สถาบันไฟฟ้าฯ ร่วมกับภาครัฐจับมือไต้หวันเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ (PCB) มุ่งสนับสนุน และยกระดับประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม
อุตสาหกรรมแผ่นวงจรพิมพ์ทั้ง PCB (Printed Circuit Board) และ PCBA (Printed Circuit Board Assembly) เป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด และเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอนาคตเป้าหมายอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนอากาศยาน และอุตสาหกรรม S-curve ต่าง ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล มุ่งช่วยสนับสนุนการยกระดับประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากปัจจัยเรื่องความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ผลิตในอุตสาหกรรม PCB จากประเทศจีนและไต้หวันจำเป็นต้องหาแหล่งลงทุนใหม่เพื่อลดความเสี่ยง ส่งผลให้ประเทศไทย คือ จุดหมายที่ทางประเทศไต้หวันได้เลือกเป็นจุดหมาย
นายณรัฐ รุจิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า “ประเทศไทยได้มีความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ระหว่าง ไต้หวัน-ไทย (Taiwan-Thailand PCB Industry Collaboration Working Group) โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารการพัฒนาอุตสาหกรรม กระทรวงเศรษฐการของไต้หวัน (Industrial Development Administration) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไต้หวัน และนางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมกับผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมหารือ เพื่อหาแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ (PCB) ระหว่างไต้หวันและประเทศไทย โดยที่ผ่านมามีการประชุมระบบทางไกลร่วมกันเพื่อจัดตั้งกลไก PCB Interflow Platform ในอุตสาหกรรม PCB ไต้หวัน-ไทย และจัดตั้งองค์ประกอบคณะผู้แทนไทย และมีประเด็นเร่งด่วนที่สำคัญหารือ ได้แก่ แรงงานในภาคอุตสาหกรรม (Human Resource) และแรงงานที่มีความสามารถสูง (Talents) และมีประเด็นสนับสนุนอื่นๆ ได้แก่ ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (Investment Incentives and Protections) ที่ดินเพื่อการลงทุน (Land for Investment) การใช้พลังงานและน้ำ (Power and Water Consumption) การกำจัดน้ำเสีย (Wastewater Disposal) และโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย (Network Infrastructure)”
“นอกจากนั้น ทางไต้หวันได้มีโครงการ International Industrial Talents Education Special Program (INTENSE Program) เพื่อสนับสนุนทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาต่างชาติรวมทั้งนักศึกษาไทยที่มีความสามารถไปศึกษาต่อยังไต้หวัน และต้องการให้ไทยผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพพร้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
โดยปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยไทย 12 แห่งให้ความสนใจเข้าร่วมโดยจะใช้วิธีการทำ Sand Box ในการพัฒนาหลักสูตรโดยไม่ต้องเป็นไปตามระเบียบอุดมศึกษา เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการผลิตบัณฑิตให้ตอบสนองต่อการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพในปริมาณมากและรวดเร็ว”
“สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในฐานะที่เป็นหน่วยประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านความร่วมมือในอุตสาหกรรม PCB ระหว่างไต้หวัน-ไทย และพร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม PCB และ PCBA ไทยให้เติบโตกลายเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำในตลาดโลกต่อไป ปัจจุบันมีนักลงทุนรายใหญ่ของโลกเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิต PCB และ PCBA โดยเฉพาะนักลงทุนจากไต้หวัน
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปี 2566 พบว่ามีนักลงทุนขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการแผงวงจรพิมพ์ (PCB และ PCBA) เพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 เท่าจากปีก่อน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนกว่า 96,000 ล้านบาท และขยายตัวกว่า 6 เท่า ซึ่งถือเป็นกิจการที่มีการขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตและส่งออกแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน”