นักวิชาการแนะผู้ประกอบการไทยเจาะตลาด CLMV ปี 2566 โตต่อเนื่อง

กลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ประเทศกัมพูชา (Cambodia) สปป.ลาว (Lao PDR) เมียนมา (Myanmar) และเวียดนาม (Vietnam) เศรษฐกิจยังคงเติบโตได้อย่างโดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้จะประสบปัญหาภาวะวิกฤตไวรัสโคโรน่า 2019 ก็ยังมีปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลให้เศรษฐกิจสามารถกลับมาเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจมีความชัดเจนและต่อเนื่อง และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการลงทุนในระยะยาว ที่สำคัญประกอบกับค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมีแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติจำนวนมหาศาลที่ยังไม่ได้นำขึ้นมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารธุรกิจ เปิดเผยว่า “ตลาดต่างประเทศอย่าง CLMV ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากมีพฤติกรรมการบริโภคค่อนข้างที่จะใกล้เคียงกัน  อีกทั้งสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากไทยเป็นที่ยอมรับในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก นอกจากนี้วัฒนธรรมการบริโภคอาหาร การบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคมีลักษณะคล้ายใกล้เคียงกัน การเข้าไปในตลาดเพื่อทำธุรกิจสามารถเข้าไปได้ง่ายและมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีตัวแทนทั้งหน่วยงานราชการ และเอกชนที่คอยสนับสนุนและทำกิจกรรมร่วมกันกับภาครัฐ ภาคธุรกิจในประเทศเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการไทยควรศึกษาว่าสินค้าของตนเองมีความแตกต่างกับสินค้าท้องถิ่นในต่างประเทศนั้นอย่างไรก่อนเข้าบุกตลาด เช่น สินค้าที่จะนำเข้าไปขายในสาธารณรัฐประชาชนลาว สินค้าที่ได้รับความนิยมจะเป็นสินค้าจำพวก สมุนไพร ของกินของใช้เครื่องปรุงรสต่างๆ จะสามารถขายได้ดีในสาธารณรัฐประชาชนลาว เนื่องจากมีวัฒนธรรมการบริโภคคล้ายกับในประเทศไทย ส่วนทางประเทศเวียดนาม ผู้บริโภคจะสนใจในเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสินค้าทางตะวันตกเข้ามาในเวียดนามค่อนข้างมาก  ดังนั้นจึงต้องหาความแตกต่างและตอบโจทย์การเติบโตในสังคมเมืองของประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ควรเข้าใจและศึกษาในกลุ่มลูกค้าในบริบทต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ”   

“ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรหันมาใส่ใจในกลุ่มลูกค้าใหม่ที่เป็นนักท่องเที่ยวหรือเป็นกลุ่มชาวต่างชาติ เนื่องจากการแข่งขันในตลาดต่างประเทศยังมีโอกาสเติบโตให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทย เนื่องจากสินค้าไทยเป็นที่ยอมรับในประเทศเพื่อนบ้าน CLMV โดยสามารถส่งออกสินค้าผ่านตัวแทนหรือหน่วยงานทางภาครัฐหรือภาคเอกชน  ทั้งนี้ผู้ประกอบการควรเข้าร่วมในการจัดกิจกรรมงานแสดงสินค้าต่างๆ (Exhibition) เพื่อทำการจับคู่ธุรกิจ Business matching กับผู้ประกอบการต่างประเทศ เพื่อศึกษาและเรียนรู้ถึงข้อจำกัดและกฎเกณฑ์ของประเทศที่จะทำการค้า ที่สำคัญในกรณีที่สินค้ามีลักษณะแบบเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีควรมีความแตกต่างทางด้านการบริการ นโยบายการคืนสินค้า การให้สินเชื่อ และบริการหลังการขายจะทำให้มีความแตกต่างเมื่อเทียบกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีสินค้าลักษณะแบบเดียวกัน เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดในที่สุด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทธิภัทร กล่าวทิ้งท้าย 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *