ภาคประชาชน กระตุกสำนึกคมนาคม พร้อมยื่น 4 ข้อ ค้านขายเหล้า เบียร์ บนรถไฟและสถานี อ้างกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว แต่ลืมสิ้นความเจ็บปวดครอบครัวผู้สูญเสีย แนะเอาเวลาพัฒนาคุณภาพรถไฟ ตรงต่อเวลา ขอตำรวจรถไฟกลับมาดูแลเช่นเดิม
วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 ที่กระทรวงคมนาคม เวลา10.00 น. เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกรุงเทพ เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ เข้ายื่นหนังสือ ถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
เพื่อคัดค้านที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เสนอให้ขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ และสถานีรถไฟ โดยเครือข่ายได้นำสำเนาภาพข่าวเหตุการณ์เด็กหญิงที่ถูกพนักงานรถไฟข่มขืนแล้วฆ่าเมื่อหลายปีก่อนมาฟ้องสังคม เพื่อทวงถามจิตสำนึกในวันนี้ด้วย ทั้งนี้ นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าฯ รฟท. เป็นผู้มารับหนังสือ
นางสาวนัยนา ยลจอหอ ผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า ตามที่รฟท.ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2567 ให้มีการพิจารณาทบทวนยกเว้นสถานที่ หรือบริเวณห้ามขาย หรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ กระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ทำให้สังคมมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง
ซึ่งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ. 2558 ก็เพื่อลดผลกระทบจากอุบัติเหตุและอาชญากรรมในการเดินทางด้วยรถไฟ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีพนักงานรถไฟดื่มเมาแล้วก่อเหตุกระทำชำเราผู้โดยสารเด็กหญิงวัย 13 ปี ก่อนโยนร่างออกจากรถไฟเป็นเหตุให้เสียชีวิต จึงมีการผลักดันให้ออกกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มบริเวณสถานีและบนขบวนรถไฟในเวลาต่อมา
“การจะผลักดันให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างเดียว ทำให้สังคมมีคำถามต่อกระทรวงคมนาคม และรฟท. ว่าได้ลืมเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ลืม หรือมองข้ามความเจ็บปวดของครอบครัวผู้สูญเสียไปแล้วใช่หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจยิ่ง ต่างจากประเทศญี่ปุ่น
เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนก็เกิดเหตุการณ์คนเมาแล้วขับชนเด็กเสียชีวิต 2 ศพ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายและพฤติกรรมครั้งใหญ่ มีพัฒนาการทางกฎหมายเข้มข้นต่อเนื่อง ทำให้ปัญหาเมาแล้วขับลดลงอย่างชัดเจนและไม่มีการแก้ไขให้กฎหมายอ่อนแอเหมือนที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการในตอนนี้” นางสาวนัยนา กล่าว
ด้าน นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า การที่เครือข่ายเรามาในวันนี้เพื่อขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอดังนี้
1.ขอคัดค้านข้อเสนอให้ยกเลิกมาตรการห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถไฟ อาจนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัย เพิ่มปัญหาและผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งความรุนแรง ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ ในขณะที่ตำรวจรถไฟได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
2.ขอเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการให้รฟท.พัฒนาคุณภาพการบริการ ความปลอดภัยในการใช้รถไฟ ความตรงต่อเวลาของสถานีรถไฟ เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวมมากกว่าการเปิดทางให้เมาขาดสติเดินทางด้วยรถไฟ
3.ขอเรียกร้องให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความเห็นก่อนการตัดสินใจต่อมาตรการนี้ให้รอบด้านที่สุด
และ 4.ขอเรียกร้องให้นำตำรวจรถไฟกลับมาเป็นผู้ดูแลขบวนรถไฟเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารเช่นเดิม