นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน แถลงผลการจัดงาน OTOP นวัตวิถี 100 ชุมชนประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ประชาชนให้ความสนใจร่วมเข้ากิจกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนมีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง โดยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีความสามารถในการแข่งขัน ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ
ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การสร้างโอกาสเข้าถึงบริการของรัฐ มุ่งเน้นการสร้างอาชีพและการมีรายได้ที่มั่นคง โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local- Economy) ให้เกิดความเข้มแข็งโดยการใช้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างมูลค่า ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสเสน่ห์ของหมู่บ้าน ส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนเพื่อขยายเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทุกภาคส่วน ซึ่งก็รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่เกิดการชะลอตัวไปทั้งระบบ จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และชาวต่างประเทศ ลดลงไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ตลอดระยะเวลา ปีครึ่งที่ผ่านมาชุมชนท้องถิ่น กลุ่มผู้ผลิตสินค้าและ ผู้ประกอบการ OTOP นวัตวิถีได้รับผลกระทบ อย่างมาก ไม่มีช่องทางการตลาดให้จัดจำหน่ายสินค้าเหมือนแต่ก่อน กรมการพัฒนาชุมชนจึงการจัดโครงการชุมชนท่องเที่ยว 100 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ท่องเที่ยวแบบเสมือนจริง Virtual Tour เพื่อให้เกิดช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าให้กับชุมชน และผู้ผลิตสินค้า รวมถึงผู้ประกอบการด้าน OTOP ในรูปแบบออนไลน์ ที่ www.100otopvillage.com เมื่อวันที่ 30 ก.ย. – 8 ต.ค. 64 ที่ผ่านมาตาม Concept ที่ว่าอยู่ที่บ้าน อยู่ที่ไหน ใกล้ไกลเที่ยวได้ทุกที่
เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี รูปแบบออนไลน์ จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP นวัตวิถีและบริการด้านการท่องเที่ยวของชุมชนท่องเที่ยวออนไลน์ และส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จากการดำเนินงานดังกล่าว ได้ผลตอบรับระดับดีเยี่ยม โดยมีผู้เข้าชมงาน 619,136 คน ภายในงานประกอบด้วย ส่วนข้อมูลชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 4 โซน100 ชุมชน ได้แก่ โซนภาคกลางและภาคตะวันออก 36 ชุมชน โซนภาคเหนือ11 ชุมชน โซนภาคใต้ 17 ชุมชน โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ36 ชุมชน
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ 317 คู่ โดยเป็นบริษัทด้านการท่องเที่ยวเจรจาร่วมมือกับชุมชน ในการส่งเสริม เพื่อให้เกิดการประชาสัมพันธ์ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
นับได้ว่าเป็นการจัดงานที่ประสบความสำเร็จและตรงตามเป้าหมายของโครงการและได้รับกระแสตอบรับจากกลุ่มนักท่องเที่ยวและผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP นวัตวิถี เป็นการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าให้กับชุมชนท่องเที่ยวOTOP นวัตวิถี ในรูปแบบ new normal เป็นการวางรากฐานรูปแบบการจัดจำหน่ายสินค้า บริการ และแพคเกจของชุมชนท่องเที่ยวให้มีความรู้ความชำนาญในการบริการนักท่องเที่ยวและเป็นต้นแบบในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป