มท.จัดงาน “Silk Festival 2024 ยกระดับผ้าไทยสู่สากล

กระทรวงมหาดไทย จัดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”ชวนคนไทยร่วมส่งเสริมภูมิปัญญาผ้าไทยไปสู่สากล

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน แถลงข่าวการจัดงาน “Silk Festival 2024
สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ภายใต้แนวคิด Silk Success Sustainability ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย เพื่อยกระดับสู่สากล และพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567

และเพื่อสร้างการรับรู้การพัฒนาผลงานผ้าไทยสู่สากล ตลอดจนเผยแพร่ความสำเร็จของโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงส่งเสริมและพัฒนาภูมิปัญญาผ้าไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ที่กำลังจะสูญหายให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง นำมาซึ่งการสร้างงาน สร้างรายได้ อย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการผ้าไทยในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 

โดยงานแถลงข่าวการจัดงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นในวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้อง The Pavilion ชั้น 5 โรงแรม โรสวูด กรุงเทพ ได้รับเกียรติจาก นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการแถลงข่าว ร่วมด้วย นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี ที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และบรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก ประเทศไทย และ นายธนันท์รัฐ ธนเสฎฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก 

ภายในงาน “Silk Festival 2024 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ประจำปี 2567 นี้ ได้มีการตกแต่ง บรรยากาศให้งดงามตระการตาเป็นพิเศษ ด้วยเครื่องแขวนหัตถศิลป์ไทย เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมอบความรักและความห่วงใย ต่อความเป็นอยู่ของพสกนิกรทั่วประเทศ โดยมีแรงบันดาลใจจากพระเมตตา อันเปี่ยมล้นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่มีอย่างไม่สิ้นสุด 

โดยในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา รวมถึงนิทรรศการโครงการตามแนวพระดำริฯ “แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” เช่น โครงการชาติพันธุ์โมเดล, โครงการยกระดับและพัฒนาวิชชาลัยชุมชนฯ เพื่อการสร้างสรรค์งานผ้า งานคราฟท์ และงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ไทย, โครงการจักสาน, โครงการ Premium OTOP และโครงการ Young OTOP, New Gen, Young Designer เป็นต้น

และนอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการสาธิตภูมิปัญญาผ้าไทย เช่น การสาธิตการสาวไหม และการสาธิตการปักผ้า จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ การสาธิตดุนทองจากสถาบันสิริกิตติ์ และการสาธิตการทำบาติกจากกลุ่ม ME-D NATHAP เป็นต้น 

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จะเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน และพระราชทานเหรียญรางวัล และโล่รางวัลพระราชทานให้แก่ คณะทำงานกระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชนและดีไซเนอร์ ที่สนองพระเดชพระคุณ ผ่านโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ประจำปี พ.ศ. 2567, ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” และงานหัตถกรรม ระดับประเทศ, รางวัลต้นกล้านารีรัตน ตามโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล, ผู้ชนะการประกวดนักออกแบบผ้าไทยใส่ให้สนุกรุ่นใหม่ (New Gen Young Designer 2024) และประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองสมรรถนะ ระดับ 6 สาขาวิชาชีพอนุรักษ์งานศิลป์หัตถกรรม และงานพื้นบ้าน และสาขาผ้าเขียน – พิมพ์ลาย ของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ในวันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6 – 7 เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

อีกหนึ่งไฮไลต์ของงาน Silk Festival ในปีนี้คือแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไทยจาก 16 แบรนด์ไทยดีไซเนอร์ชั้นนำที่นำผืนผ้าไทยมารังสรรค์เป็นเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ได้แก่ SIRIVANNAVARI ผ้าไหมจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ, TIRAPAN ผ้าไหมมัดหมี่ จากไหมทองสุรนารี, THEATRE ผ้าไหมบาติกจาก ซาโลมาปาเต๊ะ, ASAVA ผ้าไหมขิดจากอุดรธานีและผ้าไหมออแกนซ่า, ISSUE ผ้าไหมบาติกจากรายาบาติก, WISHARAWISH ผ้าไหมมัดหมี่จากโครงการนาหว้าโมเดล, JANESUDA ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้างสรรค์, MILIN ผ้าชาวไทยภูเขา จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ, ARCHIVE026 ผ้าไทยทวีตและผ้าทอเส้นใยสร้างสรรค์, IRADA ผ้าไหมแต้มหมี่จากจังหวัดขอนแก่น, LANDMEE’ ผ้าไหมบาติกจากโครงการบาติกโมเดล, TandT ผ้าไหมบาติกจาก KAYA BATIK, VICKTEERUT ผ้าไหมยกดอกลำพูนจากเรวัตรไหมไทย,VATITITTHI ผ้าไหมยกดอกจากกลุ่มทอผ้าลายมงคล มนตราธิกาญจน์, PYVET ผ้าไหมมัดหมี่จาก โครงการนาหว้าโมเดล และดีไซเนอร์รุ่นใหม่ นายทวีศักดิ์ จัตุวัน นักออกแบบรุ่นใหม่ แบรนด์ CHAI GOLD LABEL T.Chattuwan Thaisilk กลุ่มผ้าไหมไทยทอมือที่มีเอกลักษณ์ คือ ลวดลาย ที่สร้างสรรค์ด้วยการต่อยอดเทคนิคมัดหมี่จากภูมิปัญญาดั้งเดิมของท้องถิ่นอีสานสู่รูปแบบสมัยใหม่

นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมการเปิดตัวสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย ซึ่งเป็นนักออกแบบที่มีบทบาทภารกิจในการสนับสนุนส่งเสริมในการ Coaching ผู้เข้าร่วมโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ของกรมการพัฒนาชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2563 – 2567 พร้อมการเสวนาถ่ายทอดองค์ความรู้การออกแบบแฟชั่นผ้าไทยสู่สากล โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นองค์ประธานการเสวนา ร่วมกับตัวแทนสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย ได้แก่ นายพลพัฒน์ อัศวะประภา นายกสมาคมนักออกแบบแฟชั่นไทย

นายฐากูร พานิชกุล  ดีไซเนอร์ไทยผู้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เจ้าของรางวัล Young Designer จาก CFDA (Council of Fashion Designers of America), นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่น และนางสาว
โสภาวดี เพชรชาติ Marketing Director  Club 21 (Thailand) Co., Ltd โดยกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6 – 7 เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ภายในงานยังได้มีการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP จากทั่วประเทศ จำนวน 200 ราย และอาหารชวนชิม กว่า 50 ร้านค้า เพื่อให้ประชาชนผู้เข้าชมงานได้ชม ช้อปสินค้า พร้อมทั้งจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการขายตลอดการจัดงาน ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคมนี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 6 – 7 เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *