กรมชลฯ ลงพื้นที่สำรวจหัวงานโครงการลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี เล็งพัฒนาประตูระบายน้ำ ปรับปรุงระบบส่งน้ำลดปัญหาภัยแล้ง-อุทกภัย
กรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนติดตามความคืบหน้า “โครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี” เตรียมแผนบูรณาการปัญหาด้านน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม และมลพิษทางน้ำ เดินหน้าพัฒนาปรับปรุงเพิ่มศักยภาพสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ เพื่อบรรเทาปัญหาการใช้น้ำภาคการเกษตร อุปโภค-บริโภค ในลุ่มน้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี
วันที่ 12 ธันวาคม 2566 นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้า การดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี (โครงการประตูระบายน้ำสะแกกรัง จ.อุทัยธานี) มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำสะแกกรัง ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยในปัญหาของระดับน้ำในแม่น้ำ ที่มีระดับลดลงอย่างมาก
กรมชลฯ ได้มีแผนดำเนินโครงการ แก้ไขปัญหาปริมาณน้ำให้เพียงพอ เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชน ทั้งในด้านปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และปัญหามลพิษทางน้ำ มาสู่แผนบริหารจัดการและบูรณาการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำอย่างยืน ผ่านโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาแม่น้ำสะแกกรัง
การดำเนินโครงการดังกล่าว ได้ศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย
- เพื่อทบทวนแผนและกำหนดแนวทางของการพัฒนาแหล่งน้ำและการชลประทานในลุ่มน้ำสะแกกรัง ให้สอดรับกับแผนยุทธศาตร์ พื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรัง ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) และแผนงานของกรมชลฯ รวมถึงระบบกระจายน้ำในพื้นที่ และบรรเทาอุทกภัย เพื่อให้น้ำมีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค โดยทำการศึกษาครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำแก้ปัญหาในทุกมิติ
- จัดทำรายงานความเหมาะสมของโครงการเชิงพื้นที่ ได้แก่ โครงการเชิงพื้นที่การระบายน้ำบรรเทาน้ำท่วม อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ โครงการเชิงพื้นที่การบรรเทาน้ำแล้งอำเภอเมืองอุทัยธานี และพื้นที่ข้างเคียง พร้อมจัดทำการศึกษาที่สอดคล้องกับการบรรเทาปัญหา มีลักษณะงานด้านวิศวกรรมความเหมาะสม การพิจารณางานด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตของประชาชน
- ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ ที่สอดคล้องและเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องและแนวทางของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
- จัดทำแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแผนติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIMP)
- ศึกษาการจัดทำแบบเบื้องต้น โครงการเชิงพื้นที่ (Area Base) การระบายน้ำบรรเทาน้ำท่วม อ. ลาดยาว จ.นครสวรรค์ และโครงการเชิงพื้นที่ บรรเทาน้ำแล้ง อ.เมือง และพื้นที่ข้างเคียง จ.อุทัยธานี และ จ.นครสวรรค์
- การทำประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์ การมีส่วนร่วมของประชาชนและของทุกภาคส่วน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาด้านการบรรเทาอุทกภัย การขาดแคลนน้ำ และคุณภาพน้ำ เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยได้ดำเนินการจัดการประชุมกลุ่มย่อยมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2565 และเดือนมีนาคม 2566
ทั้งนี้แผนงานโครงการเชิงพื้นที่เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำแล้ง ได้จัดลำดับการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ และขนาดกลางที่มีศักยภาพ เพื่อแก้ปัญหาได้ในวงกว้าง จาก 10 โครงการ มี 2 โครงการที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ ประกอบด้วยโครงการบึงน้ำทรงทั้งระบบ และโครงการประตูระบายน้ำ แม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งการศึกษาพบว่า ศักยภาพของโครงการประตูระบายน้ำแม่น้ำสะแกกรัง มีความพร้อมที่จะนำไปสู่การศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ซึ่งกรมชลฯจะมีแผนพัฒนาโครงการ ในขั้นตอนต่อไป และในขณะเดียวกัน ยังมีแผนปรับปรุงระบบส่งน้ำ ทั้งที่เป็นพื้นที่ระบบส่งน้ำเดิมที่ไม่ต้องปรับปรุง เนื่องจากมีสภาพดีอยู่แล้ว และพื้นที่ระบบส่งน้ำเดิมที่ชำรุดเสียหายต้องได้รับการปรับปรุง แบ่งพื้นที่ 3 ส่วน ประกอบด้วย พื้นที่มีระบบส่งน้ำเดิม มีความสมบูรณ์พร้อมใช้งานเป็นพื้นที่ที่ใช้น้ำจากบึงทับแต้ สามารถส่งน้ำได้ถึง 14,445 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่มีระบบส่งน้ำเดิมที่ชำรุดเสียหายต้องได้รับการปรับปรุง ประกอบด้วย คลองสหกรณ์ ต้องมีแผนซ่อมแซมแผ่นคอนกรีต คลองสหกรณ์แยกเหนือ ต้องมีการปรับปรุงท่อลอด อาคารอัดน้ำ และ FTO และคลองสหกรณ์แยกใต้ ต้องมีการปรับปรุงท่อลอด อาคารอัดน้ำ และ FTO ความยาวรวมทั้ง 3 คลองรวมทั้งสิ้น 8,925 เมตร
ทั้งนี้มีแผนเพิ่มพื้นที่ชลประทานเปิดใหม่ โดยจะก่อสร้างระบบส่งน้ำใหม่ ประกอบด้วย สถานีสูบน้ำ 1 แห่ง (แบบแพลอยน้ำ) พร้อมระบบส่งน้ำและหัวจ่ายน้ำ โดยจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ถึง 13,906 ไร่ อย่างไรก็ตามนับว่าเป็นโครงการที่มีความสำคัญที่จะแก้ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดผลกระทบกับประชาชน โดยกรมชลฯ จะกำหนดแผนงานที่ชัดเจน ดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการด้วยความโปร่งใส เพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับประชาชนในจังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดข้างเคียง