นางสาวสุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด (เว็ปไซต์ TerraBKK.com) กล่าวในงานเสวนา “LTV ทางร่วมของเศรษฐกิจไทย” ว่า พฤติกรรมการซื้อบ้านของคนไทยในยุค 4.0 ต้องยอมรับว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยคนส่วนใหญ่นิยมใช้ Digital Media เป็นช่องทางในการศึกษา ค้นหาข้อมูลก่อน เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจซื้อภายหลัง
จากการเก็บข้อมูลออนไลน์ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 402 ราย ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่า ผู้ที่มีรายได้ 10,001-35,000 บาทต่อเดือน กว่า 43% เป็นผู้ที่ไม่มีการถือครองอสังหาฯ และเป็นกลุ่มที่มีเงินออมอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่อีกราว 40-43% ของผู้ที่มีรายได้ 10,001-35,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่มีการถือครองอสังหาฯ 1 ทรัพย์เท่านั้น ส่วนกลุ่ม Gen X (อายุ 36-54 ปี) รายได้มากกว่า 50,000 บาทขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจ เพราะมีการถือครองอสังหาฯมากกว่า 2 ทรัพย์ขึ้นไป ถึง 52% เมื่อมาดูรายละเอียดจะพบว่า กลุ่ม Gen Y ตอนกลาง (อายุ 26-30 ปี) กว่า 55% ซื้ออสังหาฯหลังแรกเพื่อการอยู่อาศัยเอง ส่วนกลุ่ม Gen X (อายุ 36-54 ปี) และ Baby Boomer (อายุมากกว่า 54 ปี) มีแนวโน้มการซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่าและเป็นสินทรัพย์ในอนาคต ถึง 55% จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่า กลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 36 ปี ขึ้นไป มีการวางแผนทางการเงินด้วยการลงทุนในอสังหาฯ เพราะมองว่าเป็นการออมเงินในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ และยังสามารถเก็บเป็นทรัพย์สินสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตไว้ให้ลูกหลานได้ด้วย นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่ม Gen Y ตอนกลาง (อายุ 26-30 ปี) และ Gen Y ตอนปลาย(อายุ 31-35 ปี) ยังระบุว่านิยมซื้อคอนโดมิเนียม มากถึง 57% สวนทางกับกลุ่ม Baby Boomer (อายุมากกว่า 54 ปี) ที่ยังคงซื้อคอนโดฯ ในสัดส่วน 42% แต่จะมีความนิยมซื้อทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว และอาคารพาณิชย์มากกว่า ถึง 58%
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าในช่วง ปี2558 -2561 อสังหาฯไทย ตลาดมีความคึกคักอย่างมาก โดยจากการจัดอันดับของ Globalpropertyguide.com พบว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่น่าลงทุนในอสังหาฯอันดับ 4 ด้วย Rental Yield 5.13% สูงกว่า มาเลเซีย สิงคโปร์ และ ญี่ปุ่น ขณะที่ราคาอสังหาฯของไทย ในรอบ 5 ที่ผ่านมา ราคามีการเปลี่ยนแปลงราว 16.29% ซึ่งปรับตัวน้อยกว่ามาเลเซีย ที่ราคาปรับตัวถึง 43.35% และญี่ปุ่น ปรับตัวถึง 29.85% ส่งผลให้อสังหาฯไทยมีความน่าสนใจ
โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีน ที่เข้ามาลงทุนซื้ออสังหาฯในไทยจำนวนมาก เห็นได้จากมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดทั้งหมดในปี 2560 ของชาวต่างชาติสูงถึง 27% และ 1 ใน 3 ของยอดการโอนเป็นของลูกค้าชาวจีน ซึ่งการเข้ามาซื้ออสังหาฯของชาวจีนในปี 2561 ทำให้ตลาดอสังหาฯไทยเติบโตสูง และเป็นตัวเร่งให้ราคาคอนโดฯบางทำเลดีดตัวสูงขึ้นจากปกติ แน่นอนว่าราคาที่สูงขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของลูกค้าชาวไทยที่รายได้ปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 4% เท่านั้น ไม่สอดคล้องกับราคาคอนโดฯ ที่เพิ่มขึ้นถึง 9%
สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาฯในปี 2562 นี้ คาดว่า ตลาดอยู่ในช่วงขาลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เพราะผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวจากมาตรการ LTV เร่งปรับกลยุทธ์ทำสินค้าออกมาให้ตอบโจทย์ลูกค้า และราคาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเตรียมความพร้อมรับความเสี่ยงใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของความท้าทาย โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย ซึ่งจะมีผลให้จำนวนประชากรวัยแรงงานลดลงและอาจเกิดผลกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย