ACCESSTRADE โดย บริษัท อินเตอร์สเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โชว์ผลสำเร็จโครงการพัฒนาธุรกิจต้นแบบสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสังคมไทย CU SMART ENTREPRENEUR เน้นหลักสูตรด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง ต่อยอดสร้างรายได้ผ่านสื่อออนไลน์ เกิดเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรายุทธ ทรัพย์สุข ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านการพัฒนานิสิต และนิสิตเก่าสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมโลกกำลังเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล เทคโนโลยีออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการธุรกิจ และผู้บริโภค สถาบันการศึกษาเอง ก็ย่อมต้องมีการปรับตัวเช่นกัน เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับ สมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ACCESSTRADE (แอ็กเซสเทรด) โดย บริษัท อินเตอร์สเปซ (ประเทศไทย) จำกัดผู้ให้บริการระบบการตลาดออนไลน์ หรือระบบแอฟฟิลิเอตที่ใหญ่ที่สุดและเป็นที่แรกในประเทศไทย จัดทำโครงการพัฒนาธุรกิจต้นแบบสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสังคมไทย CU SMART ENTREPRENEURเพื่อให้นิสิตที่มีความฝันอยากเป็นผู้ประกอบการ ได้ตามล่าความฝันของตัวเอง โดยมีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง เพื่อให้นิสิตมีความรู้ความเข้าใจในการทำตลาดออนไลน์ อีกทั้งยังมีรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่มีประสบการณ์ในทางธุรกิจมาให้คำแนะนำและให้คำปรึกษา โดยหวังว่าโครงการนี้
“นิสิตที่เข้ารับการอบรม สามารถลองผิดลองถูกด้วยตนเอง หรือหากล้มลงก็ล้มเสียตั้งแต่ยังเป็นนิสิต ซึ่งคงไม่บาดเจ็บมากนัก หากเปรียบเทียบกับการออกไปล้มลุกคลุกคลานด้วยตนเองหลังจบการศึกษาไปแล้ว และสำหรับโครงการนี้เราอาศัยศักยภาพของรุ่นพี่ศิษย์เก่า ที่มีประสบการณ์ในทางธุรกิจมาประกบเพื่อให้คำปรึกษากับน้องนิสิต ซึ่งมีนิสิตให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 100 คน และสร้างผลงานที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต ทั้งนี้หลังจากเสร็จสิ้นโครงการในเฟสแรก อาจมีการหารือกับผู้บริหารเพื่อดำเนินโครงการเฟสสองต่อ โดยเปิดโอกาสให้นิสิตในสาขาอื่นที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้ จะช่วยพัฒนาศักยภาพของนิสิตให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital economy) รวมถึงการสร้างบัณฑิตไปรับใช้สังคมทางด้านความคิดหรือวางแผนธุรกิจให้กับสังคมไทย (Social Enterprise)” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สรายุทธ กล่าว
ด้านนายภัทรวุฒิ กุลจันทร์ ผู้บริหารระดับสูงสุด บริษัท อินเตอร์สเปซ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากข้อมูลของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ระบุว่า ภายในปี 2562 นี้ คาดว่าจะมีการใช้ เม็ดเงินสำหรับโฆษณาสินค้าและบริการรวมจำนวนกว่า 20,163 ล้านบาท โดยแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ได้รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็น Facebook และ YouTube ที่ครองสัดส่วนเม็ดเงิน 49% โดย Facebook มาเป็น อันดับ 1 มีสัดส่วน 29% คิดเป็นเงิน 5,762 ล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ราว 17% ส่วน YouTube มาเป็นอันดับ 2 มีสัดส่วน 20% คิดเป็นเงิน 4,120 ล้านบาท เติบโตก้าวกระโดดถึง 41% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูง และแซงหน้าทีวีดิจิทัลแล้ว
ทั้งนี้ในจำนวนเม็ดเงินโฆษณา ส่วนหนึ่ง มีการนำระบบแอฟฟิลิเอต (Affiliate Marketing) หรือ ระบบการตลาดออนไลน์ โดยการเป็นตัวแทน นำสินค้าของร้านค้าต่างๆ ในระบบมาขาย บนเว็บไซต์หรือบล็อก เมื่อมีลูกค้าซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์นั้น ตัวแทนก็จะได้ค่า Commission (คอมมิสชั่น) จากการขายสินค้านั้นๆ ข้อดีของการทำ Affiliate คือ ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องสต๊อกสินค้า ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องการจัดส่งสินค้าเพียงแค่ให้ลูกค้าซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ ก็จะได้ค่าคอมมิสชั่นจากการขายสินค้านั้นแล้ว ซึ่งในมุมของร้านค้าหรือเจ้าของสินค้าเอง ที่ผ่านมามีการสร้าง Branding เพื่อให้ยอดขายกลับมา แต่ Affiliate Marketing คือ Return on Investment (ROI) ที่ช่วยให้ร้านค้าต่าง ๆ ในระบบของ ACCESSTRADE (แอ็กเซสเทรด) เกิดยอดขายจริง ทาง ACCESSTRADE (แอ็กเซสเทรด) เล็งเห็นความสำคัญตรงจุดนี้ จึงได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สมาคมนิสิตเก่าหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการพัฒนาธุรกิจต้นแบบสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสังคมไทย (CU SMART ENTREPRENEUR) ขึ้น
โดยมีนิสิตและศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมกว่า 100 คน และได้นำเอาหลักสูตรด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เข้าไปในเนื้อหาการเรียน เช่น การเขียนคอนเทนต์, การสร้าง blog, website รวมถึงเทคนิคต่างๆ ตั้งแต่พื้นฐานจนสามารถสร้างรายได้ได้จริงจากการเรียน ควบคู่กับการทำ Affiliate Marketingโดยมีนิสิตที่สามารถนำความรู้จากการเข้าร่วมโครงการมาพัฒนา ต่อยอด จนสามารถสร้างเพจที่มีความน่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียน และสามารถต่อยอดในอนาคตได้ อาทิ เพจ อ่านเถอะมันดี, babebiE_gallary, เชมมี่รีวิว, พาไปเที่ยว และ Unicorn บอกโปร เป็นต้น ซึ่งหลังจากจบการเรียนในโครงการฯ ทาง ACCESSTRADE (แอ็กเซสเทรด) ได้มีการติดตามผล พบว่านิสิตสามารถสร้างรายได้ได้จริง เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท ต่อเดือน “จากเพจทั้ง 5 เพจนี้ จะเป็น Role Model หรือบุคคลต้นแบบที่จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ และ ต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ในอนาคต ซึ่งจะเห็นว่า Digital Marketing ได้เข้ามาสร้างโอกาสให้กับทุกคน อีกทั้งยังสอดคล้องกับพันธกิจของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องการทำให้สังคมไทย ก้าวไปได้ในยุคดิจิทัล” นายภัทรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย