กรมชลประทาน เตรียมเดินหน้าพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง-ห้วยบ้านโตก อันเนื่องมาจากพระราชดําริรับมือสภาพอากาศแปรปรวนในอนาคต
กรมชลประทาน เร่งดำเนินแผนงานระยะยาว เดินหน้าพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง-ห้วยบ้านโตก อันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดเพชรบูรณ์ รับมือสภาพอากาศแปรปรวนในอนาคต คาดจะสามารถเก็บกักน้ำได้ 22.69 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ได้ประโยชน์กว่า 24,000 ไร่
นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมชลประทานเร่งดำเนินการแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำในระยะยาวในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
อีกทั้งเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแปรปรวนในอนาคตซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยได้มอบหมายให้ นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าร่วมการประชุมปัจฉิมนิเทศโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง-ห้วยบ้านโตก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบูรณ์ หนึ่งในแผนพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดเพชรบูรณ์
นายสุรชาติ มาลาศรี กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านนี้จะอยู่ในช่วงปรากฎการณ์ลานีญ่า ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศไทยจะมีปริมาณฝนที่ค่อนข้างมาก
ส่วนในปีนี้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ปกรมชลประทาน เร่งดำเนินแผนงานระยะยาวเดินหน้าพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง-ห้วยบ้านโตก อันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดเพชรบูรณ์ รับมือสภาพอากาศแปรปรวนในอนาคต คาดจะสามารถเก็บกักน้ำได้ 22.69 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ได้ประโยชน์กว่า 24,000 ไร่ ประมาณการว่าจะเกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ่”
ซึ่งก็จะสอดคล้องกับที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ซึ่งค่อนข้างจะล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย อีกทั้งปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อยประมาณร้อยละ 5 และจะมีฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคมนี้
ในการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา เป็นช่วงของปีการเพาะปลูก 2565/2566 ซึ่งสิ้นสุดลงไปแล้วนั้น ก็เป็นไปตามแผนการจัดการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งที่กรมชลประทานได้วางไว้ ส่วนในช่วงของฤดูฝนนี้ กรมชลประทาน ได้วางแผนรับมือปรากฎการณ์ดังกล่าว
โดยจะมีการติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนการจัดน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญได้แก่ การเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด และการประชาสัมพันธ์ แจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำแก่เกษตรกรอย่างใกล้ชิด
ส่วนมาตรการในระยะยาวก็จะดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเก็กกักน้ำไว้สำหรับการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งมีความสำคัญต่อพื้นลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กรมชลประทานได้ดำเนินการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้มีโครงการที่ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จ จำนวน 6 โครงการ และจะเริ่มดำเนินการศึกษาในปีนี้อีก จำนวน 2 โครงการ
นายสุชาติ กาญจนวิลัย ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จังหวัดเพชรบูรณ์มีพื้นที่อยู่ในลุ่มน้ำถึง 5 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำโขง แต่จะมีส่วนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักมากที่สุดถึงร้อยละ 70 ของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีแม่น้ำป่าสักที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ยาวประมาณ 350 กิโลเมตร
“ที่ผ่านมาจังหวัดเพชรบูรณ์ เผชิญทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม โดยพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม จะอยู่สองฝั่งของแม่น้ำป่าสัก แบ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมปานกลาง และเสี่ยงสูง ส่วนพื้นที่เผชิญภัยแล้ง มักพื้นที่ลาดชัน และภูเขาสูง โดยร้อยละ 60 ของพื้นที่ ถือว่ามีปัญหาภัยแล้งระดับต่ำ และอีกร้อยละ 35 มีปัญหาภัยแล้งระดับปานกลาง ที่เหลือเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับสูง”
