ภปค.ร่อนหนังสือ ส่งถึงประธานชวนให้ชะลอ ถกร่างแก้ไข พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ภปค.ร่อนหนังสือ ส่งถึงประธานชวน วิปฝ่ายค้าน – ฝ่ายรัฐบาล ชะลอ ถกร่างแก้ไข พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับผู้ผลิตเหล้าเบียร์รายย่อย ชงให้พิจารณาพร้อมกันทั้งฉบับของ สธ และฉบับของ ภปค.

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภปค.) กล่าวถึงกรณีระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30 (สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันพุธ ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ปรากฏร่างแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอโดยนายเจริญ เจริญชัยและประชาชน 10,942 คน อยู่ในเรื่องตามระเบียบวาระพิจารณาที่ 5.15

ในขณะที่ยังมีร่างแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เสนอโดยนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ และประชาชน 92,978 คน อยู่ในขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และทราบด้วยว่าในฝั่งรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้วเช่นเดียวกัน

“ในเรื่องนี้เครือข่ายมีความกังวลต่อการพิจารณาในวาระดังกล่าว เนื่องด้วยตอนนี้ชัดเจนแล้วว่ามีการเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งสิ้น 3 ฉบับ ตนจึงได้ทำหนังสือส่งถึงนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ส่งถึงนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน และนายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้ทราบว่าปัจจุบันมีร่างแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งสิ้น 3 ฉบับ จึงอยากให้การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในคราวเดียวกัน”นายธีรภัทร์ กล่าว

ผู้ประสานงาน ภปค. กล่าวต่อว่า สำหรับรายละเอียดในร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับภาคประชาชน นั้นจะเน้นป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะมาตรา 32 เรื่องการควบคุมการโฆษณา ซึ่งจะเขียนเนื้อหาให้จำแนกแยกแยะ ถึงขั้นการห้ามใช้ตราเสมือน เพราะปัจจุบันพบผู้ผลิตใช้ตราเสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปผลิตสินค้าอื่นในเครือ เช่น น้ำดื่ม โซดา และโฆษณาเชื่อมโยงสู่สินค้าแอลกอฮอล์ จึงต้องเขียนให้ชัด รวมถึงการให้สปอนเซอร์ การให้ทุนอุปถัมภ์ ที่ต้องเขียนรูปแบบทุนอุปถัมภ์ให้ชัดขึ้นมีขอบเขตชัดเจน โดยในส่วนของผู้ดื่มที่ปรับจากโทษทางอาญา ให้แก้ไขเป็นโทษปรับทางปกครอง ซึ่งเจ้าพนักงานสามารถดำเนินการเปรียบเทียบปรับได้เลย

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดหน้าที่ของผู้ขาย ทั้งประเภทไม่ดื่มที่ร้าน และดื่มที่ร้านที่ชัดเจนขึ้น การให้สิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายแก่ผู้ได้รับอันตรายทางกาย ชีวิต ทรัพย์สินจากผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับถือเป็นคดีผู้บริโภค การให้มีมาตรการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูผู้มีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกสถานพยาบาล ซึ่งชุมชนหรือองค์กรเอกชนเป็นผู้ริเริ่ม ทั้งยังให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยมีการจัดประชุมสมัชชาเครือข่ายควบคุมแอลกอฮอล์ เป็นต้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *