รพ.รัฐฯ-เอกชน จับตาผู้ป่วยเข้ารพ.จากการใช้กัญชา

คณบดีจุฬาฯ จับมือโรงเรียนแพทย์ รพ.เอกชน จับตาผู้ป่วยเข้ารพ.จากการใช้กัญชา พร้อมขอประสาน กทม. เฝ้าระวังการใช้ในโรงเรียน หวังเป็นข้อมูลถกร่างพ.ร.บ.กัญชาคุมเข้มขึ้น “ผู้เชี่ยวชาญ” เตือนอย่าใช้การสูบชี้ ทำลายปอด-หลอดลม ก่อมะเร็ง ได้คล้ายบุหรี่ “ศศก.” ชี้ ไทยชาติแรกในเอเชียเสรีกัญชา แนะเตรียมความพร้อมแนวทาง-ยารักษาการติดกัญชา ขณะที่ “รองผอ.สถาบันกัญชาฯ”รายงานผู้ป่วยใช้ทางการแพทย์มากขึ้น

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดเสวนาวิชาการเพื่อการพัฒนาศักยภาพการวิจัยและนักวิชาการด้านการเสพติด

โดย รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้นโยบายทางการเมือง และกระทรวงสาธารณสุขที่ผลักดันเรื่องการใช้กัญชาโดยเน้นการใช้ทางการแพทย์ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่เน้นการใช้เพื่อสันทนาการ

แต่ในทางปฏิบัติอาจมีความย้อนแย้งกัน เพราะการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันนั้นมีโรคที่อนุญาตให้ใช้ประมาณ 6-7 โรค แต่ที่น่ากังวลคือการนำเอาไปใช้สันทนาการแล้วอ้างว่าใช้เพราะเจ็บป่วยถือว่าอันตรายมาก รวมถึงการได้รับสารในกัญชาโดยไม่รู้ถึงปริมาณจากการรับประทานก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล

ดังนั้นตนจึงได้หารือกับทางโรงเรียนแพทย์ และเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนเพื่อเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากกัญชาทุกราย ร่วมกับการรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงประสานกรุงเทพมหานคร เพื่อเฝ้าระวังการใช้ในโรงเรียน

ทั้งนี้เพื่อให้มีข้อมูลเชิงประจักษ์ให้เห็นถึงอันตรายจากกัญชา เพื่อให้การพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….เป็นไปอย่างรอบคอบ ไม่อย่างนั้นกฎหมายที่ออกมาจะเบามาก โดยอ้างว่าขนาดเสรีแล้วยังไม่มีปัญหาอะไร

ศ.นพ.สิริชัย ชยสิริโสภณ Neurologist และนักวิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ จากรัฐ California USA กล่าวว่า ในกัญชามีสารสำคัญจำนวนมาก ที่สำคัญคือ THC ซึ่งมีฤทธิ์เสพติด ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท และ CBD ไม่มีฤทธิ์เสพติด

ทั้งนี้สารนั้นจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของกัญชาด้วย และขอย้ำว่ากัญชาไม่ได้รักษาทุกโรค และที่รักษาอยู่ตอนนี้เป็นเพียงรักษาอาการเท่านั้นไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุของโรค เมื่อหยุดอาการก็กลับมาอีกหากเป็นอาการเรื้อรัง

และการใช้ก็ต้องรู้ปริมาณ THC เพราะเป็นตัวที่ทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ เลื่อนลอย มึนเมา ท้องเสีย อาเจียน ความคิดเชื่องช้า ความจำเสื่อม ถ้าได้รับปริมาณสูงจะทำให้ประสาทหลอน

ทั้งนี้หากคนไม่เคยใช้มาก่อนสารนี้อยู่ในร่างกายนาน 56 ชั่วโมง ส่วนคนที่เคยใช้มานาน สารนี้จะอยู่ได้ 128 ชั่วโมง จึงต้องระวัง ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์

“มีรายงานการสูบกัญชานาน ๆ มีผลเสียต่อปอดรุนแรงกว่าการสูบบุหรี่ ผลต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีการอักเสบของหลอดลม ปอด ที่สำคัญคือมะเร็งปอด

