“บุหรี่ไฟฟ้า” ตัวปัญหาในสังคม

จดหมายเปิดผนึกถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

ด้วยขณะนี้มีการติดต่อประสานไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้บริหารโรงเรียน ให้มีการจัดเวทีเสวนาโดยเน้นกลุ่มเป้าหมายของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นนักเรียน นักศึกษา โดยมุ่งประเด็นเสวนาและการสื่อสารเกี่ยวกับ “บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยควรถูกกฎหมาย” ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีเสวนาลักษณะนี้ อย่างน้อย 7-8 ครั้ง ที่มีการเผยแพร่ข่าวสารการจัดกิจกรรมดังกล่าวไปยังช่องทางต่าง ๆ กับมหาวิทยาลัย และโรงเรียนทั้งใน กทม. และจังหวัดต่าง ๆ เพื่อจุดกระแสในเชิง เยาวชนสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในประเทศไทย

โดยข้อเท็จจริงของการจัดเสวนาดังกล่าวนี้ตามที่ปรากฏในข่าว จะเป็นการเผยแพร่ข่าวการปรากฏตัวเข้าร่วมเวทีเสวนาของรัฐมนตรีท่านหนึ่งในฐานะประธาน โดยเดินทางไปเข้าร่วมด้วยตัวเองบางครั้ง และเข้าร่วมผ่านการวิดีโอคอลในช่องทางออนไลน์ หลังจากนั้นจะเป็นการเสวนาของนักศึกษา นักเรียนที่มาร่วมงาน เมื่อเสร็จสิ้นการเสวนา สมาคมด้านสื่อแห่งหนึ่ง จะทำหน้าที่นำข้อมูลที่ได้จากการเสวนาทำข่าวเผยแพร่ต่อสาธารณะในหลายช่องทาง

ซึ่งการจัดกิจกรรมเสวนานี้ มีข้อสังเกตที่เป็นประเด็นปัญหา และความไม่ชอบมาพากลหลายประเด็น กล่าวคือ การเผยแพร่ข่าวการจัดเวทีเสวนาของฝ่ายจัดการประชุม มีการนำเสนอเนื้อหาข่าว ความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมเสวนาที่ไม่สอดคล้องกับความจริงที่เกิดขึ้นในเวทีเสวนา

รวมทั้งมีการหยิบยกประเด็นเพื่อนำเสนอข่าวเพียงด้านเดียวโดยเลือกนำเสนอเฉพาะการทำให้บุหรี่ไฟฟ้าต้องถูกกฎหมาย ทั้งที่ในความเป็นจริงบทสรุปของผู้เข้าร่วมเสวนาและวิทยากรไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งปรากฏว่า หลายข่าวมีการนำเสนอพาดหัวข่าวโดยกล่าวอ้างว่านักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมเสวนาเห็นด้วยกับการที่ควรยกเลิกการห้ามขาย

หรือชื่นชมรัฐมนตรี ซึ่งการกระทำเช่นนี้อาจทำให้สาธารณชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนไปจากความจริง รวมทั้งอาจเกิดผลกระทบเชิงลบต่อชื่อเสียง และภาพลักษณ์ทั้งต่อตัวนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมเสวนา และสถาบันการศึกษาที่เป็นสถานที่จัดงานเสวนาดังกล่าวได้

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  จึงขอสื่อสารมายังภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะเยาวชน ผู้บริหารของสถานศึกษา เพื่อให้รับทราบถึงกรณีปัญหาที่เกิดขึ้น โดยหากมีหน่วยงานหรือองค์กรใดมาติดต่อเพื่อให้จัดเวทีเสวนา “เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า” ให้กับนักศึกษา นักเรียนที่อยู่ภายใต้สังกัดของภาคี ขอให้ตรวจสอบว่าหน่วยงานใดเป็นผู้สนับสนุน แหล่งทุนที่สนับสนุนวัตถุประสงค์ของการเสวนา

รวมถึงความเหมาะสมของการปรากฏตัวหรือการเข้าร่วมของนักการเมือง หรือรัฐมนตรี ซึ่งอาจมีผลประโยชน์หรือนัยยะทางการเมือง หรือสนับสนุนให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ให้แน่ชัด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ปัญหาดังที่เคยเกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาหลายแห่งดังที่ปรากฏเป็นข่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *