สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ลงพื้นที่เยี่ยม โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองคุณภาพมาตรฐาน HA (Healthcare Accreditation) และก้าวเข้าสู่การรับรองมาตรฐานคุณภาพขั้นก้าวหน้า (Advance HA) และการรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/ เฉพาะระบบ (Program and Disease Specific Certification: PDSC) ต้นแบบสถานพยาบาลทั่วประเทศ เน้นการดูแลผู้ป่วยแบบครบวงจร โดยยึดหลัก 2P Safety ผู้ป่วยปลอดภัย บุคลากรปลอดภัย
วันที่ 20 มกราคม 2566 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) นำคณะทำงาน และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ร่วมศึกษาการพัฒนาคุณภาพการรักษา ดูแลผู้ป่วย ที่เป็นไปตามมาตรฐานโรงพยาบาลคุณภาพ HA โดยมี พญ.อัจฉรา ละองพาณิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และคณะแพทย์ให้การต้อนรับ
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้นำคณะสื่อมวลชนร่วมศึกษา เรียนรู้เกี่ยวกับคุณภาพโรงพยาบาลมาตรฐาน HA โดยมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ หรือ HA ที่ สรพ. พัฒนาขึ้นมาถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับสถานพยาบาลที่จะนำไปพัฒนาระบบบริการของสถานพยาบาล เพราะเป็นมาตรฐานที่ผ่านกลไกการมีส่วนร่วม มีหลักวิชาการ และผ่านการรับรองที่เป็นสากลคือ ISQua EEA (The International Society for Quality in Health Care External Evaluation Association) ซึ่งเรามีการพัฒนามาตรฐานมาโดยตลอดเพื่อตอบโจทย์สากล คือ
1.ตอบโจทย์มาตรฐานสากล ที่จะต้องทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย (Patient Safety)
2. ทำให้สถานพยาบาลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดระบบบริการสุขภาพที่ดี
3. ตอบโจทย์ที่จะทำให้โรงพยาบาลมองเห็นความต้องการของผู้ป่วยหรือประชาชนเป็นหลัก โดยยึดให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการวางระบบบริการ หรือแนวทางในการรักษาหรือบริการสุขภาพ
ขณะที่มาตรฐานของไทยเอง ก็จะมีจุดเด่นที่แตกต่างคือ จะมีความสอดคล้องกับนโยบายทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศ เช่น ใส่มาตรฐานในเรื่องของ Telemedicine ซึ่งเป็นแนวทางการรักษารูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มการเข้าถึงในสถานบริการ และการดูแลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำปัจจัยปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเข้ามาใส่ในมาตรฐาน เช่น ชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทาการแพทย์ เพื่อให้สถานพยาบาลเห็นความสำคัญในชั่วโมงการทำงานของบุคลากร
“ดังนั้นสถานพยาบาลไหน ที่นำมาตรฐานไปใช้ นอกจากจะได้หลักการในการบริหารองค์กรแล้ว เขายังได้รูปแบบของการพัฒนาที่ตอบโจทย์ที่สามารถเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ประเทศเราเปิดรับนักท่องเที่ยว การที่สถานบริการมีมาตรฐานที่ผ่านการรับรองระดับสากล
ไม่เพียงแค่คนไทยที่ได้รับประโยชน์ นักท่องเที่ยว ที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่ผ่านมาตรฐาน HA ทั่วประเทศ ก็จะได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญมาตรฐานนี้ยังสอดแทรกในเรื่องของ การส่งเสริม และสร้างเสริมสุขภาพ ที่จะทำให้สถานพยาบาลจัดรับบริการสุขภาพ ตั้งแต่การป้องกัน รักษา และฟื้นฟู กล่าวคือสถานพยาบาล มองตัวเองเป็นมากกว่าการรักษาในโรงพยาบาล แต่จะมองเชื่อมโยงไปถึงการดูแลฟื้นฟูในชุมชน” พญ.ปิยวรรณ กล่าว
พญ.อัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า โรงพยาบาลได้เข้าร่วมการพัฒนาระบบการบริการกับ สรพ. มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 และได้รับการรับรองครั้งแรกในปี พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นสถานพยาบาลแห่งแรกที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน HA ในประเทศไทย โดยหลังการรับรองก็จะมีการประเมินซ้ำมาโดยตลอด
