เครือข่ายแรงงานฯ บุกยื่นหนังสือถึงปธ. กมธ.แรงงาน จี้ รมว.-ปลัดแรงงานเร่งกำหนดวันเลือกตั้งบอร์ด สปส. ในมิ.ย.นี้ พร้อมไฟเขียวผู้กันตนทุกกลุ่มมีสิทธิลงคะแนนได้ ปิดโอกาสไอ้โม่งแทรกแซงตั้งบอร์ดใหม่
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. เวลา 10.00 น. ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน จำนวนหนึ่งนำโดยนายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง
นางสาวธนพร วิจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เดินทางมายื่นหนังสือถึงประธานกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้กำหนดวันเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการประกันสังคม
นายธนพงษ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่การประกาศพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2558 ซึ่งในมาตรา 8 ได้กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้มาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายผู้ประกันตนทั้งหญิง ชาย ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส
แต่ต่อมามีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 40/2558 แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมชุดใหม่ และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562 ให้รมว.แรงงาน จัดทำระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งตามมาตรา 8 วรรคสามแห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม ให้เสร็จภายใน 2 ปี
ซึ่งเมื่อวันที่ 8 ก.ค.2564 รมว.แรงงานก็ได้ลงนามเห็นชอบระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งฯ ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา แต่จนถึงวันนี้เกือบ 7 ปีแล้วก็ยังไม่เกิดกระบวนการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมแต่อย่างใด และยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนว่าจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่
ด้าน นางสาวธนพร กล่าวว่า จากที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมเมื่อไหร่นั้นทางเครือข่ายแรงงานฯ ตัวแทนผู้ประกันตน จึงได้ยื่นหนังสือถึงประธานกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อประสานไปยังรมว.แรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงานให้เร่งดำเนินการตามพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ
ดังนี้ 1. ให้กำหนดวันและประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมภายในเดือน มิ.ย. 2565 ให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง
2. ให้แก้ไขกำหนดให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย มีสิทธิเลือกตั้งทั้งนายจ้างและผู้ประกันตน ตามที่กำหนดไว้ในข้อที่ 16 ของระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งฯ เพราะเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเช่นเดียวกัน
3. ให้แก้ไขกำหนดสัดส่วนผู้แทนผู้ประกันตนสอดคล้องกับจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 33, มาตรา 39, และมาตรา 40
4. ให้แก้ไขการกำหนดให้มีหน่วยเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งหน่วย ในข้อ 14 ให้สอดคล้องเหมาะสมตามสัดส่วนผู้ประกันตนที่มีในแต่ละจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการใช้สิทธิของผู้ประกันตน
5. จัดให้มีการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) ที่มีประสิทธิภาพ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตนที่ต้องการเลือกตั้งแต่ไม่มีเวลาได้เข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งครั้งนี้
“เราขอเรียกร้องให้ท่านพิจารณาเร่งจัดให้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อป้องกันการแทรกแซงกระบวนการสรรหาที่มาจากการสรรหาและแต่งตั้งผู้แทนผู้ประกันตนจากภาครัฐที่เอื้อให้เกิดการแทรกแซงการบริหารจัดการที่ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ผู้ประกันตนอย่างแท้จริง” นางสาวธนพร กล่าว