อีกทั้งยังมีปัญหาทางสมอง ไอคิวต่ำ เนื้อสมองฝ่อ สติปัญญาเสื่อม เฉื่อยชา ตัดสินใจผิดพลาด จิตหลอน และเป็นโรคจิตได้ จึงต้องช่วยกันรณรงค์ไม่ให้มีการสูบ” ศ.นพ.สิริชัย กล่าว

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผอ.ศศก. กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยมีนโยบายใหม่เกี่ยวกับยาเสพติด มองผู้เสพเป็นผู้ที่ต้องได้รับการบำบัดรักษา ส่วนผู้ค้ายังคงรับโทษทางกฎหมายนั้น ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการแก้กฎหมายหลายฉบับ มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ การอนุญาตให้ใช้ใบประกอบอาหารได้

จึงมีผู้ใช้กัญชามากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงการปลดกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดผิดกฎหมาย ถือเป็นชาติแรกในเอเชียที่เปิดให้มีการใช้อย่างเสรี และค่อนข้างเสรีที่สุดในโลก แม้จะไม่ส่งเสริมให้ใช้สันทนาการ แต่การใช้สันทนาการก็ไม่มีกฎหมายควบคุมเฉพาะโดยที่กำลังจะมีการควบคุมเป็นเพียงเรื่องการสูบสร้างความรำคาญ การสูบแล้วขับขี่ยานพาหนะ

และอาจมีการห้ามโฆษณาออกมา บทเรียนในต่างประเทศที่มีการใช้กัญชาเสรี ใช้สันทนาการ เช่น แคนาดา อุรุกวัย โดยหวังแก้ปัญหากัญชาใต้ดิน กลับพบว่ามีคนใช้กัญชามากขึ้น คนป่วยเข้าห้องฉุกเฉินที่สัมพันธ์กับการใช้กัญชาเพิ่มขึ้น

“ดังนั้นประเทศไทยต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ให้ความรู้การใช้กัญชาอย่างถูกต้อง ระวังไม่ให้ใช้ในเด็ก เพราะมีผลกระทบต่อพัฒนาการ สมอง จิตใจ ซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย ต้องเตรียมรูปแบบการรักษาการเสพติดกัญชาให้พร้อม

เพราะจากข้อมูลที่ผ่านมาแม้จะเป็นการใช้เพื่อรักษาโรค แต่พบว่าผู้ป่วยไม่ได้ซื้อน้ำมันกัญชาจากแหล่งที่ปลอดภัย แต่ซื้อทางออนไลน์ หรือแหล่งที่หาซื้อพิเศษ” รศ.พญ.รัศมน กล่าว

ขณะที่ พญ.ปัจฉิมา หลอมประโคน รองผอ.สถาบันกัญชาทางการแพทย์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายกระทรวงสาธารณสุขปี 2565 เรื่องสมุนไพรกัญชา กัญชง แบ่งเป็น 2 ระยะ

ระยะแรกให้เข้าถึงอย่างปลอดภัย ระยะที่สองคือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนของการใช้ทางการแพทย์นั้น กรมการแพทย์กำหนดการใช้กัญชารักษาโรคเป็น กลุ่มที่ได้ประโยชน์ คือ 1. คลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด

2.โรคลมชักรักษายาก ดื้อต่อยารักษา

3.กล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

4. ปวดประสาท

5. ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ ที่มีน้ำหนักตัวน้อย

และ 6.เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะประคับประคอง หรือระยะสุดท้ายของชีวิต

อีก 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ คือโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ วิตกกังวลทั่วไป และปลอกประสาทอักเสบ และกลุ่มที่อาจจะได้ประโยชน์ในอนาคต เช่นการรักษามะเร็ง ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลอง จึงขอให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับการรักษาที่เป็นมาตรฐานอย่าใช้กัญชาเป็นทางเลือกแรก

ทั้งนี้ ในปี 2565 มีการเปิดคลินิกกัญชาทั่วประเทศได้เกินเป้าหมาย 70% ผู้ป่วยทั้งหมดใช้กัญชาทางการแพทย์เพิ่มขึ้น 5% ทั้งนี้เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 พบว่ามีการใช้กัญชาทางการแพทย์เพิ่มถึง 73%.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *