“ทางม้าลาย” อุบัติเหตุซ้ำซาก “วัวหาย ล้อมคอก”

เร่งสร้างความปลอดภัยทางถนน เครือข่ายฯ นำภาพตัวอย่างทางม้าลายเสื่อมสภาพส่งถึง “อัศวิน” พร้อมเสนอ6ข้อที่ควรทำ สกัดอุบัติเหตุซ้ำรอยเข้าข่ายวัวหายล้อมคอก ฝันอยากเห็นผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ดันเป็นนโยบายต้องทำให้สำเร็จ ​

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ที่ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) น.ส.เครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมด้วย เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กทม. เครือข่ายเหยื่ออุบัติเหตุ ภาคีเครือข่ายชุมชนเพื่อความปลอดภัย 50 คน ร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ขอทางม้าลายที่ปลอดภัย” บริเวณทางม้าลายที่มีไฟสัญญาณคนข้าม หน้าศาลาว่าการ กทม. และร่วมกันสั่นกระดิ่งปลุก กทม. ให้ตื่นทำงานเชิงรุกลดอุบัติเหตุ-สูญเสียซ้ำซาก

จากนั้นผู้แทนฯ ได้นำภาพถ่ายทางม้าลายเสื่อมสภาพมาร้องเรียน พร้อมยื่นข้อเสนอถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญมือง ผู้ว่าราชการกทม. และเรียกร้องผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่ากทม.ดันเป็นนโยบายที่ต้องทำให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ นางวิภารัตน์ ไชยานุกิจ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้มารับหนังสือแทน ​

น.ส.เครือมาศ กล่าวว่า จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถจักรยานยนต์ big bike Ducati สีแดง ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย อย่างแรงระหว่างเดินข้ามทางม้าลายบริเวณหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ล่าสุดทราบจากรายงานข่าวว่า บริเวณดังกล่าวก็เคยเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน

คือมีรถจักรยานยนต์ขับมาทางขวาด้วยความเร็วและชนสองสามีภรรยาที่กำลังเดินข้ามถนนในจุดเดียวกันนี้ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเกิดขึ้นซ้ำซาก แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจนเกิดเหตุสลดกับหมอกระต่าย

ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2557 ก็เกิดเหตุรถฝ่าไฟแดงพุ่งชนพนักงานสาวแกรมมี่ขณะข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต และอีกหลายๆ กรณี ซึ่งจากข้อมูลศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ) ศึกษาจากแหล่งข้อมูลอุบัติเหตุต่างๆ ประมาณการณ์ว่า มีผู้ถูกรถชนเสียชีวิตขณะข้ามถนนบนทางม้าลาย เฉลี่ย 6% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน หรือประมาณ 500 คนต่อปี

โดยพบเกิดเหตุในพื้นที่กทม.เกิดเหตุมากที่สุด จึงขอให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมายทำทางม้าลายให้มีความปลอดภัย ​ น.ส.เครือมาศ กล่าวต่อว่า หลังเกิดเหตุกับหมอกระต่าย ทำให้กทม.เข้าไปแก้ไขปรับปรุงสภาพทางม้าลายแล้วนั้น แต่ทางเครือข่ายขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ กทม.

ดังนี้ 1. เครือข่ายขอขอบคุณ กทม. ที่เข้าไปปรับปรุงแก้ไขทางม้าลายตรงจุดเกิดอุบัติเหตุรถชนหมอกระต่าย แต่ขอให้กทม.ทำงานเชิงรุกและมีความชัดเจนในการลดอุบัติเหตุทางถนน เร่งตรวจสอบทางม้าลายที่เสื่อมสภาพ กลไกการแจ้งเตือน อาทิ ไฟสัญญาณคนข้าม เส้นนูน-ลูกระนาดชะลอความเร็ว เป็นต้น เพื่อปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์พร้อมตลอดเวลา

2.ขอให้กทม.เพิ่มการติดตั้งไฟสัญญาณคนข้ามทางม้าลาย ตลอดจนที่ดักชะลอความเร็ว ในจุดที่มีความสำคัญ เป็นเขตชุมชน และมีความเสี่ยง ให้มากขึ้นโดยเฉพาะจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และสัญญาณกำหนดความเร็วในเขตเมือง โดยเฉพาะ ตลาด ชุมชน โรงเรียน ที่ต้องขับขี่รถไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งทั้งหมดนี้แม้จะใช้งบประมาณจำนวนมากแต่ก็คุ้มค่าเมื่อแลกกับความสูญเสีย

​3. ขอให้ กทม. สนับสนุนทุกกลไกเพื่อการตรวจจับปรับจริง กรณีมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจร และให้เร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจกับผู้ใช้รถใช้ถนนให้เคารพกฎจราจร โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่องมิใช่แค่ช่วงเทศกาลปีใหม่หรือสงกรานต์

4. ขอเรียกร้องต่อคน กทม. ผู้ใช้รถใช้ถนน ให้ร่วมกันเป็นอาสาตาจราจร ช่วยกันสอดส่องดูแลผู้กระทำผิดกฎหมายต่างๆบนถนน เช่น ไม่จอดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ขับย้อนศร กลับรถในที่ห้ามกลับรถ หรือการกระทำผิดอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุของคนเดินเท้า หรือผู้ร่วมทาง โดยสามารถส่งคลิปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือมูลนิธิเมาไม่ขับ

5.ขอเรียกร้องให้บรรดาว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. แข่งขันกันเสนอนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุในพื้นที่ กทม. ให้เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบให้ชาวกทม.ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ​

ขณะที่นางพวงแก้ว โต้ตอบ เหยื่อผู้สูญเสียลูกชายอายุ 12 ปี จากการถูกรถยนต์ชนจักรยานยนต์ปลายปี 64 และแกนนำเครือข่ายชุมชนเพื่อความปลอดภัย กล่าวว่า ตนสูญเสียลูกชายจากอุบัติเหตุรถยนต์ บริเวณชุมชนหน้าเคหะชุมชนคลองเก้า คลองสามวา ซึ่งเป็นถนนสองเลน แต่รถวิ่งเร็วมาก โดยจุดเกิดเหตุอยู่ตรงทางแยกเข้ามาที่เคหะฯ แต่ไม่มีสัญญาณเตือนอะไรเลย ทางม้าลายก็หมดสภาพแทบมองไม่เห็น และเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุแทบทุกเดือน

จึงอยากให้กทม. สำนักงานเขต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาดูแลก่อนจะเกิดเหตุขึ้นอีก แล้วมาตามแก้เข้าตำราวัวหายล้อมคอก ทั้งนี้เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมาตนและเครือข่ายได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพทางม้าลายหลาย ๆ จุดในกทม. พบหลายจุดเสื่อมสภาพ จึงได้ถ่ายภาพเป็นหลักฐานมามอบให้ กทม. ช่วยพิจารณาแก้ไขปรับปรุง

โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนจุดเสี่ยงต้องมีไฟสัญญาณเตือนคนข้ามซึ่งจะช่วยลดปัญหาที่จะตามมาได้มาก แต่เท่าที่เห็นมักอยู่ในย่านธุรกิจใจกลางเมืองเท่านั้น ตนจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนช่วยกันถ่ายภาพทางม้าลายเสื่อมสภาพร้องเรียนไปที่ กทม. เพื่อให้ดำเนินการแก้ไข และร่วมกันถ่ายคลิปคนที่ทำผิดกฎหมายจราจร ส่งให้กับตำรวจหรือส่งไปที่มูลนิธิเมาไม่ขับ เพื่อให้นำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *