สายด่วนเลิกเหล้า1413 พัฒนาระบบส่งต่อผู้มีปัญหาสุรา เข้าถึงกระบวนการดูแลช่วยเหลือติดตาม รักษา บำบัดฟื้นฟูนำร่องเชื่อมประสานส่งต่อในพื้นที่ กทม. คาดเข้าพรรษานี้ มีผู้อยากลดละเลิกเหล้าเพิ่มขึ้น
ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติดทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ (1413 สายด่วนเลิกเหล้าเลิกเสพ) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมเชื่อมประสานเครือข่ายสถานพยาบาลในการส่งต่อและติดตาม ผู้มีปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ของกรุงเทพมหานคร
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติดทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ (1413 สายด่วนเลิกเหล้าเลิกเสพ) กล่าวว่า สายด่วน 1413 ร่วมกับภาคี จัดประชุมขึ้นเพื่อเชื่อมประสานเครือข่ายสถานพยาบาลในการส่งต่อและติดตามผู้มีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทั้งต่อผู้ดื่มและต่อคนรอบข้าง สังคมโดยรวม ที่ทุกภาคส่วนจะต้องตระหนัก ทั้งการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสนับสนุนให้เกิดความช่วยเหลือผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดจนเกิดระบบการส่งต่อผู้เข้ารับการบำบัดระหว่างระบบบริการสุขภาพกับชุมชน
ทั้งการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์เพื่อให้เกิดข้อเสนอ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือติดตาม เกิดการสนับสนุนขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายสถานพยาบาลในการส่งต่อและติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถเข้าสู่การกระบวนการคัดกรอง บำบัดรักษา และติดตามต่อไปอีกด้วย
“หัวใจหลักของเวทีครั้งนี้ เพื่อต้องการให้เกิดความช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ยังไม่ได้เข้าระบบบริการ ให้ได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยจะนำร่องในพื้นที่ กทม.
ดังนั้นจึงจำเป็นที่ภาคีเครือข่ายสถานพยาบาลเพื่อให้เกิดระบบการส่งต่อติดตาม ระหว่างสายด่วน 1413 กับสถานพยาบาลในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร สร้างพื้นที่เพื่อการรับฟังข้อเสนอแนะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญผู้ปฏิบัติงาน
ยิ่งช่วงเข้าพรรษานี้ คาดว่าจะมีจำนวนผู้ที่สมัครใจลดละเลิกเหล้าเข้ามาขอรับคำปรึกษาเพิ่มมากขึ้น จึงเชื่อว่าการเชื่อมโยงระหว่างผู้ดื่มที่เริ่มมีปัญหาการดื่มกับระบบสุขภาพ จะนำไปสู่การส่งต่อติดตามผู้ต้องการลดหรือเลิกการดื่มได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” รศ.พญ.รัศมนกล่าว
นายแพทย์พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ 7 มาตรการที่ใช้ในการขับเคลื่อน โดย 5 มาตรการแรกมาจากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ได้แก่
1.ควบคุมและจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ห้ามขายในบางสถานที่ บางเวลา ห้ามขายให้เด็ก หรือคนเมาจนตรองสติไม่ได้ เป็นต้น
2.ควบคุมการขับขี่หลังการดื่ม สนับสนุนให้ตำรวจตั้งด่านหรือหามาตรการลดจำนวนคนเมาบนท้องถนนลง
3.คัดกรองหรือบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาจากการดื่ม
4.จำกัดการโฆษณา การให้ทุนอุปถัมภ์ ส่งเสริมการขาย เช่น การควบคุมการโฆษณา การห้ามจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม เป็นต้น
5.ควบคุมราคาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านกลไกภาษีสรรพสามิต รวมถึงหามาตรการควบคุมราคาใหม่ๆ ทั้งนี้ยังมีอีก 2 มาตรการที่จำเพาะสำหรับประเทศไทย คือ
6.ปรับเปลี่ยนค่านิยมการดื่ม โดยการสื่อสารประชาสัมพันธ์ หรือจัดแคมเปญ เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา
และ 7.การใช้กลไกของคณะกรรมการจังหวัดในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ และโมเดลของสายด่วน1413 ก็ถือว่ามีประสิทธิภาพ และได้ผลจริง เพราะช่วยเพิ่มการเข้าถึงของผู้มีปัญหาจากการดื่มสุราในการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้
นายแพทย์ธนัช พจน์พิศุทธิพงศ์ ผอ.สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ผลสำรวจทางจิตเวชชี้ว่าคนไทยเป็นผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มสังสรรค์ หรือดื่มแบบติดกระจายอยู่แทบทุกภาคของประเทศ แต่คนเหล่านี้ไม่เคยมีใครเข้าไปช่วยคัดกรองชวนให้ลดละเลิก กว่าจะค้นเจอ ก็กลายเป็นคนที่ติดแอลกอฮอล์ในระดับหนักแล้ว
และเมื่อยิ่งปล่อยให้ดื่มหนักมากเท่าไร โอกาสสำเร็จในการรักษาก็ยิ่งลดน้อยลง ทั้งนี้ทางสำนักงานฯ มีความพยายามขับเคลื่อนตามมาตรการที่ 3 ได้แก่ การคัดกรอง บำบัดรักษาและฟื้นฟูเพื่อให้ผู้มีปัญหาจากการดื่มเข้าถึงสิทธิได้ง่ายขึ้น จึงพยายามที่จะให้เกิดการคัดกรองเพื่อวินิจฉัยในช่วงเริ่มต้นกระจายในหลายพื้นที่มากขึ้น
โดยมีกระบวนการสำหรับผู้ที่ติดแอลกอฮอล์อย่างหนัก ต้องส่งต่อผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาล หรือ ที่มีอาการติดแอลกอฮอล์ความเสี่ยงระดับปานกลาง สามารถรับบำบัดรักษาเบื้องต้น ณ จุดที่คัดกรองหรือ รพ.สต. ได้
“โมเดลสายด่วน 1413 ถือเป็นช่องทางการรับบริการ ให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำทางไกลสำหรับผู้ที่ติดแอลกอฮอล์ หรือญาติ ได้เข้าถึงการรับคำปรึกษาคุยกับผู้เชี่ยวชาญโดยตรงอีกส่วนหนึ่งจะเป็นส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ให้การบำบัดกับผู้ติดก็สามารถขอรับคำปรึกษาได้ หรือในกรณีที่ยาก ก็สามารถขอคำปรึกษา แลกเปลี่ยนวิชาการ ช่วยพัฒนาระบบการบำบัดรักษาของประเทศไทยไปด้วยกัน” นายแพทย์ธนัชกล่าว