สตม. เจ้าภาพการประชุมงานตรวจคนเข้าเมืองระดับนานาชาติ “DGICM” ครั้งที่ 26 โดยปีนี้ สตม. ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในนามของ สตช. และที่พิเศษไปกว่านั้น คือ ในเวทีประชุมครั้งนี้จะมีเลขาธิการอาเซียน ประเทศออสเตรเลีย และประเทศคู่เจรจา +3
ในวันที่ 7-11 ส.ค. 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือ สตม. ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ผู้นำ ตม.อาเซียน หรือชื่อเป็นทางการว่า “การประชุมอธิบดีกรมตรวจคนเข้าเมืองและหัวหน้าฝ่ายกงสุล กระทรวงการต่างประเทศอาเซียน (DGICM) ครั้งที่ 26 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง” (THE 26th ASEAN DIRECTORS-GENERAL OF IMMIGRATION DEPARTMENTS AND HEADS OF CONSULAR AFFAIRS DIVISIONS OF MINISTRIES OF FOREIGN AFFAIRS MEETING (26th DGICM) AND ITS RELATED MEETINGS) ซึ่งเรียกชื่อย่อสั้นๆ ว่า “DGICM”
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผบช.สตม. ทำหน้าที่หัวเรือใหญ่ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปีนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.โดย พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ฯ กล่าวว่า “การประชุม DGICM นับเป็นรายการประชุมครั้งสำคัญรายการหนึ่ง ที่ผู้นำตรวจคนเข้าเมืองอาเซียนระดับอธิบดี และผู้นำตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงหัวหน้าฝ่ายกงสุลจากประเทศที่มีบทบาทสำคัญวงล้อมรอบอาเซียนในฐานะคู่เจรจาอื่นๆ จะได้มาร่วมประชุมกัน โดยมีประเทศไทยเราเป็นเจ้าภาพ”
“อย่างที่ทราบกันแล้วว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภูมิยุทธศาสตร์เชื่อมผ่าน Landlink ระหว่างมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจระดับโลก ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งระดับภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจจากนานาประเทศในการลงทุน ค้าขาย อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศจากการเดินทางผ่านแดนควบคู่ตามมาด้วย ดังนั้น การประชุมผู้นำด้านงานตรวจคนเข้าเมืองระดับนานาชาติในเวทีสำคัญครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ขยายความรุนแรงด้านความมั่นคงและอาชญากรรมระหว่างประเทศ ให้กับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง”
● DGICM คืออะไร ?
DGICM คือ การประชุมผู้นำระดับอธิบดี หรือ ผู้บัญชาการตรวจคนเข้าเมือง หัวหน้ากรมการกงสุล ในกลุ่มประเทศอาเซียน 11 ประเทศ รวมประเทศติมอร์เลสเต ซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนล่าสุดเข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยเริ่มมีการประชุมกันมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2539 หมุนเวียนกันเป็นประเทศเจ้าภาพ โดยจัดประชุมกันทุกปี ซึ่ง 10 ปี ถึงจะมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพอีกครั้ง โดยปีนี้ สตม. ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในนามของ สตช. และที่พิเศษไปกว่านั้น คือ ในเวทีประชุมครั้งนี้จะมีเลขาธิการอาเซียน ประเทศออสเตรเลีย และประเทศคู่เจรจา +3 ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมประชุมด้วย
● ประเด็นการประชุมหารือ ?
การกำหนดหัวข้อประเด็นการประชุมจะเป็นไปตามหัวข้อสารัตถะสำคัญ ได้แก่
– การประชุมอาเซียนว่าด้วยหัวหน้าด่านหลักตรวจคนเข้าเมือง (ASEAN Heads of Major Immigration Checkpoints Forum หรือ AMICF)
– การประชุมหัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการลักลอบขนคนเข้าเมือง (Heads of Specialist Unit on People Smuggling Meeting – HSU)
– การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการข่าวหน่วยตรวจคนเข้าเมือง (ASEAN Immigration Intelligence Forum หรือ AIIF)
นอกจากนั้น ยังมีเวทีการประชุมกับประเทศคู่เจรจาอีก 2 เวที ได้แก่
– การประชุมในกรอบทวิภาคี DGICM กับ ออสเตรเลีย
– การประชุมในกรอบทวิภาคี DGICM กับ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี
ซึ่งจะมีการประชุมเต็มคณะโดยอธิบดีกรมตรวจคนเข้าเมืองและหัวหน้าฝ่ายกงสุลกระทรวงการต่างประเทศด้วย
● สิ่งที่คาดหวัง ?
งานตรวจคนเข้าเมืองเป็นเหมือนประตูบ้านที่คอยสกัดกั้นการเดินทางของบุคคลที่เป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยของประเทศ โดยเฉพาะอาชญากรตั้งแต่ระดับการก่อการร้ายไปจนถึงระดับมิจฉาชีพ ซึ่งปัจจุบันมีการขยายตัวเป็นเครือข่ายควบคุมการพัฒนาทางด้านการคมนาคมขนส่งและเทคโนโลยี เข้าลักษณะอาชญากรข้ามชาติ ดังนั้น การประชุมในครั้งนี้จึงเป็นที่คาดหวังผลในเรื่องความร่วมมือของหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองในภูมิภาคที่แข็งแรง ซึ่งจะเป็นการสร้างประตูที่แข็งแกร่งระดับภูมิภาค ที่จะสามารถหยุดยั้งการเคลื่อนย้ายของอาชญากรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การประชุมครั้งนี้จึงมีการกำหนดประเด็นสำคัญในการประชุมหารือ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มขีดความสามารถความร่วมมือระหว่างหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองในกลุ่มประเทศอาเซียน และ ประเทศคู่เจรจาโดยเฉพาะความร่วมมือด้านการข่าว และการประสานการปฏิบัติร่วมกันในการสกัดกั้น หรือปราบปรามจับกุมได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะการก่อการร้าย ขบวนการลักลอบเข้าเมือง การค้ามนุษย์ อาชญากรรมทางไซเบอร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญไว้
● คนไทยได้อะไรจากการจัดประชุมครั้งนี้ ?
นอกเหนือจากผลลัพธ์ทางความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งจะลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามของอาชญากรรมระหว่างประเทศจากการผ่านแดนให้กับสังคมไทยและภูมิภาคอาเซียนแล้ว ในปีนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้เลือกจังหวัดภูเก็ตเป็นพื้นที่จัดงานประชุมซึ่งจะมีผู้นำหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง คู่สมรส และคณะผู้ติดตามจาก 16 ประเทศ รวมถึงสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วม ซึ่งจะมีกิจกรรมทั้งการประชุม การจัดเลี้ยง และเยี่ยมชมพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต นอกจากนั้น ยังมีการนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นมาใช้ในการประชุม เช่น ของที่ระลึก อาหาร การแต่งกาย การตกแต่งสถานที่ เพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวต่างชาติด้วย และที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ การสนองแนวคิดการประชุมเพื่อลดโลกร้อนตามมติที่ประชุมสหประชาชาติ ในรูปแบบ Low Carbon Meeting เพื่อลดภาวะมลพิษ เช่น การใช้วัสดุการประชุมที่รีไซเคิลได้ การใช้จอ LED เป็น Backdrop แทนวัสดุไม้หรือกระดาษ การลดการใช้เอกสาร การใช้ไม้กระถางตกแต่งสถานที่เพื่อการนำมาใช้ประโยชน์หลังประชุม การใช้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในการประชุม เป็นต้น เพื่อเป็นแบบอย่างการประชุมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด สมกับเป็นเมืองแห่งธรรมชาติที่งดงาม ดังนั้น การจัดประชุมในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวให้กับประเทศไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์วิกฤตโควิดให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง
“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จึงขอให้พี่น้องคนไทยโดยเฉพาะชาวภูเก็ตได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำหน่วยงานตรวจคนเข้าเมือง คู่สมรส และคณะติดตาม รวมถึงสื่อมวลชน ที่เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ไปด้วยกัน” พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ฯ กล่าวปิดท้าย