สสส.-มยพ.จับมือภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมโคราชเมืองยิ้ม

สสส.-มยพ.จับมือภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมโคราชเมืองยิ้ม เมืองสร้างสรรค์ สร้างสุขภาพ ปลุกพลังร่วมเปลี่ยนเมืองโคราชให้กลายเป็นเมืองแห่งความสุขและปลอดภัยเพื่อเด็กและเยาวชน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา(มยพ.) และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมโคราชเมืองยิ้ม เมืองสร้างสรรค์ สร้างสุขภาพ เพื่อเด็กและเยาวชนทุกคน และเปิดเวทีพลังเครือข่ายพลเมือง “ร่วมเปลี่ยน กล้าฝัน สร้างเมือง” พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง 15 หน่วยงาน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ออกแบบเมืองสร้างสรรค์ ด้วยระบบนิเวศสื่อสุขภาวะ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2565 ที่ Art Gallery Korat อ.เมือง จ.นครราชสีมา

นายนิมิตร พิพิธกุล ศิลปินศิลปาธร สาขาการแสดง ประธานมูลนิธิหุ่นสายเสมาศิลปะเพื่อสังคม กล่าวว่า
ตนเองเป็นคนโคราช แม้จะย้ายไปอยู่กรุงเทพฯตั้งแต่เล็ก แต่ก็รู้สึกตลอดว่าตัวเองเป็นคนโมคราช เมื่อเราพูดถึงเมืองสร้างสรรค์ มาจูนคำนี้กันนิด เมืองสร้างสรรค์ที่เราคุ้นเคย มันจะมีคำว่า Creative City เคยได้ยินกันหรือไม่ เป็นอีกหนึ่ง campaign ที่ใช้กัน และในหลายๆ จังหวัด Creative City ซึ่งจะไปจับเรื่องของเมือง เทคโนโลยี การสร้างเมืองให้สมบูรณ์แบบ แต่อันนี้เป็นการทำงานกับ สสส. เราไม่ได้ใช้ Creative City แต่เราใช้ inclusive city เพราะฉะนั้นตัวนี้ ต่อไปนี้มันจะกลายเป็น Campaign ของเรา เชื่อว่าในหลายจังหวัดยังไม่มีใครใช้คำนี้

ทั้งนี้ โคราชมีของดีมากมาย อาหารพื้นเมืองอีกเยอะแยะที่ไม่ยกระดับ หรือถูกบอกเล่า อีกคำหนึ่งที่ชอบโครงข่ายฯใช้ คือคำว่า Play คือ เล่น เวลาที่ตนเล่นหุ่น หรือเล่นละคร จะบอกเสมอว่าเราเล่นนะ เราเล่น เราจึงสนุก เราเล่นเราจึงได้มอบความสุข และเราเล่น เราจึงมีพื้นที่ที่เราอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ไม่มีใครเหนือใคร เพราะเราเล่นด้วยกัน ยกตัวอย่างในประเทศเกาหลีมีพิพิธภัณฑ์ซึ่งอยู่ในศูนย์ reserve ตัวหนึ่ง พิพิธภัณฑ์ตัวนี้ใช้คำว่า Play is culture การเล่น คือ วัฒนธรรม ตรงนี่แหละทำให้เรารู้สึกปลดออกจากคำที่เรารู้สึกว่า ไม่ได้ มันต้องถูกต้อง มันต้องอยู่ในกรอบ มันต้องอนุรักษ์ การเล่นทำให้เราหลุดออกจากกรอบ

อาจารย์สิริกร บุญสังข์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า ตนเป็นคนโคราช เมื่อนึกถึงเมืองโคราชสิ่งที่ตัวเองภูมิใจที่สุด คือ เราไปที่ไหนเราก็จะบอกว่าเราเป็นหลานย่าโม เหมือนที่บอกว่าเราโชคดีที่เราได้อยู่ที่เมืองโคราชและเราเป็นหลานย่าโม

โคราชถูกวางให้เป็นศูนย์กลางของการศึกษา เพราะมีทั้งมหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีทั้งวิทยาลัย มีทั้งโรงเรียน จริง ๆ แล้ว เราจะพบว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ เดินทางมาแสวงหา มาสร้างชีวิตที่นี่ เราพบว่าที่นี่เป็นที่รวมพลัง เป็นที่รวมความหวังของคนรุ่นใหม่ เพราะทุกคนมาที่นี่เพราะอยากจะสร้างชีวิต สร้างประสบการณ์ตัวเองในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อที่คิดว่าตัวเองจะต้องเติบโตไปเป็นคนที่มีชีวิตที่มั่นคง มีชีวิตที่ดี และเจอตัวตนของตัวเอง เรามีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่พกพาเอาพลัง เอาจิตวิญญาณ เอาความสามารถมารวมตัวกันอยู่เยอะเลย อยู่ในสถาบันการศึกษา อยู่ในที่ต่างๆ เราเห็นว่าพลังเหล่านั้นมันถูกแฝงอยู่ในรั้วมหาลัย

ในส่วนของตัวเองที่มองโอกาส และโชคดีมากที่ได้เจอมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา และมีโอกาสร่วมมือกับมูลนิธิ เราพบว่าเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีพลังอยู่ที่นี่มีเยอะมาก และก็แฝงตัวอยู่ตามมหาวิทยาลัยของตัวเอง ยังไม่มีโอกาสที่จะมาเอาพลังของตัวเองมาสร้างสรรค์ร่วมกัน เพราะฉะนั้นในมุมที่เราบอกว่า วันนี้เรามาคุยกันเพราะอยากจะหาเมืองสร้างสรรค์ เมืองสร้างสุข เมืองในฝันของทุกคน เพราะฉะนั้น เมืองของทุก ๆ คน ก็ต้องตอบโจทย์ของทุก ๆ คน ด้วย เรายังคิดว่าเยาวชน กลุ่มเยาวชนที่อยู่ในโรงเรียน อยู่ในมหาวิทยาลัย เป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากจะเห็นเมืองที่ทำให้เยาวชนเหล่านี้ออกมาได้แสดงพลังของตัวเอง ได้ออกมาทำกิจกรรมเพื่อที่จะสร้างตนเอง สร้างสังคม ที่ออกมาฝึกฝนตัวเองไปในอนาคต

ปรัชทิพา หวังร่วมกลาง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา (มยพ.) กล่าวว่าจากการกลับมาทำงานพื้นที่บ้านเกิดหลายปีที่ผ่านมา โดยมูลนิธิเพื่อนเยาวเพื่อการพัฒนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสสส. เราพบว่าปัญหาในเด็กและเยาวชน ขาดการส่งเสริมและการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ สู่การพัฒนาสร้างสรรค์ จนทำให้มีโอกาสเข้าถึงปัจจัยเสี่ยงง่าย จากช่องว่างระหว่างวัย ถูกทิ้งขว้างแปลกแยก ขาดการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ไม่เท่าทันสื่อเทคโนโลยี ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะหลายด้าน การขับเคลื่อนครั้งนี้เรามี 7 เป้าหมายสำคัญคือ 1.พัฒนาความรู้ ทักษะเพื่อเติบโตอย่างสร้างสรรค์ มีทักษะเท่าทันตนเอง เท่าทันสื่อ เท่าทันสังคม เป็นพลเมืองจิตอาสา เข้าใจสิทธิเด็กขั้นพื้นฐาน และเคารพในสิทธิผู้อื่น 2.พัฒนาศักยภาพ เสริมพลัง และยกระดับครู แกนนำพลเมืองอาสา แกนนำสภาเด็กและเยาวชน แกนนำชุมชน เป็นนักปฏิบัติการขับเคลื่อนสังคม รวมถึงครอบครัว โรงเรียน และพื้นที่สาธารณะ 3.ส่งเสริมพลเมืองจิตอาสา เป็นนักสร้างสรรค์ นักสื่อสาร พลเมืองคนรุ่นใหม่ ที่ร่วมออกแบบปฏิบัติการเมืองสร้างสรรค์ ชุมชนสร้างสรรค์

เป้าหมายที่ 4.พัฒนาสร้างสรรค์ ยกระดับองค์ความรู้และเครื่องมือด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน สอดคล้องบริบทและความต้องการของเด็กเยาวชน ชุมชน ท้องถิ่น 5.พัฒนาพื้นที่เรียนรู้ แบ่งปันและจัดการความรู้ ขยายผลการดำเนินงานด้านเด็กและเยาวชน 6.สานพลัง 15 องค์กร กำหนดเป้าหมาย ออกแบบ ขับเคลื่อน สนับสนุน ติดตาม เสริมพลัง ร่วมสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะ เพื่อเด็กและทุกคน มีพื้นที่ปลอดภัยสร้างสรรค์ พื้นที่เรียนรู้ พื้นที่สื่อสาร ทั้งทางนโยบาย ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และพื้นที่สาธารณะ 7.พัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสร้างกระแสความตระหนักต่อสังคม ส่งเสริมพัฒนาการเด็กและเยาวชน สร้างสิ่งแวดล้อม ผ่านงานสื่อสารหลายช่องทาง รูปแบบออนไลน์ เทศกาลชุมชน เทศกาลโคราชเมืองสร้างสรรค์

นายธรรมศักดิ์ อินดอน ตัวแทนเยาวชนจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า มองเข้าไปในชุมชนเราจะพบว่าทุกวันนี้พื้นที่ที่เกี่ยวกับการเล่น หรือพื้นที่ที่เกี่ยวกับเด็กนั้นแทบจะไม่ค่อยมีเลย ถึงแม้จะเป็นพื้นที่ที่เป็นชุมชนเมือง แต่ที่สำหรับเด็กเล่นมีน้อยมาก พอเด็กไม่ได้เล่นในพื้นที่ของเค้า หรือว่าไม่ได้เล่นข้างนอก หรือไม่ได้มีพื้นที่สาธารณะนั้น เด็กก็อยู่แต่ในบ้านอาจจะเล่นแต่โทรศัพท์ หรือ ว่าเล่น internet หรือ อยู่แต่กับสื่อ social พอเป็นแบบนั้นเด็กก็อาจจะเสพสื่อออนไลน์มากเกินไป หรือว่าอาจจะเจอสื่อที่ไม่เหมาะสมที่อยู่ในโลกออนไลน์

อยากเห็นเมืองโคราชเป็นเมืองเปิด ไม่ใช้แค่ว่าจะเป็นเฉพาะคนโคราช แต่เป็นคนจากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นคนต่างชาติ หรือชาติพันธุ์ต่างที่สามารถเข้ามาอยู่ร่วมอาศัยกับเราได้ และอยากให้เมืองโคราชมีพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่สีเขียว มีพื้นที่สุขภาวะที่ดีในชุมชน หรือว่าตามที่เมืองต่าง ๆ อยากให้เป็นเมืองที่ปลอดยาเสพติดด้วย ไม่อยากให้มีอบายมุขที่มันอยู่ในชุมชน อยากให้มาร่วมทำกิจกรรมสร้างสรรค์ มีพื้นที่ที่ทำกิจกรรม อยากมีพื้นที่ที่เค้าใช้สอย ทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน มานั่งคุยกันบ้าง และพื้นที่ออกกำลังกาย หรือว่าเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ ได้เล่นอย่างสนุกสนาน เป็นลานกว้าง และมีผู้หลักผู้ใหญ่คอยดูแลพวกเค้าอยู่ตรงนั้น

ศศิกานต์ พืชขุนทด รองผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนในครั้งนี้ยึดหลักที่ให้ความสำคัญ เมืองที่นับรวมทุกคน inclusive city เมืองที่ให้คุณค่า ให้ความสำคัญของทุกคนในเมือง ไม่ว่าจะเป็นคนเล็กคนน้อย หรือเป็นกลุ่มคน เราก็ต้องนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของเมือง และการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม เราให้ความสำคัญกับเด็กเยาวชนและคนรุ่นใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง เข้ามาสร้างความร่วมมือกับทุกๆ ส่วนของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นแกนนำชุมชน คนในชุมชน เพื่อร่วมจัดสภาพแวดล้อมของเมืองให้เอื้อกับคนที่อยู่ในเมืองได้รับความสะดวก มีความปลอดภัย ได้รับสิทธิที่เข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่เท่าเทียมกัน เมืองต้องเอื้อให้กับผู้คนในทุกๆ ด้าน ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ เรื่องสุขภาพอนามัย เรื่องคมนาคม เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ ต้องเอื้อให้คนอยู่อาศัยได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เชื่อว่าหากทุกๆเมืองก้าวไปข้างหน้าด้วยหลักการดังกล่าว ก็จะเป็นเมืองแห่งสุขภาวะ เมืองที่มีความสุขและมีปลอดภัย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *