้อมูลว่า การนำขยะพลาสติกมาใช้ทำถนนนั้นไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันยังเป็นอีกวิธีช่วยกำจัดขยะพลาสติกอย่างคุ้มค่า ได้ถนนที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น แต่มีค่าใช้จ่ายถูกลง

“โดยปกติมาตรฐานของถนนต้องมีการควบคุมอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ความแข็งแรงทนทาน 2.ความหนาแน่น 3.ความเป็นรูพรุน และ 4.ความยืดหยุ่น เพราะฉะนั้นการนำพลาสติกรีไซเคิลมาเป็นส่วนผสมไม่ทำให้เกิดข้อด้อยแต่อย่างใด ขณะที่สิ่งที่ได้รับคือความแข็งแรงของถนนเพิ่มขึ้น 15-30% ทั้งยังช่วยลดการกัดกร่อนการเสื่อมสภาพให้ช้าลง สิ่งสำคัญคือเราสามารถนำขยะพลาสติกมาใช้ได้ทุกชนิดทั้ง พลาสติก pe ประเภทถุงก๊อบแก๊บ pp ถุงร้อน ขวด pet แก้วใส ฯลฯ เพราะมีราคาต่ำ โดยต้นทุนการใช้ยางมะตอยอยู่ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่พลาสติกมีค่าจัดการ 10-15 บาท ทั้งนี้ถนน 95% จะมีส่วนประกอบหลักๆ คือ หิน  และอีก 5%  เป็นตัวเชื่อมให้หินเกาะตัว ยางมะตอยจึงมีบทบาทสำคัญ  ในขณะที่การศึกษาค้นพบว่าขยะพลาสติกก็มีคุณสมบัติเป็นตัวเชื่อมเช่นเดียวกันกับยางมะตอย จึงสามารถนำขยะพลาสติกที่ผ่านกระบวนการมาใช้ประโยชน์ได้

ปัจจุบันนวัตกรรมถนนพลาสติกรีไซเคิลได้นำไปใช้งานจริงบ้างแล้วใน นิคมอุตสาหกรรม RIL  ระยอง, นิคมอุตสาหกรรมอมตะ , หมู่บ้านจัดสรร  แกรนด์บางกอก บูเลอวาร์ดของบริษัท SC ASSET, ซีพีออลล์ (7-11) โดยนำไปทำลานจอดรถ  หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จจะช่วยกำจัดขยะพลาสติกไปได้มาก เพราะถนน 1 กิโลเมตร ต้องใช้ขยะพลาสติกประมาณ 80 ตัน  หากภาครัฐสนับสนุนอย่างจริงจัง จะเป็นประโยชน์อย่างมาก


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *