ภาคประชาสังคม จี้ สปส.จัดเลือกตั้งบอร์ดใหม่ โละชุดเก่าที่ตั้งโดย คสช.ลากยาว 5 ปี ไร้การเปลี่ยนแปลง ชงเร่งออกแบบมาตรการรับมือวิกฤติสังคมและโรคอุบัติใหม่ ให้ทันสถานการณ์ ด้าน “นักวิชาการ” ห่วงตัดสิทธิผู้ประกันตนต่างด้าว ส่อขัด กม.แม่ และเตรียมยื่นข้อเรียกร้อง รมว.แรงงาน เร็วๆนี้
เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่The Halls Bangkok มูลนิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “ผ่าโครงสร้างประกันสังคม กับการรับมือวิกฤตสังคมและโรคอุบัติใหม่”
นายบัณฑิต ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิชาการคุณวุฒิด้านแรงงาน กล่าวว่า คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ชุดปัจจุบันซึ่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนกระทั่งตอนนี้ดำรงตำแหน่งอยู่นานกว่า 5 ปี แม้ว่าจะมีการปรับปรุงพ.ร.บ.ประกันสังคม ปี 2558 จัดให้มีการเลือกตั้ง บอร์ด สปส. แต่รมว.แรงงานในยุคนั้น ไม่ได้ออกระเบียบ กระทั่งล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ก็ได้จัดทำระเบียบการเลือกตั้งบอร์ดสปส.และประกาศใช้แล้วเมื่อเดือน ก.ค. 2564 แต่ก็ยังไม่ระบุชัดถึงวัน เวลาที่จะให้เลือกตั้ง ทั้งที่ไม่น่าจะมีอะไรติดขัดเพราะหากกังวลเรื่องการระบาดโควิด 19 แต่ก็เห็นว่าที่ผ่านมา มีการจัดเลือกตั้ง อบจ. ล่าสุดก็เพิ่งจัดให้มีการเลือกตั้งอบต.ทั่วประเทศ ดังนั้นการเสวนาวันนี้ก็เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งบอร์ด สปส.ตามกฎหมาย เพราะถึงแม้การทำงานไม่ได้เร็วขึ้น แต่ข้อดีคือจะได้เลือกคนมีความรู้ ความสามารถ เชื่อถือได้ และจะได้มีการตรวจสอบการทำงาน จากเดิมที่บอร์ดพิจารณาเรื่องต่างๆ กันเงียบๆ แต่ไม่เคยบอกประชาชนเลย บอกแค่เรื่องดีๆ ที่มองแล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ตนยังกังวลหลายเรื่องเกี่ยวกับระเบียบการเลือกตั้งบอร์ด สปส. ทั้งการที่ไม่ได้กำหนดวันเลือกตั้ง ไม่รู้ว่าใครสมัครบ้าง ยังกังวลเรื่องวิธีการลงคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อาจจะมีปัญหาสำหรับผู้ประกันตนในบางพื้นที่ที่ห่างไกล โดยเฉพาะผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หรือกลุ่มแรงงานอิสระ กรณีจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ ซึ่งต้องมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง แล้วมีการตั้งงบจำนวนมากเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตั้งแต่ 3,000-10,000 บาท ตลอดระยะเวลาดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งมองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากแต่ละคน ก็เป็นบุคคลากรในหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะสังกัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีเงินเดือนจากต้นสังกัดอยู่ และอีกเรื่องสำคัญที่ตนเป็นกังวลคือกรณีไม่ให้ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานต่างด้าวมีสิทธิเลือกตั้งด้วย นั้น อาจจะขัดกับพ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 8 ที่กำหนดว่าผู้สมัครรับคัดเลือกให้เป็นบอร์ดต้องเป็นคนไทยเท่านั้น แต่ในเรื่องของผู้ประกันที่มีสิทธิลงคะแนนไม่ได้ห้ามไม่ให้คนต่างด้าวลงคะแนนแต่อย่างใด ซึ่งผู้ประกันตนที่เป็นคนต่างด้าวมีอยู่ประมาณ 1,000,400 คน โดยในเร็วๆนี้เครือข่ายแรงงานฯ เตรียมเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องในเวทีครั้งนี้ด้วย
นางอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ทุกวันนี้ การทำงานของ สปส. ถือว่าช้ามาก การพิจารณาเรื่องต่างๆ ภายในบอร์ด สปส. ถึงแม้จะทำได้เร็ว แต่กว่าจะสามารถปฏิบัติได้จริงๆ กลับล่าช้ามากๆ เพราะต้องนำเสนอให้รมว.แรงงานพิจารณา แล้วส่งเข้าครม.พิจารณา ส่งกฤษฎีกาตีความ แล้วส่งกลับมาที่ ครม. และเข้าสภาฯ บางเรื่องนานถึง 3 เดือน กว่าจะปฏิบัติได้ ปัญหาอีกอย่างคือสัดส่วนของบอร์ด สปส. ถึงแม้ว่าจะมีผู้แทนนายจ้าง ลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน (ก.ม.ใหม่ปรับเพิ่มเป็นฝ่ายละ 7 คน) แต่ไม่ได้มีความเป็นผู้แทนอย่างแท้จริง เพราะใช้ระบบให้สหภาพแรงงานต่างๆ เลือกกันเอง ซึ่งสหภาพเหล่านี้มีสมาชิกเพียงไม่กี่แสนคนเท่านั้น ในขณะที่ผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมกันแล้วมีประมาณ 16 ล้านคน แต่คนเหล่านี้ไม่มีสิทธิเลือกผู้แทนเลย ควรเป็นระบบ 1 สิทธิ 1 เสียง ทุกคนควรมีสิทธิเลือกบอร์ดฯ ได้ คนจะเป็นบอร์ด ต้องรู้เรื่อง และต้องกล้าถาม กล้าแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะฝ่ายลูกจ้าง
“ถึงเวลาแล้วที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ด สปส.เพราะชุดปัจจุบันตั้งมาตามมาตรา 44 ตั้งแต่ยุคคสช. ตอนนี้ก็รักษาการมาเรื่อยๆ ดังนั้น จะต้องทำให้ผู้ประกันตนทุกคนได้ใช้สิทธิของตัวเอง ซึ่งการพิจารณาออกมาตรการต่างๆ ไม่ได้เร็วขึ้น เพราะยังต้องผ่านหลายขั้นตอนเหมือนเดิม แต่เราก็สามารถตรวจสอบ และเสนอมาตรการต่างๆ ได้ ส่วนอนาคตที่หวังไว้ก็อยากเห็น สปส.มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เหมือนองค์กรอิสระ เหมือนกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พอมีมติอะไรออกมาแล้ว ก็แค่รายงานให้กระทรวงการคลังทราบเท่านั้น แต่ไม่ใช่เสนอเพื่อพิจารณา ผิดกับสปส.ที่ต้องอยู่ใต้อาณัติของกระทรวงแรงงาน และรมต.แรงงาน ที่สำคัญที่สุดท่ามกลางวิกฤตต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งทางสังคมและโรคอุบัติใหม่ อย่างเช่น โควิด-19 จำเป็นอย่างยิ่งที่ สปส.ต้องสรุปบทเรียน จุดที่เป็นปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา เพื่อออกแบบการทำงานรับมือกับทุกสถานการณ์ ตลอดจนการทำงานเชิงรุกพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ โดยยึดเอาผลประโยชน์ของผู้ประกันตนเป็นตัวตั้ง”นางอรุณี กล่าว
ขณะที่ นายเซีย จำปาทอง ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นผู้ประกันตน และมีการดูแลกลุ่มพี่น้องประกันตนอยู่นั้นเห็นว่า เรื่องสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ อาจจะยังน้อยอยู่ ทั้งแง่การรักษาพยาบาล การจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรเพียงเดือนละ 800 บาทน้อยเกินไป หนำซ้ำการทำงานของบอร์ด สปส. นั้นมีความล่าช้ามาก กระบวนการต่างๆ เหมือนกับราชการเพราะต้องอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงแรงงาน การพิจารณาเรื่องต่างๆ ต้องผ่านหลายขั้นตอน ส่วนตัวมองว่าถึงเวลาที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ด ที่เป็นคนที่เราเลือกกันมาเอง เชื่อว่าคนที่เราเลือกมาอย่างน้อยเข้าจะต้องรับฟังแรงงาน เมื่อมีการรับฟัง ก็จะเกิดการผลักดันเรื่องที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกันตนตามมา แต่ที่ผ่านมาบอร์ด สปส. มาจากการแต่งตั้ง เลยไม่สนใจฟังเสียงผู้ประกันตนเพราะคิดว่าถึงอย่างไรก็ได้รับการแต่งตั้ง แต่หากเป็นผู้ที่มาจากการเลือกตั้งหากเขาทำงานไม่ดี ไม่ฟังเสียงแรงงานครั้งหน้าก็ไม่ได้รับคะแนน ที่สำคัญในการเลือกตั้งนั้นควรให้สิทธิผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานต่างด้าวลงคะแนนด้วย เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำงานและจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเช่นเดียวกับคนไทย