สรพ.เดินหน้า “วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลกและวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย” 17 กันยายน นี้ ลุยแก้ปัญหาความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการใช้ยา ลดอันตรายผู้ป่วยที่หลีกเลี่ยงได้ พร้อมถอดบทเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ รพ.2P Safety 855 แห่ง
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. เปิดเผยว่า สรพ.ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ เตรียมจัดงาน“วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ครั้งที่ 4 (The 4th World Patient Safety Day) และ“วันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขของประเทศไทย ครั้งที่ 6 (The 6th Thailand Patient and Personnel Safety Day) ภายใต้แนวคิด Medication Safety: Medication Without Harm หรือ “ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนทางยาเป็นศูนย์” ขึ้น ในวันที่ 17 กันยายน ที่โรงแรมมิราเคิล เพื่อขับเคลื่อนงานด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย ซึ่งองค์การอนามัยโลกและประเทศสมาชิกได้กำหนดทิศทางการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของผู้ป่วยร่วมกัน
พญ.ปิยวรรณ กล่าวว่า ในวันที่17กันยายนของทุกปี เป็นวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยโลก ที่มีกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยของผู้ป่วยพร้อมกันทั่วโลก ขณะเดียวกัน ไทยได้กำหนดให้เป็นวันแห่งความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข เพื่อให้ความสำคัญทั้งผู้ป่วยที่มารับบริการและบุคลากรสาธารณสุขซึ่งเป็นผู้ที่มีโอกาสเกิดความคลาดเคลื่อนในด้านต่างๆ สำหรับการจัดงานครั้งนี้ เพื่อประกาศและแสดงเจตนารมณ์ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวร่วมกับประเทศอื่นๆทั่วโลก ปีนี้เราชูประเด็น Medication Safety: Medication Without Harm หรือ “ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนทางยาเป็นศูนย์” รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมและชื่นชมสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ รพ.2P Safety จำนวน 855 แห่ง และร่วมกันถอดบทเรียน ประสบการณ์ การพัฒนาเรื่อง Patient and Personnel Safety รวบรวมองค์ความรู้ จากการปฏิบัติดูแลผู้ป่วย และบุคลากรสาธารณสุขให้ปลอดภัย
“สรพ.ให้ความสำคัญ เกี่ยวกับเรื่อง Patient and Personnel Safety และMedication Without Harm ซึ่งเป็นประเด็นที่องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นเป้าหมายของงาน World Patient Safety Day จึงได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นสหสาขาวิชาชีพ และมีองค์กรต่างๆร่วมมืออย่างมากมาย มีระบบรายงานเรื่องอุบัติการณ์ มีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องปลอดภัย จากภาพรวมในเรื่องความคลาดเคลื่อนทางการใช้ยา พบว่า ที่ผ่านมาสูงเป็นอันดับ1 และต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน แต่ 4 ปีที่ผ่านมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลง พบว่า เปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อนทางการใช้ยา ที่ถึงตัวผู้ป่วย อยู่ที่1.5% เมื่อนำมาวิเคราะห์ในปี2565 เหลือเพียง 0.6%เท่านั้น แสดงว่า บุคลากรทางสาธารณสุขทุกคน ต่างร่วมไม้ร่วมมือป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้นถึงตัวผู้ป่วย แม้เหตุการณ์ที่ถึงตัวผู้ป่วยจะมีเปอร์เซ็นต์ที่ลดลง แต่ผู้ป่วยแม้เพียงหนึ่งคนที่ได้รับยาคลาดเคลื่อนอาจมีผลกระทบที่รุนแรงกับผู้ป่วยและครอบครัว เราจึงควรผนึกกำลังร่วมกันทั้งบุคลากรสาธารณสุขและประชาชนร่วมกันช่วยลดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากการใช้ยา เพื่อลดอันตรายที่หลีกเลี่ยงได้” พญ.ปิยวรรณ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน ยังสามารถเข้าร่วมรับฟังบรรยาย ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ “ปาฐกถาพิเศษ การขับเคลื่อนเรื่อง 3P safety ในประเทศไทยเพื่อก้าวไปในระดับสากล” โดยท่านรองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข การบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข หัวข้อ “Medication without Harm” “The Hidden Challenges” “Medication Safety เรื่องดีๆที่ชวนทำ RDU Polypharmacy & CPOE เรื่องนี้ต้องขยาย” “Global action on patient safety: Medication Without Harm” “Medication Without Harm: Drug Allergy zero event : High alert drug zero harm” และการแข่งขันนำเสนอผลงานนวัตกรรม 2P Safety Tech และมอบรางวัล onsite เป็นต้น