จนกระทั่งถึงระดับสูงสุดของมาตรฐาน HA คือ การรับรองครั้งที่ 5 ทางโรงพยาบาลได้กลับมามองว่าเราน่าจะไปได้ไกลกว่านั้น คือ จากเดิมที่ทำตามกรอบของ สรพ. ก็มีการคิดต่อไปมากกว่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และเพื่อความยั่งยืน รวมถึงจากการประเมินบุคลากร ส่วนใหญ่มีหัวใจที่ความพร้อมต่อการพัฒนาระบบบริการนำมาสู่การประเมิน มาตรฐาน Advance HA (AHA)
“พูดถึงความแต่งต่าง HA กับ Advance HA หากกล่าวให้เห็นภาพชัดเจนคือ การพัฒนาระบบที่บุคลากรสามารถคิด ออกแบบได้ด้วยตนเอง นำเสนอด้วยตนเอง แม้ว่าการประเมินจาก สรพ. จะมีความละเอียดมากขึ้น โรงพยาบาลต้องเตรียมระบบให้มีความพร้อมมากขึ้น แต่ยังไม่ละทิ้งหัวใจสำคัญคือ การบริการต้องปลอดภัย คือ ความปลอดภัยในการให้บริการ ความปลอดภัยต่อบุคลากร ที่จะนำมาซึ่งบริการที่มีคุณภาพ” พญ.อัจฉรา กล่าว
โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ยังได้การรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค เฉพาะระบบ (Program and Disease Specific Certification: PDSC) ที่การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย
พญ.สุวิมล คูห์สุวรรณ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า ได้ทำการพัฒนาคุณภาพการบริการ ดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีมานานกว่า 20 ปี โดยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย มีผู้ป่วยสะสมและติดเชื้อเอชไอวีสูง โดยหากย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อนติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศ
ซึ่งภายหลังที่ได้เข้าร่วมการพัฒนาระบบมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายของจังหวัดเชียงราย โดยมีโรงพยาบาลเป็นแม่ข่าย และเชื่อมไปยังโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลอื่นที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข รวมไปถึงกลุ่ม NGO ในพื้นที่ที่ดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้เข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาลได้จนทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อในพื้นที่ตอนนี้ลดลงอย่างมาก
สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล มองว่า รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ใช้กลไกการรับรองเฉพาะโรค เป็นเครื่องมือในการดูแลผู้ป่วย HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาตรฐานเฉพาะโรคของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ทำให้เกิดการทำงานบูรณาการในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล ส่งผลให้ระบบบริการงานโรคติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ
ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันการติดเชื้อ การตรวจค้นหาโรคการตรวจวินิจฉัย และตรวจติดตามประเมินสภาวะโรคและการดูแลรักษา สอดคล้องกับขอบเขตของการรับรองเฉพาะรายโรค คือ การดูแลผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่งตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดหรือตลอดธรรมชาติของการกำเนิดโรค และเพื่อให้ดูแลเฉพาะโรคที่ดีดังกล่าวขยายความสำเร็จในระดับจังหวัด จึงเกิดความร่วมมือและการสนับสนุนจากกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค และ ศูนย์ความร่วมมือไทย สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (PEPFAR) ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพด้านเอชไอวี ทั้งในระดับ รพ.(HIV-DSS) และเข้าสู่การรับรองคุณภาพเครือข่ายสถานบริการ (HIV-HNA) สู่การยุติปัญหาเอดส์ ในปี 2573 (2030)