ตามที่ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้อง เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ต่อศาลปกครองกลาง กรณีขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัทในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 และขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เรื่อง ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น โดยเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ศาลปกครองกลางได้นัดทั้งสองฝ่ายมาไต่สวน
เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาว่าจะรับคำฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่
ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงานศาลปกครองกลาง ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งศาล คดีหมายเลขคำที่ 44/2565 คดีหมายเลขแดงที่ 142/2565 โดยศาลฯมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ถอนคำฟ้องและสั่งจำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความแล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมุมมองของนักกฎหมายแวดวงธุรกิจประกันภัย ให้ความเห็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1) การถอนฟ้องในคดีปกครองเป็นเรื่องระหว่างผู้ฟ้องคดีกับศาลปกครอง โดยเป็นดุลพินิจของศาลฯ
ไม่ต้องสอบถามผู้ถูกฟ้องคดีว่าจะยินยอมหรือไม่
2) ในการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ถอนฟ้องหรือไม่ ถ้าศาลฯ เห็นว่าไม่ใช่คดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และไม่ได้เกิดจากการสมยอมกันระหว่างคู่กรณี
ศาลฯจะอนุญาตและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
3) กรณีบริษัท อาคเนย์ประกันภัยฯ และบริษัท
ไทยประกันภัยฯ ฟ้องเลขาธิการ คปภ. นั้น ในคำสั่งที่ศาลฯอนุญาตให้ถอนฟ้อง ศาลได้ระบุเหตุผลชัดว่า
ไม่ใช่คดีเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะและไม่ปรากฏว่ามีการสมยอมกันระหว่างคู่กรณี ศาลฯ จึงอนุญาตให้บริษัท อาคเนย์ประกันภัยฯ และบริษัท ไทยประกันภัยฯ ถอนฟ้องได้
4) การถอนฟ้องเป็นการดำเนินการของบริษัทผู้ฟ้องคดี แต่ฝ่ายเดียว ไม่ได้มีการเจรจาตกลงกันก่อนหรือ “ฮั้วกัน” กับทางผู้ถูกฟ้องคดีแต่อย่างใด
ดังปรากฎเหตุผลตามที่ศาลฯระบุไว้ในคำสั่งฯ และ 5) การถอนฟ้องคดีน่าจะแสดงว่าบริษัทฯเห็นว่าการฟ้องคดีที่บริษัทฯดำเนินการมาไม่เกิดผลดีในการแก้ปัญหาของบริษัทฯ จึงยอมถอยด้วยการหันไปดำเนินการโดยใช้มาตรการอื่นแทน
สำหรับผลจากการที่บริษัททั้งสองถอนฟ้องคดีครั้งนี้ ในมุมมองของนักกฎหมายแวดวงประกันภัย
เห็นว่าเกิดผลดีต่อประชาชนและระบบประกันภัย เพราะจะทำให้คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ยังคงชอบด้วยกฎหมายและมีผลใช้บังคับอยู่ เนื่องจากคำสั่งฯยังไม่ถูกเพิกถอน และบริษัทประกันภัยอื่นๆก็คงไม่สามารถยื่นฟ้องคดีได้เนื่องจากคดีขาดอายุความในการฟ้องร้อง ประกอบกับไม่สามารถอ้างเหตุผลเรื่องประโยชน์สาธารณะมาเป็นข้อยกเว้นในการฟ้องคดีได้ เพราะศาลฯได้ระบุในคำสั่งที่อนุญาตให้ถอนฟ้องแล้วว่า คดีนี้ไม่ใช่เรื่องประโยชน์สาธารณะ จึงทำให้บริษัทประกันภัยใด ๆ ไม่สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยเจอจ่ายจบได้ ประชาชนจึงได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ดังกล่าวต่อไป นอกจากนี้ยังทำให้ปัญหาที่คาราคาซังได้ข้อยุติว่าบริษัทประกันภัยจะไม่สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดแบบเจอจ่ายจบแบบเหมาเข่งได้ ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ ต้องหันไปหามาตรการอื่นในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้โดยที่ไม่อาจอ้างเรื่องการบอกเลิกกรมธรรม์ที่เป็นการรอนสิทธิประชาชนได้ รวมทั้งระบบประกันภัยยังคงได้รับความเชื่อมั่นโดยประชาชนไม่ถูกรอนสิทธิและสามารถมั่นใจได้ว่าถ้าความเสี่ยงเปลี่ยนไป บริษัทประกันภัยจะไม่สามารถคืนความเสี่ยงไปให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยหากปราศจากความยินยอม
“การถอนฟ้องคดีในครั้งนี้ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะยื่นฟ้องคดีเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เนื่องจากเป็นไปเพื่อรักษาประโยชน์ของบริษัทเอง จึงสุ่มเสี่ยง
ต่อการที่ศาลจะไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาคดี ดังนั้นการถอนฟ้องคดีจึงเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด โดยทำให้บริษัทประกันภัยต้องหันไปเจรจากับประชาชนผู้ทำประกันภัยเพื่อเสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหาประกันโควิดเจอจ่ายจบด้วยการมีส่วนร่วมของผู้เอาประกันภัย อันจะช่วยฟื้นความเชื่อมั่น และ
เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจประกันภัยในภาพรวม”