เตรียมสอบจริยธรรม อธิการบดี ม.ศิลปากร กรณีคุกคามทางเพศ

หนังสือเปิดผนึกถึงนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  เรื่อง การดำเนินการด้านจริยธรรมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กรณีคุกคามทางเพศ

ตามที่สื่อมวลชนรายงานข่าวนายชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร โพสต์ภายแอบถ่ายพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พร้อมข้อความในลักษณะที่เป็นการคุกคามทางเพศ อีกทั้งยังให้สัมภาษณ์กับสื่อในทำนองว่าพฤติกรรมดังกล่าวของตนเอง “ไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย” “ไม่ได้มีเจตนาคุกคามทางเพศ” และ “กรณีนี้อาจเป็นความเข้าใจผิด” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 นั้น 

เครือข่ายองค์กรด้านผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ที่มีรายนามด้านล่างนี้ ขอประณามพฤติกรรมของอธิการบดีคนดังกล่าว เนื่องจากพฤติกรรมการแอบถ่ายและเผยแพร่ภาพบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งโพสต์ข้อความในลักษณะส่อนัยทางเพศตามที่ตกเป็นข่าวเข้าข่ายเป็น การคุกคามทางเพศ ซึ่งหมายถึง พฤติกรรมการแสดงออกใด ๆ ที่บุคคลหนึ่งกระทำต่ออีกบุคคลหนึ่ง ที่มีนัยทางเพศ โดยบุคคลที่ตกเป็นเป้าของพฤติกรรมนั้นไม่ได้ยินดีหรือยินยอม ส่งผลให้ผู้ที่ตกเป็นเป้าของการกระทำรู้สึกอึดอัด ไม่พอใจ รู้สึกถูกคุกคามและไม่ปลอดภัย และรวมถึงพฤติกรรมที่เป็นการปฏิบัติเสมือนบุคคลอื่นเป็นวัตถุทางเพศด้วย พฤติกรรมเช่นนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการคุกคามทางเพศและละเมิดต่อสิทธิความเป็นส่วนตัวของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเป็นรายบุคคลเท่านั้น แต่ยังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของผู้ประกอบอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินโดยรวมด้วย

ในฐานะที่นายชัยชาญ ถาวรเวช มีตำแหน่งทางราชการระดับสูง เป็นผู้บริหารสูงสุดของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งพึงมีบทบาทเป็นผู้นำทางปัญญาของสังคม แต่กลับมีพฤติกรรมที่สะท้อนถึงมาตรฐานจริยธรรมทางเพศที่ตกต่ำ ถือเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ทั้งกับบุคลากรในสังกัดมหาวิทยาลัยและสาธารณชน ประกอบกับการที่นายชัยชาญออกมาชี้แจงผ่านสื่อมวลชนถึงการกระทำของตนเองในลักษณะที่เป็นการแก้ต่างแบบขอไปที ตามข้อความที่ปรากฏในสื่อมวลชนนั้น ยังไม่ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำผิดของตนเองอย่างเพียงพอ 

สภามหาวิทยาลัยศิลปากร และกระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงต้องไม่เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการเพิกเฉยไม่ดำเนินการใด ๆ จะเท่ากับเป็นการยอมรับและสนับสนุนให้ปัญหาการคุกคามทางเพศยังดำรงอยู่ในสังคมต่อไป

เครือข่ายองค์กรด้านผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ขอเรียกร้องให้นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากร  รวมถึงกระทรวงการอุดมศึกษา  วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม  ดำเนินการให้มีการสอบสวนและลงโทษอธิการบดีของมหาวิทยาลัย จากการแสดงพฤติกรรมการคุกคามทางเพศที่สะท้อนถึงมาตรฐานจริยธรรมที่ตกต่ำดังกล่าว โดยให้มีการดำเนินการโดยทันที ไม่ทอดเวลาชักช้า และชี้แจงผลการดำเนินการให้สาธารณชนรับทราบเป็นระยะด้วย เพื่อยืนยันให้สังคมมั่นใจว่า สภามหาวิทยาลัยศิลปากรไม่ได้ยอมรับพฤติกรรมการคุกคามทางเพศของผู้บริหารมหาวิทยาลัยดังกล่าว

ออก ณ วันที่ 29 เมษายน 2565

 โดย เครือข่ายองค์กรด้านผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ 21 องค์กร

เครือข่ายองค์กรด้านผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ ประกอบด้วย

  1. แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ 
  2. สมาคมเพศวิถีศึกษา
  3. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล
  4. มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว
  5. ศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  6. มูลนิธิผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาชนบท (FORWARD)
  7. มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
  8. มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา
  9. กลุ่มไม้ขีดไฟ
  10. เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต
  11. เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง
  12. ศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความเป็นธรรม
  13. โครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างบริการสุขภาพสำหรับคนข้ามเพศในประเทศไทย
  14. เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิภาคประชาชน  
  15. SWAN Foundation มูลนิธิเพื่อการพัฒนาศักยภาพเด็กและสตรี
  16. กลุ่ม TEAK – Trans Empowerment
  17. เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม
  18. สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
  19. เครือข่ายละครเฉพาะกิจเธียเตอร์
  20. เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน
  21. เครือข่ายสื่อสร้างสรรค์เพื่อขับเคลื่อนสังคม
  22. มูลนิธิผู้หญิง
  23. มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม
  24. สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา
  25. กลุ่มทำทาง

ประสานงานที่ ดร.วราภรณ์  แช่มสนิท  โทร. 087 4976290

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *