โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ สัตว์ที่ติดโรคและสามารถนำโรคไปสู่คน หรือ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า เช่น กระต่าย กระรอก กระแต หนู ลิง ชะนี แพะ แกะ วัว ควาย ค้างคาว เป็นต้น ในประเทศไทยสัตว์นำโรคที่สำคัญที่สุดคือ สุนัข และแมว พบได้เกือบทุกจังหวัด ทุกฤดูไม่ใช่แค่หน้าร้อน การติดต่อเกิดจากการถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัด เลีย ข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าโดนบาดแผลหรือเยื่อเมือก เช่น เยื่อบุตา ช่องปาก เป็นต้น
สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าของประเทศไทย ปี 2562
จากรายงานกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 28 สิงหาคม 2562 พบผู้เสียชีวิต 2 ราย ในจังหวัดสุรินทร์ และนครศรีธรรมราช พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากถูกสุนัขกัด ข่วน แล้วไม่รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมประชาสัมพันธ์ และเครือข่ายต่างๆ ได้เร่งสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศ ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยตามพระปณิธาณศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
กิจกรรมสำคัญได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข แมว อายุ 2-4 เดือนขึ้นไป ให้ครอบคลุมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 การทำหมันเพื่อควบคุมจำนวน การประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าและการกระตุ้นให้เจ้าของนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคทุกปี ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้ามีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจนเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้
โรคพิษสุนัขบ้า เมื่อแสดงอาการเป็นแล้วตาย100%
ปัจจุบันไม่มียารักษาโรคพิษสุนัขบ้า จึงถือได้ว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่สามารถป้องกันได้ ดังเช่นคำขวัญ “โรคพิษสุนัขบ้า เป็นแล้วตาย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน” หากคนหรือสัตว์ติดเชื้อนี้จะเสียชีวิตทุกราย โดยอาการหลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ประมาณ 2-8 สัปดาห์ แต่อาจสั้นเพียงแค่ 7 วันหรือยาวเกินกว่า 1 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของบาดแผลและปริมาณของเชื้อที่ได้รับ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ เจ็บเสียวหรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผลประชาชนควร หลีกเลี่ยงการถูกสัตว์กัดหรือข่วน แต่หากถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน เพื่อช่วยลดอัตราเกิดโรค และที่สำคัญต้องรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยเร็วที่สุด เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคจนครบตามที่แพทย์แนะนำ และอย่าลืมที่จะกักสัตว์ไว้ดูอาการ 10 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนและคุณปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า 100 เปอร์เซ็นต์
28 ก.ย.2019 “วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก”
กิจกรรมรณรงค์วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 2562 ณ แจ้งวัฒนะ ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการกระตุ้นปลูกจิตสำนึกของประชาชน ในการป้องกันตนเอง และลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และสร้างความรับผิดชอบต่อสัตว์ในกลุ่มประชาชน ในงานได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน เปิดงานวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก ขอเชิญร่วมรับเสด็จ และร่วมกิจกรรมภายในงานกับกิจกรรมการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าฟรี กิจกรรมประกวดระบายสี การเสวนาเลี้ยงใส่ใจและรับผิดชอบ กิจกรรมรักน้องหมาต้องพาเดินได้ (Dog Walk Rally) ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตสุนัข การแสดงคอนเสิร์ตจากนักร้อง นักแสดง และจับรางวัลในงาน เป็นต้น ภายใต้คำขวัญ “โรคพิษสุนัขบ้า ติดเชื้อถึงตาย ป้องกันได้ด้วยวัคซีน” โดยงานจะเริ่มตั้งแต่เวลา 10.30 น.เป็นต้นไป นอกจากนี้กรมควบคุมโรคยังห่วงใยใส่ใจประชาชนจัดกิจกรรมพิเศษป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับ 500 ท่าน
คำแนะนำในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
1. เจ้าของสัตว์ สุนัข แมว ต้องพาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครั้งแรกเมื่ออายุ 2-4 เดือน หลังจากนั้น 1 เดือน กระตุ้นซ้ำอีก 1 ครั้ง จากนั้นฉีดกระตุ้นตามกำหนดทุกปี
2. ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง
3. ควบคุมจำนวนสัตว์เลี้ยงโดยการทำหมันแบบถาวร
4. ป้องกันตัวเองจากการถูกสัตว์กัดหรือข่วนด้วย คำแนะนำ 5 ย. คือ อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ
ข้อมูลโดย กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน กองโรคติดต่อทั่วไป โทร 0-2590-3178
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สายด่วน 1422