ในปัจจุบัน จังหวัดเพชรบูรณ์มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กประเภทต่างๆ จำนวน 232 แห่ง รวมความจุทั้งหมดประมาณ 210 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 457,163 ไร่ และมีแผนที่จะพัฒนาโครงการขนาดกลางที่มีศักยภาพอีก 44 โครงการ ซึ่งหากดำเนินการได้ครบถ้วนจะสามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มอีกประมาณ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ตำบลบ้านโตก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลน้ำทั้งเพื่ออุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตร ราษฎรตำบลบ้านโตก จึงส่งหนังสือถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้พิจารณาจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำ ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง ที่บ้านน้ำจาง ตำบลบ้านโตก อำเภอเมือ จังหวัดเพชรบูรณ์ กระทั่ง ปี 2561 มีผลการศึกษาโครงการพบว่า มีพื้นที่ ที่มีศักยภาพจะพัฒนาเป็นแห่งกักเก็บน้ำได้อีก 1 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำบ้านโตก ตำบลบ้านโตก
จากนั้นในปี 2564 ได้บรรจุโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ 8 โครงการ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งรวมถึงโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจางและอ่างเก็บน้ำบ้านโตกด้วย
แต่เนื่องจากทั้ง 2 โครงการ มีพื้นที่โครงการบางส่วนอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณที่เป็นป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม (Zone C) จึงเข้าข่ายประเภทและขนาดของโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
“โครงการฯนี้จะมีพื้นที่รับประโยชน์ถึง 24,140 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรในตำบลบ้านโตก ตำบลชอนไพร อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ รวม 16 หมู่บ้าน และปริมาณน้ำที่ส่งให้จะเกิดประโยชน์อย่างมาก เช่น ส่งให้พื้นที่ชลประทาน 15.23 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี แบ่งเป็นช่วงฤดูฝนประมาณ 19,630 ล้านไร่ ฤดูแล้ง 14,520 ล้านไร่ เพื่ออุปโภคบริโภค 1.32 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี รวมถึงน้ำเพื่อปศุสัตว์ อุตสาหกรรมและน้ำเพื่อรักษาสมดุลนิเวศท้ายน้ำด้วย และนอกจากนี้ยังมีศักยภาพที่จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย”
นายเจษฎา โทศิริกุล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 10 เปิดเผยว่า มีแผนที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง-ห้วยบ้านโตก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2570 เนื่องจากโครงการฯ ดังกล่าวมีพื้นที่โครงการบางส่วนอยู่ในพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1
ภายหลังการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จจะต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ด้านพัฒนาแหล่งน้ำและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล)
จากนั้นจะต้องดำเนินการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 จากคณะรัฐมนตรีก่อน อีกทั้งจะต้องขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจากกรมป่าไม้อีกด้วย โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 6 ปี เนื่องจากจะต้องก่อสร้างเขื่อน จำนวน 2 แห่ง และทางเชื่อมอ่างเก็บน้ำด้วย
ส่วนนายเพิ่ม คิดตั้น เกษตกร วัย 66 ปี บ้านน้ำจาง หมู่ 7 ต.บ้านโตก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เล่าว่าเป็นเกษตรกรที่ทำสวนมากว่า 40 ปี มีสวนผสมผสาน 4 ไร่ มาจากมะขามหวาน ละมุด มะม่วง แต่ละปีให้ผลผลิตแตกต่างกันไปตามฤดูกาล ที่ผ่านมาจะดูแลพืชในสวนด้วยน้ำบ่อดิน หรือเรียกว่าบ่อน้ำสร้าง จะมีน้ำไหลซึมเองตามธรรชาติ ส่วนน้ำที่ใช้ในครัวเรือนก็มาจากบ่อเดียวกัน
ที่ผ่านมาคนในหมู่บ้านประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ลุงเพิ่มจึงอนุญาตให้ผู้ใหญ่บ้าน เจาะน้ำบาดาลในที่ดินของตัวงเอง เพื่อสูบน้ำขึ้นไปทำประปาของหมู่บ้าน สำหรับคนอื่นๆ แต่เพียงพอเฉพาะเพื่อใช้ในครัวเรือน แต่น้ำที่จะทำการเกษตรยังไม่เพียงพอ ทำให้ต้นไม้ยืนต้นตายหลายต้น และแต่ละปี ก็จะมีต้นไม้ตายเพิ่ม
นายเพิ่ม ยังบอกว่าต้องการให้เกิดอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำจาง ห้วยบ้านโตก ขึ้นโดยเร็ว เพราะจะช่วยให้ราษฎรในตำบลนี้และใกล้เคียง มีน้ำทำการเกษตรและน้ำอุปโภคบริโภคด้วย จะได้ไม่ต้องเสี่ยงทำสวน ทำไร่ โดยอาศัยน้ำฝนเพียงพออย่างเดียว