สมาคมโรคเต้านม จัดประชุม งานมะเร็งเต้านม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 4

สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ เครือข่ายการดูแลรักษามะเร็งเต้านมในเขตภาคเหนือตอนบน (Suandok Breast Cancer Network) และ อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ (Art for Cancer) พร้อมหน่วยงานเครือข่ายจัดงานประชุมมะเร็งเต้านม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 4 : South East Asia Breast Cancer Symposium (SEABCS) 2019เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม พร้อมยกระดับการพัฒนาองค์ความรู้ การจัดการด้านการดูแลรักษา และเทคโนโลยีความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมเพื่อยืดอายุและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

พลโทรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิชัย วาสนสิริ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย

พลโทรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิชัย วาสนสิริ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า“ปัจจุบันพบว่ามะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิงไทย และพบมากที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก โดยมีอุบัติการณ์ในผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 1.7 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2551และในประเทศไทย พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่สูงถึง 10,193 ราย หรือคิดเป็นอัตราส่วน 28.6 ต่อประชากรหนึ่งแสนคนในปี พ.ศ. 2551 โดยพบมากในผู้หญิงไทยในช่วงอายุ 45-50 ปี ซึ่งมะเร็งเต้านมนั้นเริ่มจากพัฒนาการของเซลล์ที่ผิดปกติในเนื้อเยื่อเต้านม โดยมะเร็งนั้นอาจจะอยู่เฉพาะที่บริเวณเต้านม หรือ แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย หรือรู้จักกันว่ามะเร็งเต้านมระยะที่ 4 ซึ่งถือเป็นระยะสุดท้าย โดยเป็นระยะที่มะเร็งจะแพร่กระจายจากเต้านมและต่อมน้ำเหลืองโดยรอบไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งที่พบมากจะกระจายไปสู่กระดูก ปอด ตับ และสมองโดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตคือการแพร่กระจายของมะเร็งสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยจากข้อมูลการรักษาในปัจจุบันพบว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่มาพบแพทย์และได้ผลการรักษาที่ไม่ค่อยดีนัก มักเนื่องมาจากพบภาวะมะเร็งช้าเกินไป หรือตรวจพบแต่ไม่ยอมมาปรึกษาแพทย์มะเร็งเต้านมโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงทั่วโลก ไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดให้กับตัวผู้ป่วยเท่านั้นแต่ยังนำความทุกข์ทรมานใจมาสู่คนรอบข้างอีกด้วยแต่ถ้าหากเกิดเป็นแล้วรู้ตัวตรวจพบแต่เนิ่นๆเข้ารับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์และด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ยังมีโอกาสที่จะสามารถรักษาให้หายได้”

การจัดงานประชุมมะเร็งเต้านม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 4: South East Asia Breast Cancer Symposium (SEABCS) 2019 ในครั้งนี้ สมาคมฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตร และเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม เพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน เกี่ยวกับพัฒนาการรักษามะเร็งเต้านม ไม่ว่าจะเป็นการรักษาผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบคงความสวยงามของเต้านม ตลอดจนแนวทางการรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบัน รวมทั้งการเข้าถึงการบำบัดรักษาที่เหมาะสมยิ่งขึ้นสำหรับผู้ป่วย พร้อมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับทีมผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศที่จะมาร่วมเผยแพร่วิทยาการและเทคโนโลยีความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมเพื่อยืดอายุและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงช่วยให้ความรู้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้รับการรักษาอย่างมีมาตรฐานที่ดีมากขึ้นอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ”

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อิ่มใจ ชิตาพนารักษ์ หัวหน้าเครือข่ายมะเร็งเต้านมเขตภาคเหนือตอนบน

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อิ่มใจ ชิตาพนารักษ์ หัวหน้าเครือข่ายมะเร็งเต้านมเขตภาคเหนือตอนบนกล่าวว่า “ปัจจุบันมะเร็ง เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุดในโลก และเป็นโรคร้ายที่ได้ชื่อว่าคร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมนับเป็นโรคมะเร็งอันดับหนึ่งในหญิงไทยและหญิงทั่วโลก ทำให้มีผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ซึ่งต้องการการบำบัดรักษาที่เหมาะสม แต่เนื่องด้วยปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์มะเร็งรังสีอายุรแพทย์โรคมะเร็ง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาการปวด)ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม มีอยู่เพียงแค่ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและตามโรงพยาบาลประจำจังหวัดเท่านั้น จึงนับเป็นการเข้าถึงที่ยากมากสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากเขตเมืองที่จะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว”

“เครือข่ายฯ ได้ร่วมพัฒนาองค์ความรู้การจัดการด้านการดูแลรักษา และดำเนินการขยายการบำบัดรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้สนับสนุนการดำเนินโครงการของเครือข่ายให้สามารถขยายออกไปได้ยังระดับตำบลและหมู่บ้าน เพื่อจะสามารถจัดให้มีการบำบัดรักษาและการดูแลอย่างประคับประคองให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งสามารถจัดการกับขั้นตอนแรกของการดูแลก่อนการส่งต่อผู้ป่วยไปยังการดูแลขั้นตติยภูมิ และยังสามารถส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน (ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามนั้นควรได้รับสิทธิเข้ารับรักษาในลำดับแรกเพื่อผ่านไปยังเส้นทางที่ด่วนพิเศษด้วยความจำเป็นฉุกเฉินผ่านระบบคิวออนไลน์เอ็กซ์เพรส)โดยมุ่งหวังว่าระบบ

ที่จัดทำขึ้นนี้จะสามารถเป็นต้นแบบในการดำเนินการให้กับพื้นที่ในภาคอื่นๆ ในประเทศ และต่างประเทศต่อไปในอนาคต และเห็นความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างพยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั้งในระดับตำบลและหมู่บ้านเพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามได้รับการบำบัดรักษาและการดูแลแบบประคับประคองได้อย่างดียิ่งขึ้น ในเขตพื้นที่หรือภูมิลำเนาของตนเอง หรือในบริเวณที่อยู่ห่างไกลได้รับการดูแลและส่งต่อได้อย่างเหมาะสม”

คุณแคโรลีน เทย์เลอร์ (Carolyn Taylor) ผู้ก่อตั้ง Global Focus on Cancer

คุณแคโรลีน เทย์เลอร์ (Carolyn Taylor) ผู้ก่อตั้ง Global Focus on Cancerได้ให้ความเห็นว่า“มะเร็งเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งในฐานะที่ตนเองเป็นช่างภาพมืออาชีพและรอดชีวิตจากโรคมะเร็งรังไข่ จึงได้มีความคิดริเริ่มที่จะทำโครงการสารคดีเกี่ยวกับการต่อสู้กับมะเร็งว่าเป็นเรื่องสากลขึ้นในปี พ.ศ.2553 โดยจะบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ผ่านรูปถ่ายเพื่อให้เห็นว่าทุกคนมีความทัดเทียมกันในการต่อสู้กับโรคร้ายไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด รวยจนขนาดไหน หรือนับถือศาสนาอะไร ซึ่งจากการเดินทางกว่า 96,000 ไมล์ในการทำนิทรรศการ และการพูดคุยกับผู้ป่วย ผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง แพทย์ และญาติผู้ป่วย ทำให้เห็นถึงปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจ การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคและแนวทางการรักษา การเข้าถึงการรักษา รวมทั้งกลุ่มผู้สนับสนุนและเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วย (support group) จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง Global Focus on Cancer เพื่อสร้างการตระหนักรู้ และเป็นแกนกลางในการสร้างเครือข่ายทั่วโลกเพื่อให้เกิดการวินิจฉัยโรคมะเร็งและได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นเพื่อผลลัพธ์ที่ดีกว่า เราอยากมีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักรู้ และเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของโรคมะเร็งเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติสามารถต่อสู้กับโรคได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งการจัดงานประชุมมะเร็งเต้านมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 4: South East Asia Breast Cancer Symposium (SEABCS) 2019 ในวันนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุน และผลักดัน เพื่อให้เกิดการสร้างการรับรู้ และตระหนักถึงโรคมะเร็งเต้านม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นจะเป็นประโยชน์ให้กับทั้งแพทย์ผู้ที่ให้การรักษา รวมถึงผู้ป่วย และญาติหรือผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโดยแต่ละปีมีผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งกว่า 18 ล้านคน และจะเพิ่มเป็น 24.9 ล้านในปี 2583 และกว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางซึ่งเข้าถึงการรักษาได้ต่ำมาก”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *