“ฮาราลด์ ลิงค์” ซีอีโอ บี.กริม เพาเวอร์ ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “Resetting Priorities” ในงานประชุมซีอีโอระดับโลก Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 21 ตอกย้ำวิสัยทัศน์ การดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี
งานประชุมซีอีโอระดับโลก Forbes Global CEO Conference ครั้งที่ 21 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ซึ่งได้จัดให้มีการเสวนาบนเวทีในหัวข้อต่าง ๆ โดย ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้รับเกียรติร่วมแสดงวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจ ภายใต้หัวข้อ “Resetting Priorities” ร่วมกับ มร. วินเซนต์ ตัน ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษา เบอร์จายา คอร์ปอเรชั่น (Berjaya Corporation Group of Companies) และ มร. แอนเดอร์สัน ทาโนโตะ (Mr. Anderson Tanoto) กรรมการผู้จัดการ Royal Golden Eagle Pte. Ltd. (RGE)
หัวข้อเสวนา เป็นการมองถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจขององค์กรในปัจจุบัน ที่องค์กรต่าง ๆ เริ่มหันมาโฟกัสเกี่ยวกับการสร้างผลกำไรที่สมดุลมากขึ้น โดยให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน การอุทิศเพื่อสังคม และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) เพื่อกำหนดเป้าหมายและภารกิจขององค์กรร่วมกัน
โดยเฉพาะเป้าหมายที่ถือเป็นเทรนด์ธุรกิจของโลกยุคใหม่ ซึ่งถือเป็นการเซ็ทมาตรฐานใหม่ขององค์กร อาทิ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ การลดการปล่อยคาร์บอน แนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และการช่วยเหลือชุมชนในท้องถิ่น ฯลฯ ความท้าทายของผู้นำองค์กรคือ ทำอย่างไรที่จะสร้างความสมดุลให้กับผลตอบแทนทางการเงิน กับเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร ให้สามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้
การประชุมครั้งนี้เป็นการรวมผู้นำจากหลากหลายธุรกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงเจ้าของธุรกิจระดับโลกจากหลากหลายประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
บี.กริม เพาเวอร์ ดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์ สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี มุ่งส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบในมิติต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมผ่านการพัฒนาพลังงานสะอาด โดยมุ่งพัฒนาความเป็นเลิศด้านพลังงาน ด้วยการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีเป้าหมายก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (ปี พ.ศ. 2593)