วงถกประเด็นไรเดอร์หญิง พบปัญหาถูกคุกคามทางเพศ แบกภาระงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน ความเสี่ยงด้านสุขภาพและความปลอดภัย วอนสร้างระบบคุ้มครองสุขภาพและอุบัติเหตุจากการทำงาน
โครงการวิจัยรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและแรงงานในกิจการขนส่ง สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการจัดประชุมในหัวข้อ “ชีวิตไรเดอร์หญิง การทำงาน และความต้องการด้านสุขภาพและความปลอดภัย” โดยมีตัวแทนไรเดอร์หญิงจากแพลตฟอร์มต่างๆ หลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ เข้าร่วมการประชุม เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 ที่ห้องประชุมสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้ประสานงานแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ทำให้ไรเดอร์หญิงได้มีโอกาสสะท้อนปัญหาและความต้องการในหลายมิติ ไรเดอร์หญิงบอกเป็นเสียงเดียวกันคือ ภาระเลี้ยงดูครอบครัวเป็นแรงผลักดันให้ออกมาทำอาชีพนี้ แต่ก็ต้องเผชิญปัญหาหลายอย่าง ด้านหนึ่งคือความคาดหวังว่าจะสามารถหารายได้พอเลี้ยงคนในครอบครัว อีกด้านหนึ่งคือการมีภาระดูแลลูก พ่อแม่ รวมถึงผู้สูงอายุในครอบครัว และการถูกคาดหวังให้ทำงานบ้าน ไรเดอร์หญิงรายหนึ่งเล่าถึงสาเหตุที่หันมาทำอาชีพไรเดอร์เพราะต้องดูแลคุณตาที่ป่วยติดเตียง การเป็นไรเดอร์ทำให้สามารถทำงานและแบ่งเวลาไปดูแลคนป่วยได้ ขณะที่ไรเดอร์หญิงหลายคนมีภาระต้องดูแลลูกที่ยังอยู่ในวัยเรียนควบคู่กับการทำงานหารายได้
“ไรเดอร์ผู้หญิงนี่เหนื่อย เหนื่อยมาก ต้องทำทุกอย่าง ออกไปขับรถให้มีรายได้ ก่อนจะออกจากบ้านก็ต้องดูแลลูก ส่งลูกไปโรงเรียน ถึงเวลาเราก็ต้องปิดระบบไม่รับงานเพื่อจะได้ไปรับลูก พาลูกไปส่งบ้านแล้วก็ออกไปทำงานต่อ กลับมาบ้านเหนื่อยๆ ก็ต้องทำงานบ้านต่อ ไรเดอร์หญิงที่ร่วมประชุมให้ข้อมูลที่สะท้อนภาพความยากลำบากได้ชัดมาก” ดร.วราภรณ์ กล่าว
ด้านนายวรดุลย์ ตุลาลักษ์ นักวิจัยโครงการวิจัยรูปแบบการสร้างอำนาจต่อรองเพื่อสุขภาวะของแรงงานแพลตฟอร์มส่งอาหารและแรงงานในกิจการขนส่ง กล่าวว่า ในด้านสุขภาพ ผู้ร่วมประชุมสะท้อนว่าไรเดอร์หญิงมีความลำบากเรื่องการใช้ห้องน้ำมากกว่าไรเดอร์ชาย โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน การวิ่งหาห้องน้ำสาธารณะทำให้เสียเวลา หลายคนต้องอั้นปัสสาวะทำให้มีอาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ รวมทั้งมีปัญหาสุขอนามัยในช่วงที่มีรอบเดือน เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้ ในขณะที่อุบัติเหตุก็เป็นประเด็นสำคัญ มีผู้ร่วมประชุมรายหนึ่งกล่าวว่า อาชีพนี้เวลาออกจากบ้าน ไม่รู้จะได้กลับมาหรือเปล่า ไม่รู้จะครบ 32 หรือเปล่า เพราะต้องอยู่บนท้องถนนอย่างยาวนานทั้งวัน มีความเสี่ยงมาก ไรเดอร์หญิงอีกรายสะท้อนเหตุการณ์อุบัติเหตุระหว่างการทำงาน เมื่อประมาณปีกว่าที่ผ่านมาเหตุการณ์ครั้งนั้นถึงขั้นสลบ ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล มีแผลเย็บที่ใบหน้าและคาง ส่วนแขนและลำตัวถูกระแทกบาดเจ็บ โดยเขาให้เบิกค่ารักษาพยาบาลจาก พ.ร.บ. มอเตอร์ไซค์ ถ้าเกินวงเงินของ พ.ร.บ. บริษัทถึงจะช่วยจ่าย แต่เธอต้องสำรองเงินไปก่อน และมีเงื่อนไขอีกมากที่จะเบิกเงินได้ ที่แย่คือต้องหยุดงาน 3 เดือน ขาดรายได้ ตรงนี้ไม่มีอะไรรองรับเลย มีลูกกำลังกินกำลังใช้ ต้องเป็นหนี้เป็นสินเอามาใช้ประคองตัว
“การคุกคามทางเพศเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้ ผู้เข้าร่วมกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า แทบทุกคนเคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ มีทุกรูปแบบทั้งทางสายตา คำพูด การแตะเนื้อต้องตัว และมีที่ร้ายแรงถึงขั้นที่ถูกลูกค้าใช้กำลังยื้อยุดฉุดกระชาก ทำให้ไรเดอร์หญิงต้องดิ้นรนหาทางเอาตัวรอดด้วยตนเอง ส่งผลให้หลายคนเลือกที่จำกัดเวลาการทำงานโดยไม่รับงานช่วงกลางคืน ทำให้ขาดโอกาส รายได้ลดน้อยลง ไรเดอร์หญิงที่ขับรถส่งคนด้วยจะเจอบ่อย เวลานั่งเขาจะกระเถิบตัวมาชิด เอามือมากอดเอว เป็นต้นและในบางสถานการณ์ บางคนออกมารับอาหาร ตั้งใจแต่งตัวไม่มิดชิด เพราะเขารู้ว่าคนที่มาเป็นผู้หญิง เพราะลูกค้าจะรู้ว่าไรเดอร์ที่มาส่งเป็นชายหรือหญิงโดยเห็นจากชื่อและรูปโปรไฟล์ไรเดอร์ในแอพพลิเคชั่นสั่งอาหาร ในขณะที่โอกาสการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นได้ง่ายในการทำงาน แต่ไม่มีกลไกคุ้มครองไรเดอร์หญิง มีรายหนึ่งเล่าว่า เคยไปส่งอาหาร ลูกค้าผู้ชายลวนลาม แจ้งไปที่ศูนย์ความช่วยเหลือของบริษัท แต่เขาก็ไม่ทำอะไรกับลูกค้า แค่ป้องกันไม่ให้ลูกค้าคนนี้สั่งอาหารกับเธออีก แต่ทราบต่อมาว่าผู้ชายคนนั้นเขาก็ไปทำกับไรเดอร์คนอื่นได้อีก” นายวรดุล กล่าว
นายวรดุล กล่าวอีกว่า ในช่วงท้ายของการประชุม ผู้ร่วมประชุมนำเสนอถึงความต้องการของไรเดอร์หญิงทั้งต่อบริษัทแพลตฟอร์มและภาครัฐว่า เรื่องเร่งด่วนและพื้นฐานที่สุดคือ อย่างน้อยต้องการให้มีการคุ้มครองด้านสุขภาพและอุบัติเหตุแก่ไรเดอร์ทุกคนเท่าเทียมกัน มีกองทุนเงินทดแทนเมื่อประสบอุบัติเหตุและขาดรายได้ และต้องการให้บริษัทมีนโยบายคุ้มครองสวัสดิภาพทางเพศและมีกลไกที่ปฏิบัติได้จริง และส่วนตัวคิดว่างานครั้งนี้จะช่วยให้สังคมได้รับฟังปัญหาของไรเดอร์หญิง ทำให้เห็นว่าปัญหาที่สำคัญคือ เรื่องการคุกคามทางเพศ และปัญหาสุขภาพอันมาจากลักษณะทางกายภาพของผู้หญิง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีกลไกกำกับดูแลเรื่องนี้ แม้จะมีการนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายของแรงงานส่งอาหารภายใต้แพลตฟอร์มมาบ้างแล้ว จึงหวังว่าการวิจัยของเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่ช่วยให้เกิดความเป็นธรรมด้านของแรงงานพร้อมกับความเป็นธรรมทางเพศในเวลาเดียวกัน.