บ้านกาญฯ ไปต่อ หรือ พอแค่นี้

เยาวชนที่กระทำผิดและถูกปล่อยจากบ้านกาญจนาภิเษกกระทำผิดซ้ำน้อยและเป็นผู้รอดกว่า 90 – 95% ขณะที่ งบประมาณในปี 2568 มีการตัดตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็กและเยาวชนออก นั่นหมายถึงการยุติการปฏิบัติหน้าที่ของ ผอ.บ้านกาญจนาภิเษก

“ทิชา” เปิดใจ นั่งผอ.บ้านกาญฯ 20 ปี ช่วยเยาวชนก้าวพลาดคืนสังคม ลดการผิดซ้ำชัดเจน แต่กลับถูกกรมพินิจส่งสัญญาณจะไม่ได้ไปต่อ ชี้เป็นวิสัยทัศน์ที่มีปัญหาคับแคบ ด้าน“นักวิจัย” ชี้ผลวิจัยบอกชัดเยาวชนทำความผิดซ้ำแค่ 6 % พบ 4 ปัจจัยสู่สำเร็จบ้านกาญจนา ไม่อาจพบได้ในระบบราชการปกติ แนะรัฐควรขยายแนวคิดมากกว่าสกัดกั้น

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล อดีตเยาวชนศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จัดเสวนา “เปิดใจป้ามล และงานวิจัยบ้านกาญจนาภิเษก…ไปต่อหรือพอแค่นี้” ภายหลังกองทรัพยากรบุคคลกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน แจ้งว่า งบประมาณในปี 2568 มีการตัดตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านเด็กและเยาวชนออก ความหมายคือต้องยุติการทำหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษกคนนอกออก คือนางทิชา ณ นคร ออกนั้น ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และมีข้อกังวลในสังคมอย่างกว้างขวาง

นางทิชา ณ นคร (ป้ามล) กล่าวว่า ก่อนปี 2546 คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร ผู้พิพากษาสมทบในขณะนั้น มีการศึกษาข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า เยาวชนที่ถูกจับกุมเข้าสถานพินิจมีการกระทำผิดซ้ำสูงมากจึงร่วมกับคณะทำงานประกอบด้วย นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีกรมพินิจฯ คนแรก นายธวัชชัยไทยเขียว ปัจจุบันเป็นคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) และผู้ระดมทุนสร้างบ้านกาญจนาภิเษก ในวโรกาสในหลวงรัชกาลที่ 9 ครองราชย์ 50 ปี และตนในฐานะตนในฐานะผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก คนนอก (ระบบ Outsource) ซึ่งได้รับมอบหมายให้หาเครื่องมือลดการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งหลังมีการปรับวิธีการ นวัตกรรมการดูแลเด็กเยาวชนที่เข้ามายังบ้านกาญจนาฯ พบว่า เยาวชนที่กระทำผิดและถูกปล่อยจากบ้านกาญจนาภิเษกกระทำผิดซ้ำน้อยและเป็นผู้รอดกว่า 90 – 95%

“ในการดำรงตำแหน่งของตนจะมีการต่อสัญญาทุก 4 ปี และทุกครั้งที่มีการต่อสัญญา ตนจะย้ำเสมอว่าอย่าคิดต่อสัญญา ต่ออายุการทำงานเพื่อตัวบุคคล แต่ช่วยคิดเรื่องหลักประกันเชิงระบบให้กับนวัตกรรมลดการกระทำผิดซ้ำด้วย โดยเฉพาะช่วงการต่อสัญญาครั้งที่ 4 และ 5ได้เน้นย้ำการเขียนกฎกระทรวง ตามเจตนารมณ์ มาตรา 55พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ 2553 เนื่องจากนวัตกรรมลดการกระทำผิดซ้ำที่ค้นพบเข้ากันไม่ได้กับระบบอำนาจนิยมที่ใช้อยู่อย่างปกติในสถานควบคุม และมีการผลักดันเรื่อยมา”

ทั้งนี้ ระหว่างการเขียนกฎกระทรวงมาตรา 55ที่ล่าช้ามาก สำนักงาน ก.พ.ร. ก็เข้ามาพูดคุย แลกเปลี่ยน ประชุมและเห็นว่าผลงานบ้านกาญจนาภิเษกมีคุณสมบัติในเชิงนโยบายกระจายอำนาจ จึงมีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผ่านนายวิษณุ เครืองาม ทางรองนายกรัฐมนตรี

โดยในข้อ 3.3  อ.ก.พ.ร. เกี่ยวกับ การทบทวนบทบาทภารกิจและปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการในการประชุมครั้งที่ 1/2565เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 มีมติเห็นชอบให้กรมพินิจฯ เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนำร่องการถ่ายโอนงานภาครัฐให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นร่วมดำเนินการหรือดำเนินการแทน (Sandbox) ในงานเกี่ยวกับกิจการสถานศึกษา สถานฝึกอบรมหรือสถานที่แนะนำทางจิตให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นดำเนินการหรือร่วมดำเนินการแทนตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ 2553 เพิ่มเติมตามที่กรมพินิจฯ ได้สมัครใจเข้าร่วมเป็นหน่วยงานนำร่องและมีหนังสือด่วนที่สุด ยธ 06101/102  ลงวันที่ 17มกราคม 2565 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ร่วมขับเคลื่อนการถ่ายโอนภารกิจภาครัฐและมอบหมายให้ศ.ธงทอง จันทรางศุ อ.ก.พ.ร. เป็นที่ปรึกษาให้ข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อน นำร่อง ถ่ายโอนงานภาครัฐของกรมพินิจฯ

“อธิบดีฯ ในยุคนั้นได้ให้นโยบายกับผู้เกี่ยวข้องว่า กฎกระทรวง มาตรา 55 ต้องเสร็จในยุคผม แต่เมื่ออธิบดีฯ ท่านนั้นย้ายไป อธิบดีฯ คนปัจจุบันเข้ามาและนำไปสู่แนวคิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทางสู่เป้าหมายแบบไม่ยึดโยงกับอดีต  เจตนารมณ์  นโยบาย ทั้งของกรมพินิจฯ และ ก.พ.ร. ก็หลุดออกมาเหมือนหนังคนละม้วนดังที่เป็นข่าว กว่า 20 ปี ของการทำงาน การใช้นวัตกรรมลดการทำผิดซ้ำของเยาวชนที่ก้าวพลาดและเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในชื่อกลุ่มผู้ถูกเจียระไนหรือผู้รอดการเปลี่ยนเส้นทางสู่เป้าหมายร่วมของอธิบดีฯ เสมือนไม่รับรู้  ไม่ยอมรับการมีอยู่ของเป้าหมายร่วม ไม่มีการขยายผลทั้งที่เป็นพันธกิจขององค์กร ของรัฐบาล  เพราะฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลโดยการนำของพรรคการเมืองใด ถือได้ว่านี่คือวิสัยทัศน์ที่สอบตกของผู้รับผิดชอบเชิงนโยบาย ซึ่งกระทบต่อประชาชนผู้มีส่วนร่วมได้เสียอย่างมิอาจปฏิเสธได้”

นายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ นักวิจัยและผู้บริหารไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น ไทยแลนด์ กลาวว่า ข้อมูลจากการวิจัยประเมินผลเพื่อแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Based Evaluation) ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนผู้เคยกระทำความผิด ที่ผ่านกระบวนการ “วิชาชีวิต” ของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก พ.ศ. 2561

โดยไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) พบว่ากระบวนการทำงานของบ้านกาญจนาฯ ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมอยู่ใน “ขั้นสิ้นสุด” ตามแนวคิดขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Transtheoretical model : TTM) ซึ่งสอดคล้องกับสถิติเด็กที่ผ่านกระบวนการของบ้านกาญจนาภิเษกมีแนวโน้มในการกระทำความผิดซ้ำน้อยกว่า 6% ดังนั้นจึงชัดเจนว่าเป็นกระบวนการที่ช่วยปกป้องสังคมและส่งคืนพลเมืองเข้มแข็งกลับคืนสู่สังคมได้จริง

ทั้งนี้ ปัจจัย 4 ประการของความสำเร็จเหล่านี้คือ

1. ผู้อำนวยการฯ การมีผู้อำนวยการที่มีความเข้าใจในการพัฒนามนุษย์ด้วยกระบวนการฟื้นฟู มีทักษะการพัฒนานวัตกรรม และมีบุคลิกที่ไว้วางใจได้

2. รูปแบบกระบวนการ การมีกระบวนการวิชาชีวิตที่สามารถทำสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม และส่งเสริมสุขภาวะเด็ก และเยาวชนได้ โดยเฉพาะด้านกระบวนการรู้คิด ซึ่งเยาวชนที่ผ่านกระบวนการตอบสนองต่อการอธิบายที่เป็นเหตุผล และการควบคุมตนเองในการแสดงออกเชิงพฤติกรรมมีสูงขึ้น มองเห็นเหตุปัจจัยทางสังคมที่เกาะเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง รวมไปถึงการปรับทัศนะที่มีต่อการกระทำของครอบครัว ที่มีต่อตนเอง

3.สภาวะแวดล้อม ด้วยหลักคิดควบคู่กับหลักปฏิบัติของบ้านกาญจนาภิเษก ที่มุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้เยาวชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ นำสู่กำหนดกติกาหรือข้อตกลงในการใช้ชีวิตร่วมกัน บนฐานความเชื่อว่าวัยรุ่นไม่ปฏิเสธเนื้อหาสาระที่ผู้ใหญ่หยิบยื่นให้แต่พวกเขาต้องการ

และ 4. ปัจจัยเชิงโครงสร้าง และการสนับสนุน การทำกระบวนการภายในบ้านกาญจนาภิเษก ทั้งการสนับสนุนปกติจากกรมพินิจฯ การใช้งบประมาณจากมูลนิธิชนะใจเพื่อมาใช้ทำงานในกิจกรรมสำคัญแต่ไม่สามารถเบิกจ่ายตามระบบได้ ทำให้การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการหลายกิจกรรมสามารถทำได้ด้วยความราบรื่น

“ทั้ง 4 ปัจจัยข้างต้นนี้ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ภายใต้ระบบ ระเบียบราชการแบบปกติ ที่มีความแข็งตัว และไม่สอดคล้องกับปัจจัยข้างต้น ดังนั้นการขยายผลการทำงานของบ้านกาญจนาภิเษกหลังจากนี้จำเป็นต้องออกแบบโครงสร้างทางกฎหมายมารองรับการทำงานที่ได้ผลและสอดคล้องกับปัจจัยข้างต้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำงานระยะยาว รวมไปถึงการต่อยอดนวัตกรรม หลักคิดสู่บริบทของบ้านหลังคำพิพากษา และพื้นที่ต้นน้ำอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายอรุณฉัตร กล่าว

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ด้วยงานวิจัยจะเห็นว่างานสร้างมนุษย์เป็นการสร้างคุณูปการแก่ประเทศไทย เพราะการที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งสามารถกลับมาเห็นคุณค่าของตัวเอง เขาก็จะเห็นคุณค่าของตัวเองต่อครอบครัวและสังคม และประเทศที่เขาอยู่

น้องๆที่ทำความผิดไม่ว่าจะผ่านอะไรมาแต่ก็ยังเชื่อมั่นว่าคนเหล่านั้นยังมีคุณค่าที่จะพัฒนาตัวเองต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่จะนำไปพัฒนาประเทศในอนาคต และสิ่งที่นางทิชาทำไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงคน แต่เปลี่ยนความเชื่อ วิธีคิดของคนว่ามนุษย์สามารถผิดพลาดได้ แต่ก็สามารถเติบโตได้ ด้วยการให้ความสำคัญกับด้านบวกในจิตใจ

ส่วนตัวเคยฟังนางพิชาพูดถึงการทำงานของเด็ก ก็ทำให้เปลี่ยนแนวคิดจากที่เคยมองเด็กที่ทำผิดว่าเหตุใดจึงทำเช่นนั้น แต่หลังจากนั้นก็เปลี่ยนความคิดว่าเด็กไม่ได้อยากจะทำผิด แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ให้ทำเป็นเช่นนั้น ทำให้เราเห็นว่ามนุษย์คนหนึ่งมีทั้งด้านดี ด้านมืดและด้านสว่าง เมื่อไหร่ที่เราเชื่อมั่นว่ามนุษย์ได้รับการพัฒนาด้านสว่างแล้วก็จะเจอคำตอบ

ผศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า หลังฟังแล้วตนจึงหาทางเข้าไปในบ้านกาญจนาภิเษก และได้คุยกับเด็กที่กระทำผิดซ้ำหลายครั้ง จากเดิมที่มีความคิดเกี่ยวกับคนกระทำผิดอีกรูปแบบหนึ่ง กลับมีความรู้สึกเหมือนได้คุยกับประธานนักเรียนคนหนึ่งมีการมองอะไรได้ดี ฉลาด และพูดได้ดี แต่กว่าจากที่เราจะเห็นเขาในรูปแบบนี้ แปลว่า เขาผ่านกระบวนการความเชื่อมั่นว่ามนุษย์มีด้านที่เติบโตได้ในจิตใจ ที่ต้องอาศัยพลังงานในการทำตรงนี้มาก ขณะที่นางทิชาเหมือนคนนั่งรดน้ำพรวนดินต้นไม้ที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะงอกขึ้นมาได้หรือไม่ แต่นางทิชากลับเชื่อว่านี่คือต้นไม้ใหญ่ที่สามารถเติบโตและเป็นที่พักพิงให้กับผู้อื่นได้ ซึ่งต้องอาศัยพลังและคุณค่า

ผศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ตนส่งนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน เข้าไปศึกษาดูงานที่บ้านกาญจนาฯ ทุกปี นักศึกษากลับมา ยืนยันว่าเป็นสถานที่ที่สามารถเปลี่ยนแนวคิด มุมมองที่มีต่อเด็กและวัยรุ่นที่กระทำผิด ดังนั้นเรา เชื่อว่านี่เป็นกระบวนการที่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงเด็กที่ก้าวพลาด แต่เป็นกระบวนการในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เข้าใจว่าเราต่างคนต่างมีหลายด้าน

การที่เด็กคนหนึ่งมีปัญหาอะไรก็อยู่ที่สภาพแวดล้อมด้วย และล่าสุดพาลูกสาวไปในงานวันสัติภาพที่มีการขอขมาเหยื่อ ลูกถามว่าทำไมคุกไม่มีรั้ว ซึ่งเรายังไม่ทันตอบเนื่องจากต้องทำกิจกรรมต่อเนื่อง แต่หลังออกจากการทำกิจกรรม ลูกก็ตอบว่ารู้แล้วว่าทำไมถึงไม่มีรั้ว เพราะเด็กๆ มีความเชื่อมั่นต่อนางทิชา และตัวเอง ขนาดเด็ก 10 ขวบยังรู้ ดังนั้นสิ่งที่นางทิชาทำอยู่เป็นการสร้างจิตวิญญาณ ของเด็กๆ และสร้างจิตวิญญาณของคนที่ทำงานกับเด็กทุกๆ คน

“ได้ยินข่าวว่าป้าต้องถูกประเมินว่าจะได้ไป ต่อหรือไม่ คิดว่าคงไม่ใช่แค่ป้า แต่ระดับอธิบดี รัฐมนตรีก็ต้องถูกประเมินเช่นเดียวกัน เพราะมีสถานที่แห่งนี้อยู่ในประเทศไทย มาเป็น 20 ปีแล้วทำไมถึงยังไม่งอกเงย สิ่งเหล่านี้ไปที่อื่นๆ ทั้งๆ ที่ตัวเลขงานวิจัยก็ชี้ชัด ตัวเลขผู้ทำความผิด ซ้ำจาก 50% ก็ลดลงมาเหลือไม่ถึง 5-6% ทำไมสิ่งเหล่านี้ถึงไม่ถูกขยายต่อ ดังนั้นก็อาจจะต้องประเมินอธิบดีและรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน หมอไม่ได้ห่วงป้า เพราะคิดว่าอายุ 70 กว่าแล้วควรได้พักผ่อน เราเห็นความเหนื่อยยาก แต่เรารู้ว่าป้าทำเพราะอะไร ซึ่งไม่ได้อะไรจากตรงนี้ แต่มันตอบโจทย์อะไรบางอย่างในใจของป้า ซึ่งเชื่อว่าสิ่งนั้น มีคุณค่ามากกว่าความสบายที่จะได้รับจากการได้พัก เสียงของเด็กๆ เป็นพลังชีวิตให้ป้า เอาจริงๆ อยากให้ป้าได้พัก แต่คิดว่าบ้านกาญจนาต้องได้ไปต่อ ไม่ว่าป้าจะอยู่หรือไม่อยู่ แต่หลักคิดตรงนี้ต้องอยู่ อยากบอกว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ป้าทิชารู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ต้องมีใครมาบอกว่าได้สร้าง คุณูปการอย่างไร แค่สบตาเด็กๆในที่นี้ก็รู้ คำตอบอยู่แล้ว”ผศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *